‘LnwShop’ ขอสลัดภาพแพลตฟอร์มปั้น ‘เว็บขายของ’ สู่บริการ ‘ฟูลฟิลล์เมนท์’ เต็มตัว

อย่างที่รู้กันว่าตลาด ‘อีคอมเมิร์ซ’ นั้นเติบโตมาโดยตลอด และยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่การมาของ COVID-19 แต่ปฏิเสธช่องทางหลักในการช้อปปิ้งในทุกวันนี้ก็คือ อีมาร์เก็ตเพลส และโซเชียลมีเดีย ในขณะที่ เว็บไซต์ของตัวเอง อาจไม่ใช่ช่องทางที่ทุกคนต้องมี คำถามคือ ทำไม LnwShop (เทพช้อป) ถึงยังอยู่ได้ ซึ่ง ณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข LnwShop Co-Founder ได้ออกมาเล่าถึงสิ่งที่ทำให้ LnwShop ยังอยู่ในตลาดมาถึง 11 ปี

จากข้อมูลของ ไพรซ์ซ่า พบว่าในปี 2021 ช่องทางอีคอมเมิร์ซที่มีความนิยมสุดของผู้บริโภคไทย ได้แก่

  • อีมาร์เก็ตเพลส (32%)
  • โซเชียลมีเดีย (21%)
  • บริการสั่งอาหารออนไลน์/แอปพลิเคชันครบวงจร (13%)
  • เว็บไซต์แบรนด์ (12%)
  • เว็บไซต์ห้างสรรพสินค้า (12%)
  • ร้านค้าออนไลน์ขนาดเล็ก (12%)

แน่นอนว่าที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันไปเปิดร้านในอีมาร์เก็ตเพลสก็เพราะขายง่าย โดยแต่ละแพลตฟอร์มก็มีโปรโมชันกระตุ้นตลาดตลอด ส่วนโซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากอยู่แล้ว อีกทั้งยังตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าไทยที่ชอบ แชท คุยกับร้านเพื่อซื้อของ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีแพลตฟอร์มหรือช่องทางไหนจะดีที่สุด อย่างอีมาร์เก็ตเพลสในไทยไม่ได้มีรายเดียว ถ้าขายทุกแพลตฟอร์มก็ต้องบริหารจัดการเยอะ ขณะที่จำนวนร้านค้าที่ขายสินค้าเหมือน ๆ กันก็มีมหาศาล การที่จะให้ลูกค้ามาซื้อซ้ำร้านเดิมหรือจดจำชื่อแบรนด์บนอีมาร์เก็ตเพลสก็ยาก หรือการขายผ่านโซเชียลมีเดียแม้จะง่าย แต่ก็มีการปรับอัลกอริทึมใหม่ จนทำให้โพสต์ของร้านถูกลดการมองเห็นลงอย่างมาก

ส่วนข้อดีของการมี เว็บไซต์ ก็คือ ความน่าเชื่อถือ สามารถ แสดงตัวตนของแบรนด์ได้ชัดเจน สามารถ เก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อใช้ประโยชน์ ได้ง่ายกว่า แถมหน้าเว็บไซต์มีโอกาสคงอยู่ใน Google Search มากกว่าอีกด้วย ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าคนไทยชอบค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า

ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ออนไลน์ แต่เป็นบริการฟูลฟิลล์เมนท์

ในช่วงแรก LnwShop เป็นเหมือน Welove Shopping หรือ Talad.Com คือ เป็นแพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์ออนไลน์ให้ร้านค้าที่ต้องการขายของ แต่ตั้งแต่มีโซเชียลมีเดียมีอีมาร์เก็ตเพลสเข้ามา ทำให้ผู้ที่จะเริ่มต้นขายของก็จะเริ่มกับสิ่งที่คุ้นเคย ขณะที่มองว่าเว็บไซต์เป็นเรื่องยุ่งยาก ทำให้ตอนนี้ เว็บไซต์ไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่จะสร้าง

“ข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่เปิดเว็บไซต์ของตัวเองก็เพราะหน้าที่ของเว็บยังเป็นแบบ Passive หรือซื้อขายแบบต้อนรับ เช่นเดียวกับอีมาร์เก็ตเพลส แต่เพราะเขามีส่วนลดคนเลยเข้าเรื่อย ๆ ดังนั้น คนที่จะทำเว็บเองต้องมั่นใจว่ามีลูกค้า สามารถขายได้ด้วยตัวเอง”

 

ดังนั้น LnwShop ต้องการปรับภาพไม่ใช่แค่ เว็บไซต์ ที่แต่ต้องเป็นบริการ ฟูลฟิลล์เมนท์ หรือระบบการจัดการร้านค้าออนไลน์ครบวงจร โดยล่าสุด ได้เปิดตัว LnwShop Pro ซึ่ง LnwShop ได้เป็นพันธมิตรกับหลาย ๆ แพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee, JD Central, Facebook Shop Instagram Shopping และ Google Shopping ในการเชื่อมต่อกับหลังบ้านให้สามารถบริหารจัดการผ่านเว็บไซต์ได้ โดยที่ข้อมูลทุกช่องทางจะเชื่อมถึงกันหมด และอัพเดทถึงกันทุกช่องทางอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย, สต็อกสินค้า, การขนส่ง, การทำบัญชี และการชำระเงิน เป็นต้น

LnwShop Pro จะเหมาะกับร้านระดับองค์กรที่มียอดขายเยอะ มีหลากหลายช่องทาง เพราะนี่จะช่วยให้แบรนด์บริหารจัดการการขายได้ง่ายขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้ร้านค้า”

คู่แข่งเยอะ แต่อยู่ได้เพราะฟังเสียงลูกค้า

แน่นอนว่าการที่อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมาก เพราะทุกแบรนด์ปรับตัวจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ และสิ่งที่ตามมาก็คือ คู่แข่งจากต่างประเทศ อาทิ SHOPLINE ผู้ให้บริการแบบ Total Solution ทั้งการทำเว็บไซต์และการจัดการโซเชียลคอมเมิร์ซจากฮ่องกง หรือ GoDaddy ผู้ให้บริการเว็บไซต์จากอเมริกา

ซึ่งความน่ากลัวของคู่แข่งจากต่างประเทศคือ เงินทุน ในการทำตลาด แต่ LnwShop มองว่าจุดแข็งของแพลตฟอร์มคืคือความเป็นโลคอลแบรนด์ทำให้สามารถ เข้าใจความต้องการลูกค้าได้อย่างแท้จริง และสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด

เพิ่มลูกค้า 10,000 รายใน 3 ปี

ที่ผ่านมา LnwShop เห็นการเปลี่ยนแปลงแทบในตลาดแทบจะทุกไตรมาส โดยเฉพาะ พฤติกรรมผู้บริโภค และ การตลาด ที่เปลี่ยนไป แต่ที่ LnwShop ยังสามารถทำตลาดได้ตลอด 11 ปีเป็นเพราะมีความ ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจจนปัจจุบันไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการเว็บไซต์ แต่เป็น ระบบการจัดการร้านค้าออนไลน์ครบวงจร

“ที่ผ่านมาเราดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้เราเห็นปัญหาจริง ๆ ของเขา เราจึงรู้และเข้าใจว่าทิศทางของบริษัทต้องไปทางไหน และออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงใจจริง ๆ”

ปัจจุบัน LnwShop มีลูกค้ากว่า 850,000 ร้านค้า จากทุกภูมิภาค โดยภายใน 3 ปีจากนี้ LnwShop ตั้งเป้าที่จะเพิ่มลูกค้าเฉพาะส่วนของ LnwShop Pro ให้ได้ 10,000 ราย