Chrome go mass เกมนี้ Google อยากค้นให้เจอ

ขณะที่กำลังดูละครเพลินๆ ชมข่าวสารบ้านเมืองและวาไรตี้บันเทิงทีวีซีที่คุ้นเคยอย่างแชมพูสระผม ครีมบำรุงผิว ผงซักฟอก ถูกเบรกด้วยอารมณ์ไอทีอย่าง Google Chrome อย่างไม่น่าเป็นไปได้ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็เป็นไปแล้ว เพราะ Google หวังว่าการบุกหนักครั้งนี้จะเข้าถึง Mass ให้ได้

ความมั่นใจของ Google ในการเดินเกมทุ่มงบกับทีวีซี มาจากตัวเลข 98.9% ของคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าหน้าเว็บ Google.co.th และมีประมาณ 14% ที่ใช้ Google Chrome เป็นเบราว์เซอร์ท่องอินเทอร์เน็ตเติบโตจากปีก่อนประมาณ 3 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า Google มีโอกาสโตได้แรงขึ้นอีก หากเร่งโปรโมต Chrome ให้รู้จักกว้างขวางมากขึ้นและสุดท้ายก็จะบรรลุเป้าหมายรายได้โฆษณาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ทันกับเทรนด์สมาร์ทโฟน ไปจนถึงโซเชี่ยลมีเดีย

ตัวเลขฮิตของ Google.co.th ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากอเมริกาที่ Google ลงทุนทุ่มงบสื่อสารโปรโมต Chrome อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนกับสื่อทีวีซี เจาะกลุ่มที่ใช้เบราว์เซอร์ที่คุ้นเคยอย่าง IE ของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 68.05 % และกลุ่มที่กำลังจะเข้ามาสู่โลกอินเทอร์เน็ต ไม่เว้นแม้แต่แม่บ้านยุคใหม่

“พรทิพย์ กองชุน” หัวหน้าฝ่ายการตลาดประเทศไทย Google เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า Google ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มให้รับรู้และเกิดประสบการณ์กับ Chrome ด้วยการส่งเรื่องราวมาแบ่งปัน ผ่านการเข้าเว็บไซต์และใช้แอพพลิเคชั่นในเบราว์เซอร์ ดึงด้วยทีวีซี 3 เรื่อง ออนแอร์ 1 เดือน

เรื่องแรก “จากใจพ่อ” พ่อเขียนอีเมลถึงลูกสาวตั้งแรกเกิด เป็นเรื่องที่นำมาจากทีวีซีต่างประเทศแต่มาปรับเนื้อหาและข้อความให้เข้ากับไทยเรื่อง “ทูตมวยไทย” และเรื่อง “น้องหมาเบนนี” เป็นคอนเซ็ปต์และผลิตเองในไทย โดยนำเสนอฟังก์ชันของ Chrome ที่นำไปสู่การเข้า Gmail Youtube Picasa และการแบ่งปันเรื่องราว

รายการทอล์กโชว์ วาไรตี้ บันเทิงอย่าง “เช้านี้ ดูวู้ดดี้” คือสื่อหนึ่งที่ Chrome ทุ่มให้เต็มๆ ทั้งทีวีซีและTie-in นอกจากนี้ยังมีแคมเปญต่อที่คนส่งเรื่องราวมาแล้วจะนำไปเล่าเรื่องในรายการต่างๆ เช่น วู้ดดี้ เกิดมาคุย ในคอนเซ็ปต์ คุณอาจเป็นแขกรับเชิญคนต่อไป หรือแม้แต่กับรายการ สุริวิภา และเจาะใจ

ดูเหมือนว่า Chrome กำลังพยายามทำให้คอนเซ็ปต์ฟรีเมียมของ Google ขยายตัวมากขึ้น หลังจากสำเร็จเป็นบริษัทที่ร่ำรวยจากการขายโฆษณาบนบริการค้นข้อมูลฟรีจนมีคนเข้า Google เป็นสื่อหลักและโฆษณายอมจ่าย Google go mass จึงต้องพร้อมเพราะผลิตภัณฑ์อีกหลากหลายกำลังตามมา โดยเฉพาะสินค้าที่กำลังเติบโตอย่างสมาร์ทโฟนกับ “แอนดรอยด์” อีกหนึ่งฟรีเมียมที่พร้อมเป็นสื่อโฆษณาในมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนแบ่งตลาดเว็บเบราว์เซอร์ (%)
ทั่วโลก
Browser พ.ค. 2010 พ.ค. 2011
IE 52.77 43.87
Firefox 31.64 29.29
Chrome 8.61 19.36
Safari 4.14 5.01
Opera 1.96 1.84
Other 0.88 0.63
ประเทศไทย
Browser พ.ค. 2010 พ.ค. 2011
IE 77.62 68.05
Firefox 16.40 15.56
Chrome 4.04 14.42
Safari 0.95 1.29
Opera 0.51 0.37
Other 0.48 0.31
ที่มา : Stat Counter Global stats