เจาะอินไซต์ ‘ผู้บริโภคยุคดิจิทัล’ ชี้ ‘คูปองส่วนลด’ ตกลูกค้าง่ายกว่า ‘ส่งฟรี’

นีลเส็น ประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ Nielsen media talk ในหัวข้อ Digital Consumer: Insights, Trends and Challenges ซึ่งเปิดเผยข้อมูล 3 เทรนด์หลักของผู้บริโภคยุคดิจิทัลในประเทศไทยหลัง COVID-19 โดย รัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย

ส่วนลดจูงใจกว่าส่งฟรี

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดสุดของผู้บริโภคตลอดช่วง COVID-19 ที่ผ่านมาก็คือ การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ที่หันไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากการสำรวจของ Nielsen CMV พบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยปัจจุบัน ช้อปออนไลน์ และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 190% ที่น่าสนใจคือ เมื่อมีผู้ซื้อมากขึ้น ร้านคือก็เติบโต โดย ร้านค้าออนไลน์ เพิ่มขึ้น 44% โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ ๆ อย่างการเปิดตลาด ขายบัตร ชมคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่านกรุ๊ปต่าง ๆ เป็นต้น

คนกรุงมีอัตราช้อปออนไลน์ที่ 49% ส่วนหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด 39% และชนบท 31% และคนไทยกว่า 60% เลือกช้อปผ่าน E-marketplace รองลงมาคือ Social media (27%) และ แพลตฟอร์มของห้างและร้านค้า (13%) ขณะที่โปรโมชั่นที่ถูกใจขาช้อปออนไลน์มากที่สุด คือ คูปองส่วนลด ตามมาด้วยส่วน ลดค่าจัดส่ง และโปรโมชันประจำเดือน อย่าง 7.7, 8.8 เป็นต้น

สำหรับยอดการใช้จ่ายในการช้อปออนไลน์เฉลี่ยอยู่ที่ 500-1,000 บาท ความถี่เฉลี่ย 2-3 เดือนต่อครั้ง โดยการจ่ายเงินสดหรือเก็บเงินปลายทางมีสัดส่วนมากสุด อย่างไรก็ตาม การผ่านบัตรเครดิต เดบิต และโมบายแบงกิ้ง มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านสินค้าขายดี ได้แก่ สินค้าแฟชั่นเติบโตถึง 206% ตามด้วยของสด เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า และในช่วง COVID-19 ระบาด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าสุขภาพ เติบโตถึง 798% นอกจากนี้ บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ เติบโตก้าวกระโดดถึง 2,683%

โฆษณาถูกจุด ผลลัพธ์เกินคาด

ในส่วนของโฆษณาพบว่า มาร์เก็ตเพลสเจ้าใหญ่อย่าง Shopee, Lazada อัดงบอย่างหนักหน่วง โดย Lazada อัดงบโตขึ้น 36% โดยใช้งบผ่านทีวีเพิ่มขึ้น 72% สื่อดิจิทัล 28% ส่วน Shopee อัดงบเพิ่ม 158% ผ่านทีวี 38% สื่อดิจิทัล 42% และสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ 20%

ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า 38% ของคนไทยซื้อสินค้าทันทีหลังจากเห็นโฆษณาในอินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกันการโฆษณาผ่าน Influencer หรือเน็ตไอดอลก็มีการเติบโตขึ้น โดยคนไทย 14% จะซื้อสินค้าตามที่เน็ตไอดอลแนะนำหรือโฆษณา

ทั้งนี้ เว็บไซต์ของแบรนด์เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากที่สุด (33%) รองลงมาคือสื่อทีวี และการเป็นสปอนเซอร์ ในขณะที่ SMS หรือการโฆษณาผ่านข้อความมือถือ มีผู้บริโภคถึง 44% ที่ไม่เชื่อถือการโฆษณาจากช่องทางนี้ เนื่องจากผู้บริโภคกลัวข้อความสแปม หรือข้อความหลอกลวง

จากรายงานของ Trust in Advertising พบข้อมูลเพิ่มเติมว่าธีมของการโฆษณามีผลต่อผู้บริโภค โดยธีมที่ถูกใจคนไทยมากที่สุดคือ อิงชีวิตจริง (Real-life situations) โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลที่ถูกใจโฆษณาประเภทนี้เป็นพิเศษ ในขณะที่ธีมที่ขายความเซ็กซี่หรือล่อแหลมจะได้รับความนิยมน้อยในทุกกลุ่มวัย

คนไทยยังหวงข้อมูลส่วนตัว

ที่น่าสนใจคือ คนไทยให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ โดยผู้บริโภคเพียง 19% ที่เต็มใจให้ทุกแอป/เว็บไซต์ติดตามพฤติกรรมของตนเอง ขณะที่ 57% อนุญาตให้บางแอปติดตามได้บ้าง และ 20% ที่ไม่อนุญาตให้แอปหรือเว็บไซต์ติดตามหรือแทร็กพฤติกรรมเลย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งยินดีที่จะให้ข้อมูลแก่แบรนด์ ซึ่งหมายถึง Personalized Marketing ยังเป็นสิ่งที่สำคัญในปัจจุบัน ผู้บริโภคยังต้องการความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ อยากให้แบรนด์เอาใจ นักการตลาดต้องสามารถตอบสนองต่อข้อเสนอใหม่ ๆ ได้ ซึ่งความท้าทายของนักการตลาดในปัจจุบันคือการทำอย่างไรที่จะเข้าใจและรู้ใจผู้บริโภค ภายใต้เงื่อนไขที่ความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคต้องมาอันดับแรก