‘ซินเน็ค’ จับ ‘NADZ’ – ‘NGIN’ 2 พันธมิตรใหม่ลุยตลาด ‘เกม’ ชิงส่วนแบ่ง 3 หมื่นล้าน

สุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาด ‘เกมมิ่ง’ ถือเป็นดาวรุ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงที่ COVID-19 ระบาดตลาดยิ่งเติบโตเนื่องจากคนมีเวลาว่างมากขึ้น ซินเน็ค (SYNEX) ดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอทีรายใหญ่ในไทยเองก็พยายามจะจับตลาดเกมมิ่งมากขึ้น โดยล่าสุดได้จับมือ NADZ-NGIN เพื่อเสริมแกร่งในตลาดเกม

ย้อนไปเมื่อปี 2020 ซินเน็คได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเกมมิ่งเกียร์ระดับโลกอย่างแบรนด์ Razer ส่งผลให้ครองมาร์เก็ตแชร์ในพอร์ตเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรวมกับเกมมิ่งเกียร์อันดับหนึ่งในประเทศไทย โดยมีแบรนด์ในมือกว่า 30 แบรนด์ ล่าสุด ได้ออกมาประกาศว่าได้จับมือกับ บริษัท เนคท์ เจเนอเรชั่น อินโนเวชั่น จำกัด (NGIN) ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายนำเข้าเกมคอนโซล และแผ่นเกมในไทย ซึ่งมีสินค้าเด่น ๆ อย่าง Nintendo Switch และ Play Station 5 (PS5)

นอกจากนี้ ซินเน็คยังได้จับมือกับ บริษัท แน๊ดซ์โปรเจค จำกัด (NADZ) ร้านจำหน่ายสินค้าในกลุ่มเกมคอนโซล และซอฟต์แวร์เกม เบื้องต้น ทาง NADZ จะเข้ามาเปิดช็อป NADZ by Synnex ภายในร้านค้าตัวแทนของซินเน็ค เริ่มจากในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และในต่างจังหวัดอีก 19 แห่ง

ปัจจุบัน ซินเน็คมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าไอทีกว่า 5,000 ช่องทาง และบริการหลังการขายสินค้าเกมมิ่งที่ครบวงจร ดังนั้น การจับมือกับทั้ง 2 บริษัทจะทำให้ซินเน็คขยายพอร์ตสู่ตลาดเกมคอนโซล และเข้าถึงเหล่าเกมเมอร์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะแผ่นเกม และเครื่องคอนโซล PlayStation 5

“สินค้าไอทีปรับไปที่เกมมากขึ้น เพราะคนไม่ได้แค่เรียนหรือทำงานออนไลน์ แต่หันมาเล่นเกมมากขึ้น และตอนนี้เกมขาเกมขาดตลาดมากสุด”

ทั้งนี้ ตลาดเกมของไทยมีมูลค่าราว 33,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 10-15% โดยแบ่งเป็นเกม Mobile 67%, PC 24% และ คอนโซล 9% ส่วนเฉพาะมูลค่าของ ฮาร์ดแวร์ คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดที่จะสร้างการเติบโตให้กับซินเน็ค

“ตลาดเกมดีตรงที่มีคนยอมจ่ายคล้ายกับ Apple แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่ขอแค่มีของคนก็ยอมจ่าย ซึ่งเราเห็นโอกาส เห็นการเติบโต และผู้เล่นในไทยแข็งแรงให้เราต่อยอดได้อย่างก้าวกระโดด”

สำหรับกลยุทธ์ในอนาคต ซินเน็คต้องการเป็นมากกว่าแค่ดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอที แต่เริ่มขยายให้ครอบคลุมอีโคซิสเต็มส์ เช่น เซอร์วิสที่จะมีบริการออนไซส์ เริ่มเข้าไปลงทุนในตลาดมือ 2 เพื่อทำให้บริษัทมีช่องทางมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำ House Brand เพื่อเพิ่มกำไรให้บริษัท และสิ่งที่ยังขาดคือ ซอฟต์แวร์เกม ที่ยังไม่ได้แตะ แต่สนใจทำในอนาคตเพื่อให้ครบวงจร

สำหรับการเติบโตในปี 63 คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 2 หลัก และในปีหน้าคาดว่าจะมีรายได้ 40,000 ล้านบาท โดยรายได้จากกลุ่มเกมมิ่งจะเติบโตได้ 2 หลัก จากที่ปัจจุบันสินค้าเกมมิ่งคิดเป็น 15% ของสัดส่วนรายได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาซัพพลายเชนยังคงส่งผลกระทบ อาจต้องรอดูสถานการณ์อีกที แต่มองว่าปีหน้าน่าจะดีขึ้น