Speed war : Life on the go

ธุรกิจโทรศัพท์มือถือกำลังสตาร์ทแข่งกันรอบใหม่ และแรงพอที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตไปกับวงจร S Curve อีกครั้ง ด้วยจุดเปลี่ยนเทคโนโลยี 3G และ Wi-Fi ที่ทำให้โทรศัพท์ในมือเป็นมากกว่าเครื่องมือสื่อสาร แต่เป็นอุปกรณ์ความบันเทิง ช่วยทำงาน และเติมสีสันให้ไลฟ์สไตล์ การแข่งขันบนความเร็วนี้ เพิ่งคิกออฟจอง Positioning ในใจลูกค้า แม้กลยุทธ์จะไม่มีอะไรซับซ้อนมากกว่าไปกว่าคุณภาพตัวโปรดักต์ที่ ”ใครเร็วกว่าก็ชนะ” แต่เป็นกรณีที่น่าศึกษา เพราะอุตสาหกรรมนี้เกมกำลังเปลี่ยน และที่สำคัญการตลาดบนความเร็วกำลังใกล้เป็นจริงมากขึ้น

Truemove H เปลี่ยนเกม

หากวิเคราะห์ในส่วนของการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ 3 ราย คือเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ตลาดนี้เอไอเอสเป็นเบอร์ 1 มาโดยเบอร์รองทั้งสองไม่เคยชิงตำแหน่งในตลาดนี้ได้ ธุรกิจนี้เคยเติบโตเร็วในช่วง 5 ปีก่อน และกำลังชะลอตัวเพราะเกือบทุกคนในประเทศมีโทรศัพท์ในมือ การโทรคุยเริ่มอิ่มตัวนั่นหมายถึงรายได้ของทุกค่ายที่เคยเติบโตปีละ 20% เหลือเพียงโตอย่างมาก 5%

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมมือถือพยายามหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทรนด์ของผู้บริโภคต้องการใช้มือถือเพื่อสื่อสารข้อมูล ภาพ เสียง ใช้อินเทอร์เน็ตและเล่นโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ที่ใครๆ ในโลกก็ใช้กัน สมาร์ทโฟนที่เหมือนคอมพิวเตอร์ราคาเริ่มถูกลง 3G คือเครือข่ายที่ตอบโจทย์ให้สื่อสารผ่านมือถือได้เร็วขึ้น

การประมูลสร้างเครือข่าย 3G ล้มลงเมื่อปีที่แล้ว คือแรงผลักดันให้ทรูมูฟเร่งหาเครือข่าย 3G ที่มีอายุสัญญานานขึ้น หลังจากสร้างเครือข่ายทดลองไม่กี่จุดมานานเป็นปี แม้จะเป็นจุดขายแต่ก็แค่ทดลองซึ่งไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจ แล้ว Truemove H คือทางออก

Truemove H เป็นตัวเปลี่ยนเกม หลังจากทรูมูฟเทกโอเวอร์กิจการของ ”ฮัทช์” จนได้สิทธิแทน ”ฮัทช์” สร้างเครือข่าย 3G และทรูมูฟเปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก ”ฮัทช์” เป็น Truemove H ที่เปิดตัวแบรนด์ไปตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่ง ”ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ยังประกาศดังๆ ว่า ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้จะเร่งทำตลาดให้ Mass รับรู้และจดจำว่าค่ายทรูมูฟพร้อมให้บริการ 3G ก่อนใคร หลังจากที่ทรูมูฟให้บริการ 3G โดยสื่อสารกับลูกค้าได้แค่ว่าทดลองบริการมานาน

ความหมายภายใต้แบรนด์ของ ”Truemove H” นั้นสื่อถึง Highspeed ซึ่งมาจากการปรับปรุงเครือข่ายฮัทช์เดิมให้เข้าสู่ระบบ 3G ในระบบ High Speed Packet Access (HSPA) ภายใน 3 ปีด้วยมูลค่า 12,000 ล้านบาท เพื่อรองรับลูกค้าได้ 4 ล้านเลขหมาย

Positioningของ Truemove H เป็นแบรนด์ที่ให้บริการ Non-Voice โดยเฉพาะบริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ที่ Truemove H จะรองรับลูกค้าเดิมของทรูมูฟที่ทดลองใช้บริการ 3G มานาน นอกเหนือจากไอโฟนแล้ว ยังเตรียมขนทัพโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ แอร์การ์ด แท็บเล็ต และที่สำคัญไอแพด 2 ที่ทรูมูฟเล็งเป็นผู้แทนจำหน่ายอีกด้วย

การก้าวกระโดดของทรูมูฟ ด้วย Truemove H ทำให้ ”ศุภชัย” มั่นใจว่าแม้จะไม่ได้เป็นที่ 1 ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แต่สำหรับธุรกิจ Non-voice แล้วค่ายทรูมูฟจะเป็นที่ 1 แน่นอน แม้การวางเครือข่าย 3G ให้ได้ครอบคลุมทั่วประเทศยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปีก็ตาม

แต่เพราะโมเดลธุรกิจ Convergence ในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ทั้งหมด โดยเฉพาะเครือข่าย Wi-Fi ที่ทรูออนไลน์วางไว้ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้ลูกค้ามือถือที่ใช้ Non-voice ของทรูมูฟ มีทางเลือกทั้ง 3G และ WiFi เพราะอุปกรณ์สื่อสารปัจจุบันทั้งสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเกือบทั้งหมดต่างรองรับ Wi-Fi

ความได้เปรียบของเครือข่ายทรูมูฟยังพิสูจน์ให้เห็นหลายครั้งกับพันธมิตรอุปกรณ์ที่รองรับทั้ง Wi-Fi และ 3G ที่อยากผูกมิตรกับทรูมูฟ ตั้งแต่ไอโฟน จนมาถึงซัมซุงกาแล็กซี่แท็ปเวอร์ชั่น 2 ที่ซัมซุงจับทรูมูฟไว้แน่น จากรุ่นแรกที่สปริงบอร์ดให้ตลาดรู้จักผ่านเอไอเอสเมื่อปีที่แล้ว แม้เอไอเอสเป็นมิตรเก่า แต่ Wi-Fi และ 3G ที่ด้อยกว่าทรูมูฟ ธุรกิจนี้จึงไม่มีมิตรแบบผูกขาดตลอดกาล

3G แค่แบรนดิ้ง ใช้จริงต้อง Wi-Fi

ปัจจุบันเครือข่าย 3G ที่ทรูมูฟขยายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในรูปแบบทดลองบริการเป็นแรงกระเพื่อมระดับหนึ่ง จากกลุ่ม Geek และTrend Setter ไปอยู่กัน แม้จะไม่เสถียรและบางจุดสัญญาณหาย เพราะเครือข่ายยังไม่มาก แต่ก็ยังมีตัวสำรองที่เป็นพระเอกตัวจริงเวลานี้คือ ” Wi-Fi” ที่ลงทุนได้เร็วและใช้เงินทุนไม่สูงนักเพียงแค่ในหลักร้อยพันเมื่อเทียบกับ 3Gที่ใช้งบเป็นหมื่นล้าน

เอไอเอสประกาศสู้เกมนี้ชัด และชนกับทรูมูฟตรงๆ เมื่อเอไอเอสยังไม่มี 3G มากพอและโอกาสในขยายเครือข่าย 3G น้อยกว่าเพราะมีคลื่นอยู่น้อย เอไอเอสฝ่ากระแสหาความเร็วให้ลูกค้าเพิ่มจากเดิมมีเพียง GPRS EDGE+ ด้วยการจับมือกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ของค่ายจัสมิน ที่มี Wi-Fi อยู่ทั่วประเทศ การันตีความเร็วที่ 4 Mbps

แน่นอนว่าทรูมูฟไม่ยอมให้เอไอเอสได้คุยกับกลุ่มเป้าหมายฝ่ายเดียว จึงประกาศตามมาทันทีว่าความเร็วของทรูมูฟ Wi-Fi ได้เพิ่มเป็น 8 Mbps ศึกความเร็วบน Wi-Fi จึงแรงขึ้น

สำหรับค่ายดีแทคที่ยังไม่ชัดว่าจะเกาะไปกับ Wi-Fi ของ กสท โทรคมนาคม หรือลงทุน Wi-Fi เอง ในสนามที่ดีแทคแข็งแรงจึงเป็นยุทธศาสตร์สำหรับเวลานี้ คือการเน้นลูกค้าที่ยังคงพึงพอใจในความเร็วไม่ถึง 1 Mbps อย่างEDGE GPRS ที่ดีแทคเชื่อว่าตลาดนี้ยังมีอยู่

3G ที่ทุกค่ายพูดถึงและพยายามโปรโมตในเวลานี้ จึงใช้ได้ดีสำหรับการแบรนดิ้งให้ไม่ตกเทรนด์ ก่อนที่จะดุเดือดในช่วงปลายปีนี้ แต่สนามความเร็วที่แข่งกันอย่างเข้มข้นนาทีนี้คือ Wi-Fi

หาก Wi-Fi ของใครได้ใจลูกค้า ย่อมหมายถึงการได้ฐานลูกค้าที่พร้อมใช้ 3G ในอนาคตอย่างแน่นอน

3G เหมาะสำหรับใช้งานขณะเคลื่อนที่ เช่น เล่นอินเทอร์เน็ตขณะอยู่ในรถ
Wi-Fi สำหรับการนั่งอยู่นิ่งๆ ในงาน เช่น ในร้านกาแฟ ในบ้าน