"ซัมซุง" ยิงกระหน่ำกวาดรากหญ้า

“ทนและถูก” เมสเสจล่าสุดที่ซัมซุงกำลังพยายามสื่อสาร ว่าด้วยซื้อมือถือจ่ายแบงก์พันยังได้ตังค์ทอน แถมยังใช้นานจนแก่ ตกพื้นก็ยังไม่พัง เป็นเนื้อหาในทีวีซีที่ “ซัมซุง” ยิงกระหน่ำตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2554 เพื่อลบจุดอ่อนที่ผู้บริโภคมองว่า “ซัมซุงไม่ทน” มาโดยตลอดและเพื่อให้ได้ยอดขายเพิ่ม “ซัมซุง” ได้ยิงทีวีซีอีกชุดหนึ่งโปรโมต “มือถือ FM” ที่หั่นราคาชนิดกระแทกตาอย่างแรง เพราะจ่ายไม่เกิน 600 บาทเท่านั้น

เป็นปฏิบัติการของซัมซุงในการกวาดกลุ่มลูกค้ารากหญ้า และกลุ่มที่อยากได้มือถือธรรมดาอีกเครื่องและยังไม่เคยใช้ซัมซุงมาก่อน งานนี้ถึงขั้นทุ่มเม็ดเงินซื้อสื่อหลายสิบล้านบาท เพื่อสื่อไปทั่วในช่วงไพรม์ไทม์ ละคร เกมโชว์ แม้ว่าราคาขายต่อเครื่องจะได้มาร์จิ้นกำไรต่ำก็ตาม เพราะยุทธศาสตร์คือถ้าได้ลูกค้าวันนี้ ก็คุ้มในวันหน้า ด้วยความเชื่อว่าเมื่อลูกค้าได้ลองใช้ซัมซุงแล้ว อนาคตเมื่อจะซื้อฟีเจอร์โฟน หรือสมาร์ทโฟน ก็ต้องนึกถึงซัมซุง

เป็นการเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมือถือราคาถูก หลังจากทุ่มสร้างโปรดักต์ในกลุ่มฟีเจอร์โฟน และสมาร์ทโฟน จนแบรนด์ดูดีทันสมัยและไฮเทคกว่าเดิม จนชื่อของ “ซัมซุง” กลายเป็นแบรนด์ที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ โดยเฉพาะจากโปรดักต์แชมเปี้ยนอย่างรุ่นกาแล็กซี่ S ในกลุ่มสมาร์ทโฟน และแคนดี้ในกลุ่มฟีเจอร์โฟน

“สิทธิโชค นพชินบุตร” ผู้จัดการตลาดอาวุโส ธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด บอกว่า ตลาดมือถือแยกเป็น 2 ตลาด คือตลาดเมืองและตลาด Mass ซึ่งกลุ่มเมือง สมาร์ทโฟนทำตลาดได้แข็งแรงแล้ว ส่วนตลาด Mass ซัมซุงต้องการกระตุ้นตลาดอีกระลอก

พูดเรื่องความทนทาน และราคาถูกแต่มีฟังก์ชันที่ลูกค้าทั่วไปนิยม คือ การฟังวิทยุ โดยตั้งเป้ายอดจำหน่ายไว้สูงในหลักแสน จึงทำราคาได้ถูกตามหลักดีมานด์ ซัพพลาย จากราคา วิธีการสื่อสารนั้น ทีวีซีได้เน้นคอนเซ็ปต์แนวขำๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสนใจมากขึ้น

สำหรับกลุ่มเป้าหมายมีทั้งกลุ่มที่ใช้มือถือเป็นเครื่องแรก หรือกลุ่ม New Entry และกลุ่มที่ต้องการอีกเครื่องหนึ่ง ซึ่งแนวโน้มของผู้บริโภคปัจจุบันจะถือโทรศัพท์ 2 เครื่อง คือนอกจากใช้สมาร์ทโฟนแล้ว ยังต้องการเครื่องที่ฟังก์ชันง่าย ๆ ราคาถูกสำหรับใช้โทรเพียงอย่างเดียว

ทั้งหมดนี้ตอกย้ำเป้าหมายของซัมซุงที่ต้องการเป็นเบอร์ 1 ในทุกเซ็กเมนต์ซึ่งงานนี้สรุปได้ว่า กระทบเต็มๆ กับเฮาส์แบรนด์และยังตามไล่จี้โนเกียอีกสนามหนึ่งด้วย

ส่วนแบ่งตลาดมือถือระดับราคาต่ำกว่า 1,000 บาท (ณ เดือน พ.ย. 2010)
โนเกีย 41.7%
ซัมซุง 22%
จีเนท 12%
แอลจี 11.8%
ไอ-โมบาย 8.3%
อื่นๆ 4.2
ที่มา : GFK
ตัวอย่างมือถือราคาต่ำกว่าพันที่มี FM
แบรนด์/รุ่น ราคา(บาท)
ไอ-โมบาย 1111 649
โนเกีย 1280 750
จีเนท 208 800
ซัมซุง FM 567 (ลดจาก 890)