อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร พุ่งเเตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี จากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น อุปสงค์ที่กำลังฟื้นตัว และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ผลักดันให้ราคาผู้บริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในเดือนธ.ค. 2021 อยู่ที่ระดับ 5.4% ต่อปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เเละสูงกว่าเดือนพ.ย.ที่ขยายตัว 5.1% นับเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่เดือนมี.ค. 1992
มีการประเมินว่าราคาน้ำมันและไฟฟ้า จะพุ่งขึ้นถึง 50% ในเดือนเม.ย.นี้ ส่วนราคาสินค้าทั่วไปในเดือนธ.ค. ก็ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่ารายรับ จนสร้างแรงกดดันต่อ ‘รายได้ครัวเรือน’ โดยราคาสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันปรับสูงขึ้นเร็วกว่าค่าจ้าง
อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นค่อนข้างกระจายตัว (broad based) ซึ่งทำให้ราคาอาหารและค่าอาหารในร้านอาหารแพงขึ้น รวมไปถึงค่าโรงแรม เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในครัวเรือน เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ
จากเเนวโน้ม ‘ค่าครองชีพ’ ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นไปได้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง โดยตลาดจะต้องจับตามองการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 3 ก.พ. ที่จะถึงนี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอังกฤษ เป็นธนาคารกลางรายใหญ่แห่งแรกที่เริ่มปรับขึ้นต้นทุนการกู้ยืม หลังจากรักษาระดับต่ำในช่วงวิกฤตโควิด-19
ขณะเดียวกัน ตำแหน่งงานว่างที่สูงเป็นประวัติการณ์และอัตราการจ้างงานก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดโรคระบาด เชื่อมโยงกับการใช้จ่ายของผู้บริโภค
“ไม่ใช่แค่ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ค่าแรงในการทำงานก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เเต่ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอาจไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการกลับสู่สภาวะปกติ” Paul Craig จาก Quilter Investors กล่าว
- นักเศรษฐศาสตร์มองปี 2022 ปัญหา ‘เงินเฟ้อ’ ยิ่งรุนแรงเนื่องจากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ
- ‘โอมิครอน-เงินเฟ้อ’ ปัจจัยเสี่ยงฉุดการฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง