Chevrolet-Ford ภารกิจเข็นรถกระบะขึ้นภูเขา

การใช้รถกระบะในบ้านเราเบี่ยงเบนจากจุดมุ่งหมายเดิมไปอย่างมาก จากที่กระบะถูกวางตำแหน่งให้เป็นรถเพื่อการใช้งานบรรทุกผลิตผลทางการเกษตร การขนส่ง มีความทนทาน และเหมาะสมกับสภาพถนนที่ไม่เรียบ

รถกระบะยุคหลังถูกใช้งานไปเพื่องานเดินทางไปทำงาน ไปท่องเที่ยวมากกว่าการบรรทุก ทำให้ตลดรถกระบะเติบโตแบบหยุดไม่อยู่ จนทุกวันนี้ตลาดรถกระบะของไทยใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริงกระบะขนาด 1 ตันไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว พร้อมๆ กับการเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่สำคัญของโลกไปในตัว

ตลาดที่เติบโต และขยายตัวแบบไม่มีท่าทีว่าจะลดน้อยลง แม้บางช่วงจะมีเรื่องปัจจัยราคาน้ำมัน สภาพเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่สามารถดับความร้อนแรงของตลาดระกระบะได้ พร้อมๆ กับการเข้ามาของผู้ผลิตรถรายใหญ่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งอเมริกา ที่พยายามแย่งตลาดและท้าทายเจ้าตลาดอยู่เสมอ แม้ว่าบางครั้งการท้าทายที่ส่งออกมาจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

ค่ายรถจากสหรัฐฯ กำลังเจาะตลาดกระบะไทยอีกครั้งด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบใหม่ๆ พร้อมๆ กันถึง 2 รายด้วยกัน คือค่ายจีเอ็ม เจ้าของแบรนด์เชฟโรเลต และค่ายฟอร์ด

เชฟโรเลต ยืมร่างคนอื่นแจ้งเกิด

ค่ายเจนเนอรัล มอเตอร์ หนึ่งในผู้ผลิตรถรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีแบรนด์ต่างๆ ในมือมากมาย ก็เป็นรายหนึ่งที่กำลังพยายามสร้างตลาดรถกระบะของตัวเองในเมืองไทยให้แข็งแกร่งด้วยการทำ Brand ตัวเองให้ชัดเจนขึ้น แข็งแรงขึ้น

การเข้ามาทำตลาดรถกระบะของค่าจีเอ็ม ถือว่าเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามทีเดียว เพราะก่อนที่บริษัทแม่จะเข้ามาอย่างเป็นทางการ ก็มีบริษัทพระนครยนตรการเป็นผู้ทำตลาดให้ แต่ครั้งนั้นใช้แบรนด์ โอเปิ้ล ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายสิบแบรนด์ของจีเอ็ม

โอเปิ้ล ทำตลาดรถกระบะด้วยการใช้รถกระบะของอีซูซุทั้งคัน เปลี่ยนแค่โลโก้แบรนด์ และชื่อรุ่นเท่านั้น โดยกระบะของOPEL ใช้ชื่อรุ่น CAMPO

อีซูซุก็เป็นหนึ่งบริษัทที่จีเอ็มเข้าไปถือหุ้นและเป็นเจ้าของ จึงเกิดการแลกเปลี่ยนรถกันขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปรกติในต่างประเทศ

โอเปิ้ล ที่อาศัยร่ายกายของอีซูซุแจ้งเกิด ก็ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ เพราะผู้บริโภคยังหันไปซื้อรถกระบะอีซูซุแท้ๆ มากกกว่า แม้ว่าหน้าตา เครื่องยนต์ จะเป็นฝาแฝดกันก็ตาม เพราะอย่างน้อยก็มีศูนย์บริการที่ครอบคลุมกว่า ขับไปไม่ต้องตอบคำถามว่ารถยี่ห้ออะไร หน้าตาเหมือนอีซูซุ

สิ่งที่ทำให้กระบะโอเปิ้ลไม่เกิด มีสาเหตุมาจาก

  1. ราคา ไม่ได้แตกต่างจากอีซูซุ จนเป็นแรงจูงใจที่จะให้ผู้บริโภคมาซื้อไปใช้ทดแทน
  2. ศูนย์บริการที่กำหนดชัดเจนเลยว่า กระบะโอเปิ้ล ไม่สามารถเข้าศูนย์บริการของอีซูซุได้ และศูนย์ของพระนครยนตรการเองก็ยังไม่ครอบคลุม
  3. ความเป็นรองของแบรนด์โอเปิ้ล ที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภค แม้ว่าจะเป็นรถรุ่นเดียวกัน

สุดท้ายกระบะโอเปิ้ล ก็ปิดฉากลงในบ้านเรา แบบเศร้าๆ

บทเรียนนี้น่าจะทำให้ค่ายจีเอ็มรับรู้ว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในบ้านเราเป็นอย่างไร แต่เมื่อบริษัทแม่เข้ามาทำตลาดเองโดยตรง ก็ยังเดินตามเส้นทงเดิมอยู่

จีเอ็มตัดสินใช้แบรนด์ Chevrolet กลับมาทำตลาดเมืองไทย และเลือกทำตลาดรถกระบะด้วยรุ่น Colorado แม้จะเปลี่ยนแบรนด์ใหม่เข้ามา แต่แนวคิดก็ยังคงเดิมคือใช้รถอีซูซุในโครงสร้างหลักเช่นเครื่องยนต์ ช่วงล่าง แต่เปลี่ยนแปลงในรูปลักษณ์หน้าตา และองค์ประกอบภายนอกเท่านั้น

แต่ในความคิดของผู้ซื้อรถกระบะ นี่ก็คือรถกระบะอีซูซุอยู่เช่นเดิม แม้จะมีความแตกต่างในหลายส่วนก็ตาม

ในความที่เป็นคู่แฝดของอีซูซุ ก็อาจจะประเมินได้ว่า รถกระบะอีซูซุคือผู้ครองยอดขายอันดับหนึ่งมาตลอด การผิงหลังอีซูซุก็น่าจะทำให้โคโลราโดได้ผลดีบ้าง

กลุ่มผู้ซื้อกระบะเชฟโรเลตก็เลยทั้งที่ชื่นชอบแบรนด์เชฟโรเลต และผู้ที่ชื่นชอบอีซูซุ

ถ้าหันมามองยอดขายของกระบะเชฟโรเลต ก็ยังเป็นรองอยู่หลายช่วงตัว ทั้งนี้ไม่อาจโยนความผิดให้กับเชฟโรเลต เพียงแต่ว่าหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ในตลาดรถกระบะ แข็งแกร่งเกินไป ยอดขายของทั้ง 2 ราย มีส่วนส่วนมากกว่า 80% ของตลาดรถกระบะไปแล้ว

เริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วยเชฟวี่ขนานแท้

การพึ่งพารถกระบะอีซูซุมาต่อยอดแบรนด์ของตัวเองได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่ประสบความสำเร็จในบ้านเรา และยิ่งทำให้แบรนด์เชฟโรเลตในสายรถกระบะ ขาดความโดดเด่น และไม่สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้

หากเปรียบเทียบความแข็งแกร่งของแบรนด์เชฟโรเลต กับแบรนด์อีซูซุ ในตลาดโลก แน่นอนว่าเชฟโรเลตคือแบรนด์ที่ผู้ใช้รถรู้จักมากกว่า ยอมรับได้มากกว่า ในขณะที่อีซูซุขายกระบะได้มากที่สุดก็เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

แน่นอนว่าเชฟโรเลตไม่ต้องการพลาดการทำตลาดรถกระบะขนาดเล็ก เพราะนี่คือโอกาสในการสร้างตลาดและลูกค้าใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

ประธานกรรมการ ประจำประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มาร์ติน แอพเฟล บอกว่าตลาดรถกระบะในประเทศไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงเหมาะสมที่สุดในการเผยโฉมโคโลราโด้ รุ่นใหม่

การเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นการเปิดตัวรถต้นแบบที่จะนำมาพัฒนาขึ้นสายการผลิตในประเทศไทย และเป็นการเปิดตัวครั้งแรกพร้อมกันทั่วโลก จึงต้องมีการนัดหมายการเผยแพร่ข่าวของไทยในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ตรงกับเวลาในสหรัฐฯ

ต้องบอกว่าเป็นกระบะต้นแบบจริงๆ เพราะมีให้ดูเพียง 1 คัน และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของเครื่องยนต์ หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ให้ดูโครงสร้าง และการออกแบบในหัวเก๋ง

รายละเอียดของรถกระบะเชฟโรเลต โคโลราโด ต้นแบบคันนี้ บอกแค่ว่า มีตัวถังแบบเอ็กซ์เทนเดด-แค็บ หรือแบบ 2 ประตูพร้อมแค็บ และที่นั่งด้านหลังคนขับ ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ยกสูง ล้ออะลูมิเนียมขนาด 20 นิ้ว ยางแบบออฟโรด เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบขนาด 2.8 ลิตร

หน้าตาของโคโลราโดใหม่ ถือว่าเรียกร้องความสนใจจากผู้ใช้ได้มากทีเดียว เพราะเปลี่ยนโฉมไปทั้งคัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ซื้อเกิดคำถามตามมาก็คือ รถอีซูซุรุ่นใหม่ที่ต่อจากรุ่น Dmax จะหน้าตาและเครื่องยนต์แบบเดียวกันหรือไม่

ถ้าเหมือนกัน แล้วผลลัพธ์ที่ได้ของเชฟโรเลต จะบรรลุวัตถุประสงค์หรือ

แต่เมื่อดูจากสิ่งที่จีเอ็มกำลังพยายามสื่อออกไปถึงลูกค้าน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น ในการสร้างความแตกต่างระหว่างเชฟโรเลต และอีซูซุ

ในงานเปิดตัวที่หอประชุมกองทัพเรือ เชฟโรเลตจัดเป็นงานใหญ่ 2 งานรวมกันคือ เปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่ พร้อมกับเฉลิมฉลอง 100 ปีเชฟโรเลต ซึ่งงานนี้รถกระบะเชฟโรเลตรุ่นเก่า คลาสสิคคาร์ ถูกนำมาจัดแสดงเต็มลานหน้าหอประชุม

เชฟโรเลตกำลังสร้าง Brand Experience ให้กับผู้ใช้รถ โดยอาศัยตำนานความสำเร็จ ความแข็งแกร่ง และชื่อเสียงที่สะสมมายาวนาน รวมถึงทัศนคติของผู้ใช้รถด้วย

กระบะเชฟโรเลต รุ่นคลาสสิค เป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้ดีที่สุด ในการสร้างทัศรนคติเชิงบวก และเห็นความหมายของแบรนด์เชฟโรเลตมากยิ่งขึ้น เมื่อรวมกับรถรุ่นใหม่ที่จะส่งออกไปขายทั่วโลกในแบรนด์เดียวกัน ทำให้ความแข็งแรงของแบรนด์เชฟโรเลตดีขึ้น

สิ่งที่จีเอ็มต้องการก็คือ ซื้อรถกระบะเชฟโรเลต เพราะตัวของแบรนด์เอง ไม่ใช่ซื้อเพราะเป็นฝาแฝดกับอีซูซุ

การปรับภาพลักษณ์ที่เป็นเหมือนคู่เหมือนของอีซูซุ ทางซูซาน โดเชอร์ตี้ รองประธานกรรมการฝ่ายการขาย การตลาด และบริการหลังการขาย เจนเนอรัล มอเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ บอกว่า รถกระบะได้อยู่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์อันยาวนานของเชฟโรเลตมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี และโคโลราโด เจนเนอเรชั่นใหม่นี้จะตอกย้ำความสมบูรณ์แบบทั้งด้านการออกแบบ ความพิถีพิถัน และประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอน

ฟอร์ดใส่เทคโนโลยีชนคู่แข่ง

ค่ายรถจากสหรัฐฯ อีกรายหนึ่งที่เข้ามาทำตลาดรถกระบะยาวนานถึงกว่า 10 ปี ก็มีเส้นทางในการทำตลาดใกล้เคียงกับเชฟโรเลต

ฟอร์ดเข้ามาทำตลาดรถกระบะกับคู่แฝด มาสด้า ที่เข้ามาพร้อมๆ กัน และทั้ง 2 รายนี้เคยพึ่งพาเครื่องยนต์จากอีซูซุรุ่น ไดเรคอินเจคชั่น 2500 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สร้างชื่อให้กับ
อีซูซุ

ฟอร์ดรุ่นมาราธอน ใช้เครื่องยนต์ของอีซูซุหลายปี จนมาถึงรุ่นไฟท์เตอร์จึงค่อยปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ของตัวเอง แน่นอนว่าในขณะที่ฟอร์ดขายรถกระบะฟอร์ดเครื่องยนต์อีซูซุ จุดขายที่เชลส์บอกกับลูกค้าก็คือ เครื่องยนต์ตัวเดียวกับอีซูซุ ที่ขายได้รับความนิยมสูงสุด

หากว่ากันตรงไปตรงมา เครื่องยนต์ของอีซูซุก็ทำให้รถกระบะฟอร์ดได้รับความสนใจจากลูกค้าไม่น้อยเช่นกัน แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า คนที่ซื้อเพราะชอบแบรนด์ฟอร์ดก็มีเช่นกัน

การปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ของตัวเอง และมีคู่แฝดอย่างมาสด้า ก็ยังไม่ได้ทำให้ยอดขายรถกระบะฟอร์ดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเท่าไหร่

ฟอร์ดตกอยู่ภายในสถานการณ์เดียวกับเชฟโรเลต คือ คู่แข่งในตลาดเข้มแข็งมากเกินไป การเสาะหาช่องว่างเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ต้องออกแรงมากกว่าปรกติ แม้ว่าฟอร์ดจะมีเทคโนโลยีทันสมัยใหม่ๆ ที่ใส่เข้าไปในตัวรถ

เรนเจอร์ กระบะรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันคือการทดลองการตอบโจทย์ใหม่ๆ ของการตลาดรถกระบะในเมืองไทย ว่าจะสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากรายใหญ่ได้อย่างไร

โจ ฮินริคส์ ประธานฟอร์ด ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา บอกว่า เรนเจอร์ใหม่นี้เป็นผลงานตามแนวคิด “One Ford” เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ระดับโลก โดยได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในเรื่องความสามารถ ความแข็งแกร่ง ดีไซน์ เทคโนโลยี และประหยัดพลังงาน

เรนเจอร์ใช้เครื่องยนต์ใหม่ 3 รุ่น คือเครื่องยนต์ดีเซล ฟอร์ด ดูราทอร์ค ทีดีซีไอ I4 ขนาด 2.2 ลิตรใหม่ เครื่องยนต์ดีเซล ฟอร์ด ดูราทอร์ค ทีดีซีไอ I5 ขนาด 3.2 ลิตร และ เครื่องยนต์เบนซิน ฟอร์ด ดูราเทค I4 ขนาด 2.5 ลิตร มีระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด และระบบเกียร์ธรรมดา

เมื่อมอง Positioning ของเรนเจอร์ใหม่ในตลาด ฟอร์ดกำลังพยายามขยายกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยจับกลุ่มที่ต้องการความแรงในรุ่นเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร ประหยัดในรุ่น 2.2 ลิตร และรถพลังงานทางเลือกในเครื่องยนต์เบนซิน รวมถึงใส่ความสะดวกสบายตามกระแสนิยมด้วยเกียร์อัตโนมัติในรถกระบะ

เดิมฟอร์ดมีเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร และ 2.9 ลิตร ต่อมาลดลงมาเหลือ 2.5 ลิตร ไม่มีเครื่องเบนซิน แต่มาครั้งนี้จะเก็บให้ครบทุกตลาด

พฤติกรรมของผู้ใช้รถกระบะเปลี่ยนเป็นรถใช้ในเมือง ขับไปทำงาน ท่องเที่ยว จึงต้องการความสะดวกสบายเช่นเดียวกับรถยนต์นั่ง

เครก เมโทรส หัวหน้าทีมนักออกแบบของฟอร์ด ก็ยอมรับว่า จากการวิจัยและพัฒนาเพื่อออกแบบเรนเจอร์ใหม่ ต้องสร้างสมดุลระหว่างความบึกบึนของรถกระบะ กับดีไซน์ที่สวยงาม ซึ่งเป็นความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในไทยที่ไม่ได้ต้องการรถกระบะไว้ใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่ยังพาครอบครัวไปไหนต่อไหนได้ด้วย

ฟอร์ดลงทุนปรับเรื่องรูปร่างหน้าตา และความแรงของเครื่องยนต์ ที่ว่ากันว่าผู้ใช้รถกระบะในบ้านเรา ความแรงต้องมาก่อน ขอเครื่องใหญ่ แรงมีสูง เอาไว้อุ่นใจกว่า

ลูกค้าเก่า+เรียลลิตี้

สาโรจน์ เกียรติเฟื่องฟู รองประธานฝ่ายการตลาด ฝ่ายขายและบริการ บริษัทฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ฟอร์ดเรนเจอร์เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ 2541 จนถึงปัจจุบันขายไปแล้ว 180,000 คัน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของฟอร์ด และเป็นกลุ่มที่บริษัทตั้งเป้าไว้ในการขายด้วย

“เจ้าของรถกระบะเรนเจอร์ตั้งแต่ปี 2004 – 2007 เป็นกลุ่มที่เราคาดหวังมากที่สุด เพราะเป็นรอบของการเริ่มเปลี่ยนรถใหม่แล้ว และกลุ่มนี้มีอยู่ถึง 75,000 คัน”

สาโรจน์มองถึงโอกาสทางการตลาดจากกลุ่มลูกค้าเก่าที่ใช้อยู่แล้ว เพราะอย่างน้อยการออกแรงทำการตลาดก็ไม่ต้องรุนแรง หรือหนักหน่วงเหมือนกับลูกค้าใหม่ๆ แต่การหาลูกค้าใหม่ๆ ก็เป็นงานหนักที่ท้าทายฟอร์ดเช่นกัน

ด้วยความเป็นความแข็งแรงของแบลรนด์ฟอร์ดในเรื่องรถกระบะ เป็นรองทั้งโตโยต้า และอีซูซุ แต่ฟอร์ดก็เค้นจุดแข็งของตัวเองออกมา ด้วยสิ่งที่ฟอร์ดใช้มาตลอดก็คือ การให้ลูกค้าทุกรายได้ทดลองขับรถจริงว่ามีความรู้สึกอย่างไร เพื่อให้ได้เห็นความแตกต่าง

การใช้กลยุทธ์ทดลองขับทำให้เกิดการต่อยอดถึงกิจกรรม Ford Ranger Challenge เรียลลิตี้ของรถกระบะฟอร์ด เพื่อสร้างความาจดจำ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแรงขึ้น

กิจกรรมนี้ฟอร์ดกำหนดให้เป็นกิจกรรมทำทุกประเทศที่มีกระบะเรนเจอร์จำหน่าย โดยเริ่มที่ออสเตรเลีย ไทย และแอฟริกาใต้ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องได้รับการเสนอชื่อจากครอบครัว เพื่อนฝูงว่าเป็นคนที่มีชีวิตการทำงานที่หนัก และฟอร์ดเรนเจอร์จะเป็นเครื่องมือในการช่วยทำงานหนักเหล่านั้น โดยเปิดรับสมัครผ่านเว็บไซต์ของฟอร์ด และเฟซบุ๊กของฟอร์ดแต่ละประเทศ

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 5 คนในแต่ละประเทศจะได้ทดลองใช้รถกระบะเรนเจอร์เป็นเวลา 10 วัน และจะมีทีมงานตามเก็บภาพพร้อมกับรายงานการใช้งานจริงผ่านสื่อออนไลน์

ฟอร์ดกำลังสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่บนสื่อออนไลน์ เพราะฟอร์ดเชื่อว่าคนใช้รถกระบะส่วนใหญ่มีการติดต่อผ่านออนไลน์มากขึ้น แตกต่างจากผู้ใช้รถกระบะกลุ่มเดิม

เชฟโรเลต ฟอร์ด เปลี่ยนเพื่ออยู่รอด
ตลาดรถกระบะที่เชฟโรเลตและฟอร์ดกำลังพยายามแย่งส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด ดูแล้วเป็นงานที่หนักหนาทีเดียว

ยอดขายรถรถกระบะขนาด 1 ตันของโตโยต้าปี 2553 โตโยต้าทำยอดได้ 164,795 คัน ซึ่งเป็นยอดรวมของรถกระบะและรถดัดแปลง ยังไม่นับรวมอีซูซุที่ตามหลังมาไม่ห่างกันมาก

ยอดขายของทั้งสองรายเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของตลาดรถกระบะในบ้านเราไปแล้ว ขณะที่เชฟโรเลต และฟอร์ด มีส่วนแบ่งในตลาดรถกระบะประมาณรายละ 10% การไล่ตาม 2 รายใหญ่เป็นเรื่องทำยาก

แต่ทั้งเชฟโรเลต และฟอร์ด ต้องการก็คือ กลุ่มผู้ใช้รถที่ไม่ได้มีความภักดีต่อแบรนด์ใหญ่ และพร้อมที่จะเปลี่ยนมาใช้แบรนด์อื่นที่น่าสนใจ เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ซึ่งกลุ่มนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่การเข้าหาลูกค้ากลุ่มนี้ก็ต้องใช้เวลา

การที่ทั้ง 2 ค่ายเปิดตัวรถรุ่นใหม่ล่วงหน้าถึง 1 ปี ความหวังลึกๆ ของทั้งคู่ก็คือ การประวิงเวลาการตัดสินใจซื้อรถของผู้บริโภคในหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง เพื่อรอตัดสินใจว่า ขอดูรถรุ่นใหม่ก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ข้อเสียก็คือการรอนานก็อาจทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจได้เช่นกัน

อย่าลืมว่าทั้ง 2 รายไม่ใช่ผู้เล่นหลักในตลาดรถกระบะ การออกรถรุ่นใหม่ทั้งคัน ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะรอ หรือตัดสินใจซื้อ

ผู้ใช้รถกระบะในบ้านเรา ถึงจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ทัศนคติ การรับรู้ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่ 2 รายเจ้าตลาด แม้ว่าเมื่อมองลึกๆ แล้วความล้าสมัยของเทคโนโลยี ระบบต่างๆ จะเห็นกันได้ชัดก็ตาม แต่ความแข็งแกร่งและชื่อเสียงของแบรนด์ที่สร้างมาก็ยังอยู่ในความคิดของผู้บริโภคที่ยึดถือต่อกันมา

คนที่ซื้อเชฟโรเลต และฟอร์ด ก็จะยังได้รับคำถามจากคนรอบว่า

“ทำไมไม่ซื้อโตโยต้า หรืออีซูซุ ”

ยอดขายรถยนต์ทุกประเภท ในปี 2553
ยอดขายปี 2553 เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับปี 2552
รถยนต์รวมทุกประเภท 800,357 +45.8% 703,432
รถยนต์นั่ง 346,644 + 50.7% 188,211
รถเพื่อการพาณิชย์ 453,713 +42.3% 515,221
รถกระบะ 1 ตัน
(รวมรถกระบะดัดแปลง)
387,793 +40.6% 469,657
รถกระบะ 1 ตัน
(ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)
347,314 +40.1% 426,635
ที่มา : บ.โตโยต้า
ประมาณการยอดขายรถยนต์ ในปี 2554
การขายรวม 860,000 คัน + 7.4%
รถยนต์นั่ง 385,200 คัน + 11.1%
รถเพื่อการพาณิชย์ 474,800 คัน + 4.6%
รถกระบะ 1 ตัน
(รวมรถกระบะดัดแปลง)
414,000 คัน + 6.8%
รถกระบะ 1 ตัน
(ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)
375,000 คัน เพิ่มขึ้น 7.9%
ที่มา : บ.โตโยต้า