Crowdfunding ไอเดีย+เงินทุน = ฝันที่เป็นจริง!

ฝรั่งและไทยคุ้นเคยรูปแบบธุรกิจที่เริ่มต้นด้วย “การระดมทุน (Crowdfuding)” ซึ่งมักจะนิยมในวงการที่ไม่แสวงหาผลกำไร และองค์กรศาสนา (ในรูปแบบของการบริจาคเงิน) และพรรคการเมือง (ระดมทุนสนับสนุนพรรคการเมือง) เช่น พรรคประชาธิปัตย์เคยขายโต๊ะจีน โต๊ะละ 2 ล้านบาท!

แต่สำหรับโลกไซเบอร์กว่า 95% ของ “คนดัง” และ “เว็บไซต์ดัง” ก็มีพื้นฐานมาจากการระดมทุนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ จ็อบส์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ซึ่งรูปแบบนี้ได้กลายเป็น “วัฒนธรรมการลงทุน” ของชาวตะวันตกที่มีมาช้านาน แต่ไม่เคยปรากฏในไทย…

โอกาสนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอโมเดลธุรกิจใหม่ในโลกออนไลน์ที่กำลังฮอตได้ที่อย่าง “เว็บไซต์ระดมทุนออนไลน์” ศูนย์กลางเพื่อให้คนมีไอเดีย ได้สานฝันของตัวเองได้จริงๆ

Kickstarter.com ตัวกลางผลักดันนวัตกรรมใหม่ให้สังคม

นอกเหนือจาก “ไอแพด”, “ฟลิปบอร์ด” (แอพฯ อ่านข่าวบนไอแพด), และ “สแควร์” (เครื่องรูดบัตรเครดิตด้วยไอโฟน) แล้ว “คิกสตาร์ทเตอร์ (Kickstarter)” ถือเป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ที่ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมแห่งปี ค.ศ. 2010 จากนิตยสาร TIME

คิกสตาร์ทเตอร์ คือ เว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คนที่ฝัน มีไฝ นำเสนอโปรเจกต์เจ๋งๆ และไม่เหมือนใครที่รุ่มร้อนอยู่ในใจของตัวเองมาแสนนาน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี อาทิ แกดเจ็ทเจ๋งๆ หรือ งานศิลป์ งานแฮนด์เมด งานเขียนสุดครีเอต ฯลฯ และนำมันมาโพสต์ลงเว็บไซต์ จากนั้นก็ระบุเงินทุนก้อนหนึ่งที่เพียงพอสำหรับโปรเจกต์นี้ หากผู้เข้าชมเว็บคนใดสนใจก็คลิกบริจาคเงินตั้งแต่ 30-3แสนบาท เพื่อแลกกับของรางวัลที่จะได้หากโครงการนี้สำเร็จจริงๆ

ดังนั้นอาจจะมององค์ประกอบของเว็บนี้ได้ว่าต้องอาศัย 3 องค์ประกอบหลักๆ คือ อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางของการประชาสัมพันธ์โครงการ และเป็นที่แลกเปลี่ยนความเห็น จากนั้นก็เพิ่มระบบ Micro payment สำหรับจ่ายเงินค่าสนับสนุนโครงการออนไลน์ (ที่เน้นเงินจำนวนน้อยๆ)

เจาะลึกระบบ Kickstarter

ตั้งแต่การเสนอโครงการจนได้เงินทุนตามเป้าหมาย มีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

1. สมัครสมาชิก เพื่อส่งรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ต้องเตรียมพร้อมภาพ และวิดีโอแนะนำตัวให้พร้อม
1.1 ผู้สมัครจะต้องระบุตัวเลขยอดเงินสนับสนุนที่ต้องการ (เปลี่ยนทีหลังไม่ได้)
1.2 ของรางวัลให้กับผู้บริจาคในจำนวนเงินแต่ละระดับ ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ เสื้อยืด สติ๊กเกอร์ ผลงาน+ลายเซ็น หรือผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบ-ผลิตมาจำกัด (Limited Editon)
2. ทางทีมงานเว็บ Kickstarter จะเป็นผู้พิจารณาโครงการก่อน ว่าต้องตรงตามเงื่อนไข เช่น เป็นนวัตกรรม ไม่ได้เป็นการหาผู้ร่วมทำธุรกิจ ไม่ใช่โครงการสมัครงาน เป็นต้น
3. โครงการที่ผ่านเข้ารอบจะมีโอกาสโชว์หน้าเว็บออนไลน์ได้สูงสุด 90 วัน
3.1 บนหน้าเว็บไซต์จะมีองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการนำเสนอโครงการ ได้แก่ หน้าเพจแสดงความคืบหน้าของโครงการในแต่ละสเต็ป (Updates) หน้าแสดงรายชื่อและใบหน้าผู้สนับสนุน (Backers) และหน้าแสดงความเห็นที่มีต่อโครงการ (Comments) ซึ่งจุดนี้จะทำให้นวัตกรรู้จุดแข็งและจุดอ่อน ทั้งยังได้ไอเดียใหม่ๆ ประกอบโครงการฟรีๆ อีกด้วย
3.2 เพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการ ในหน้าเว็บของแต่ละโครงการจะมีฟีเจอร์เพื่อให้คุณโปรโมตโครงการผ่านสื่อสังคม (Social Media) แบบฟรีๆ อาทิ RSS Feed, Widget
4. ผู้ที่สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในการให้ผู้สมัครมีทุนรอนในการเดินตามฝันได้สำเร็จ ก็สามารถเลือกแพ็กเกจที่อยากจะบริจาคเงินสนับสนุนได้ พร้อมอ่านของรางวัลที่ผู้สมัครจะให้กับเงินบริจาคแต่ละระดับ
5. หากโครงการใดมีผู้ร่วมสนับสนุนจนเงินครบตามเป้าที่ต้องการ ระบบของเว็บก็จะโอนเงินทุนให้ผู้สมัครทันที (โดยหัก 5% เข้าเว็บ Kickstarter และอีก 3-5% เป็นค่าธรรมเนียมโอนเงิน ซึ่งที่นี่ใช้ระบบของ Amazon Checkout) แต่ถ้าหากโครงการไม่ได้เงินตามเป้า ผู้ที่ร่วมสนับสนุนก็จะไม่โดนหักเงินใดๆ

Lunatik/TikTok กรณีศึกษาคลาสสิกพิชิตเงินทุนที่มากกว่าเป้าหมายถึง 62 เท่า!

Lunatik/TikTok หรือ โครงการผลิตสายนาฬิกาไอพอด นาโนดีไซน์หรู ที่เข้ามาระดมทุนผ่านเว็บ Kickstarter และได้รับเงินสนับสนุนสูงที่สุดจนเป็นตำนาน คือ 28 ล้านบาท! จากผู้ร่วมสนับสนุนทั่วโลกกว่า 13,000 คน (จากเป้าหมายเงินทุนที่วางไว้เพียง 450,000 บาท) เคล็ดลับก็มีไม่มาก นั่นก็คือ การทำของที่คนอยากได้ (โชว์วิดีโอและภาพกราฟฟิกสินค้าต้นแบบสวยๆ) ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับเงินสนับสนุนทุกระดับ และอัพเดตผลงานของตนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อได้รับเงินทุนแล้ว ทีมงานยังมีคลิปวิดีโอการเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าต้นแบบที่จีนให้ผู้สนับสนุนทราบเป็นความคืบหน้าอีกด้วย (ดูเว็บของโครงการนี้ได้ที่นี่ http://j.mp/99Fni5)

นอกจากนี้แล้ว กูรูยังมีเคล็ดลับที่น่าสนใจในการทำโครงการระดมทุนออนไลน์ให้สำเร็จ อาทิ ทำให้ผู้สนับสนุนเชื่อในตัวคุณ (Get Inspired), ทำโครงการเพื่อผลิตของจำนวนจำกัด, ให้ผลตอบแทนของเงินทุนแต่ละระดับมีมูลค่ามากกว่าเม็ดเงินที่ได้รับจริง (เพื่อให้ผู้สนับสนุนรู้สึกถึงความคุ้มค่า) และสุดท้าย คือ ทำสินค้า/บริการนั้นให้มีเรื่องราวจนเป็นตำนาน เช่น เห็นตั้งแต่ต้นแบบ > ส่งสู่สายการผลิต > ส่งสินค้าล็อตแรกถึงประตูบ้าน > รีวิวแบบแกะกล่องสินค้า (Unboxed) เป็นต้น

Kickstarter ได้รายได้จากอะไร?

ที่กล่าวรายละเอียดมาทั้งหมด คุณอาจจะทราบชัดเจนแล้วว่าทั้งผู้สมัคร และผู้สนับสนุนได้อะไร? แต่กลับกัน หากจะมาทำเว็บแบบ Kickstarter ล่ะจะได้อะไรบ้างนอกจากส่วนแบ่ง 5% ของเงินทุนในโครงการที่ระดมทุนสำเร็จ? คำตอบก็คือ ทำสิ่งที่คุณถนัดที่สุด นั่นก็คือ พัฒนาเว็บไซต์ โดยทาง Kickstarter ได้เปิดบริการให้ขององค์กรต่างๆ เข้ามาสร้างหน้าเว็บสำหรับระบบระดมทุนของตัวเอง (Curated Pages) ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องการแสดงมีค่าใช้จ่ายออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งก็ถือเป็นรายได้ทางตรงที่ทำรายได้แบบกินยาวได้ดีทีเดียว (ดูตัวอย่างหน้าเพจระดมทุนของนิตยสาร Good ได้ที่นี่ www.kickstarter.com/pages/good)

จีนหรือไทยใครจะโคลนนิ่ง Kickstarter ได้สำเร็จก่อนกัน?

ผู้เขียนได้ศึกษาแนวคิดธุรกิจระดมทุนออนไลน์จากทั้งไทยและจีน พบว่า สำหรับไทยเราเองได้มีการเริ่มโครงการประเภทนี้แล้ว นั่นคือ ฟีเจอร์ “เปิดหมวก” ในเว็บไซต์บล็อกแกงค์ (Bloggang) ของพันทิพ.คอม แต่จะอยู่ในรูปแบบการให้ทิปเพื่อแสดงกำลังใจแก่ผู้เขียนบล็อก หลังจากเปิดบริการเกือบ 1 ปีผู้ที่ได้ถอดเงินจำนวน 1,900 บาท (โดยไม่หักค่าธรรมเนียมเพราะเป็นรายแรก) ก็คือคุณ ratta ผู้เขียนบล็อกเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว และสำหรับเหตุผลของผู้บริจาค (ทราบจากการสัมภาษณ์คุณ ratta) คือ ผู้อ่านต้องการส่งกำลังใจให้ และเงินเหลือ!

ในไทย มี 2 อุปสรรคที่สำคัญที่สุดสำหรับการเติบโตของเว็บไซต์ประเภทนี้ก็คือ 1.ระบบการจ่ายเงินแบบ Micropayment ที่ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทั้งยังมีค่าธรรมเนียมที่สูง 2.การกังวลเรื่องการก็อปปี้ไอเดีย ซึ่งแนวคิดแบบนี้ไม่ได้เปลี่ยนได้ในวันเดียว

แต่สำหรับที่จีนการระดมทุนออนไลน์ดูเหมือนจะมีโอกาสอยู่มาก เพราะเป็นดินแดนแห่งพลวัตร และการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจ ทั้งระบบการจ่ายเงินออนไลน์ของ Alipay (บริการจ่ายเงินออนไลน์ด้วยการหักเงินผ่านบัญชีธนาคาร) ก็มีใช้กับอย่างแพร่หลายในยุคที่เถาเป่า.คอมบูมสุดขีด แต่กลับยังไม่มีการโคลนนิ่งเว็บไซต์ Kickstarter เลย! อย่างไรก็ดี ยังมีที่ใกล้เคียงที่สุด ก็คือ www.qifang.cn เป็นเว็บสำหรับกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในจีน ซึ่งก็ยังทำให้เห็นว่าการระดมทุนออนไลน์ในจีนยังติดอยู่ในโลกของ NGO

สุดท้าย สำหรับไทยเรา ผู้เขียนมองว่าผู้ที่เหมาะจะทำเว็บไซต์ประเภท Crowdfuding นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยเก่งๆ ได้แสดงออกถึงความสามารถที่ทำอะไรก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก เพื่อการกู้ศรัทธาให้คำขวัญที่ว่า “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” ให้เกิดเป็นจริงจนทุกคนต้องคลิก Like กันจ้าละหวั่น!

รวมลิสต์เว็บไซต์ระดมทุนออนไลน์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

Threadless.com เว็บประกวดลายเสื้อยืด และลายที่คนโหวตมากที่สุดจะได้รับการผลิตออกขายจริง นักออกแบบจะได้เงินทุนและใบประกาศนียบัตร 7 ปีให้หลังเปิดร้านขายเสื้อยืดของตัวเองในชิคาโก รวมเฉพาะลายเจ๋งๆ ให้เลือกจนตาลาย ทั้งเตรียมขยายสาขาต่อเนื่อง

indiegogo.com เว็บที่เปิดให้คนประเทศใดก็ได้มาเสนอโครงการของตัวเอง ปัจจุบันมีมากกว่า 15,000 โครงการ จากสมาชิกจาก 163 ประเทศทั่วโลก จุดเด่นคือ หักค่าบริการใช้เว็บที่ 4% และโอนเงินเข้ากับธนาคารไหนก็ได้ในโลก

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายเว็บ อาทิ www.rockethub.com, www.quirky.com, www.invested.in