ถ้าคุณต้องทำสิ่งซ้ำๆ ให้แต่ละครั้งมีความต่างเพื่อดึงกลุ่มเป้้าหมายให้อยู่กับคุณตลอดไป คำถามคือจะทำอย่างไร? นี่คือโจทย์ที่ “เรียลลิตี้โชว์ ทรู อคาเดมี แฟนเทเชีย” (ทรูเอเอฟ) เจอมาตลอดนับตั้งแต่ปีที่ 2 จนถึงปีนี้ปีที่ 8 ที่ทรูวิชั่นส์ต้องทุ่มอย่างหนักให้ปฏิบัติการล่าฝันครั้งนี้โดนใจผู้ชม จะได้ไม่ต้องออกมายืนปากเหว จบแค่ปีที่ 8 เท่านั้น
เอเอฟ 8 ที่ออนแอร์มาตั้งแต่ 26 มิถุนายน และคอนเสิร์ตแรกต้นเดือนกรกฎาคม จึงเห็นภาพของความพยายามใส่เครื่องปรุงใหม่ที่ “บอย อรรถพล ณ บางช้าง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายรายการทรูวิชั่นส์ เชื่อว่าจะทำให้รสชาติเข้มข้นกว่า และนำไปสู่ยุทธศาสตร์ของทรูวิชั่นส์ในการดึงฐานสมาชิกให้เพิ่มขึ้น
เริ่มจากจำนวนนักล่าฝันที่ลองมาแล้วหลากหลาย ทั้ง 12, 20 และ 100 คน ปีนี้เลือก 24 คน มีระดับมัธยม 9 คน และระดับปริญญาตรี 15 คน เฉลี่ยอายุโตขึ้น และในจำนวนนี้มี 9 คนส่งตรงจากสถาบันการศึกษาเพื่อเรียกอารมณ์สถาบันนิยม
จุดเปลี่ยนในการคัดเลือกปีที่ 8 นี้ คือการเน้นนักล่าฝันเสียงดีทั้งหมดจาก 7 ปีที่แล้วที่เน้นความหลากหลายของความสามารถและบุคลิกภาพที่ทำให้โชว์สนุก แต่เสียงดีได้อรรถรสในการฟัง ที่โมเดลนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสำเร็จมาแล้วกับเดอะสตาร์ เมื่อเสียงดีแล้วจึงทำให้ทรูวิชั่นส์ลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 10% สำหรับการใช้เทคนิคภาพ HD และระบบเสียง Dolby Digital 5.1
ในส่วนของเทรนเนอร์ มีศิลปินระดับเทพอย่าง “ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค” และ “ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน” ที่มีภาพของมืออาชีพระดับอินเตอร์ คอมเมนเตเตอร์อย่าง “ทาทา ยัง” นักร้องบุคลิกภาพแรงที่เมนต์ตรงๆ
การขยายเข้าสู่ผู้ชม Mass กว่าเดิม โดยนอกจากถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมงผ่านสมาชิกทรูวิชั่นส์ ดูฟรีจานแดงแล้วยังเพิ่มจานดำซีแบนด์ ที่ส่งต่อไปยังเคเบิลท้องถิ่นได้ ที่คาดว่าจะขยายฐานได้เพิ่มอีก 5 ล้านครัวเรือน เพื่อหวังผลในการขายโฆษณามากขึ้น และการจัดโชว์ให้เหมาะกับเวลาถ่ายทอดสดในโมเดิร์นไนน์ภายใน 2 ชั่วโมง (หักเวลาโฆษณา 20 นาที) ที่ผู้ชมได้ชมทั้งโชว์ของนักล่าฝันและฟังคอมเมนต์ครบ จากเดิมที่ถูกตัดออกบางส่วน
นอกเหนือจากนี้ยังพยายามใช้โซเชี่ยลมีเดีย โดยทีมของทรูวิชั่นส์ได้ติดต่อประสานงานกับแฟนคลับที่สร้างเฟซบุ๊กเพจให้เอเอฟแต่ละคนอย่างใกล้ชิดทั้งการแชร์ข้อมูลเอเอฟ และแจกบัตรคอนเสิร์ต เพื่อให้ได้แฟนคลับเหนียวแน่นกว่าเดิม
การพยายามเที่ยวล่าสุดนี้ อธิบายได้ว่ามาจากปัจจัยของกลุ่มเป้าหมายที่อารมณ์ของผู้ชมเดินทางมาถึงจุดที่ไม่เห็นความต่างของเอเอฟแต่ละปี ยิ่งนานยิ่งคาดหวัง ชินกับรูปแบบรายการ รู้ตอนเริ่มต้น และคาดเดาตอนจบได้ จนเอเอฟไม่ถูกทอล์ก แต่กรี๊ดในวงจำกัด ขณะเดียวกันมีคู่แข่งมากขึ้น แม้จะไม่เรียลลิตี้โชว์ แต่ก็เป็นตัวเปรียบเทียบให้เห็นว่าแบบไหนสนุก และแบบไหนไม่สนุก โดยเฉพาะรายการที่ใกล้เคียงและถูกนำมาพูดถึงบ่อยอย่าง “เดอะสตาร์”
หรือแม้แต่สปอนเซอร์เองก็ทยอยถอนตัวไป ตั้งแต่เคยมีเป๊ปซี่ แพนทีน ล่าสุดแม็คยีนส์ ที่ต่างมองว่า 10-12 ล้านบาทไม่คุ้ม จนเหลือผลิตภัณฑ์ในเครือซีพีเป็นหลัก และนอกเครืออย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา เมืองไทยประกันชีวิต
เรียกได้ว่าปีนี้เอเอฟ 8 ต้องยอมเปลี่ยนตัวเอง ก่อนที่เสียงกรี๊ดของผู้ชมจะเบาลงเรื่อยๆ
เอเอฟ 1-8 | ||
เอเอฟ | จำนวนคน/จุดเด่น | จำนวนโหวต(ล้าน) |
1 | 12 | 9 |
2 | 12 | 11.5 |
3 | 12 | 13 |
4 | 20 | 20 |
5 | 16 | 22 |
6 | 12/สีสันในบ้าน | 20 |
7 | 100/เน้นเด็กสีสัน | 14 |
8 | ในบ้าน 24/เน้นเสียงร้อง/ถ่ายทอดสดจาน C-band | – |