น้ำมันแพง พนักงานไม่พอ แต่ดีมานด์พุ่ง ทำให้ “ค่าตั๋วเครื่องบิน” แพงขึ้น 20-30%

Photo : Shutterstock
สายการบินต่างๆ กำลังพยายามกลับมาทำกำไรหลังวิกฤตโรคระบาดผ่านพ้น ขณะที่ดีมานด์การเดินทางพุ่งสูง ทั้งจากกลุ่ม ‘Revenge Travel’ และการเดินทางเพื่อธุรกิจ แต่น้ำมันที่ราคาพุ่งไม่แพ้กัน พร้อมด้วยปัญหาพนักงานไม่เพียงพอ ไฟลท์บินมีจำกัด ส่งผลให้ “ค่าตั๋วเครื่องบิน” แพงขึ้น 20-30% เทียบกับก่อน COVID-19

หลัง COVID-19 คลี่คลาย หลายประเทศเปิดพรมแดนการเดินทางอีกครั้ง ปัญหาต่อมาที่ทุกคนต่างพูดถึงคือ “ค่าตั๋วเครื่องบิน” ราคาสุดโหดในขณะนี้

ผู้บริโภคจำนวนมากกำลังหาตั๋วเครื่องบิน หลายคนวางแผนเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หรือที่เรียกกันว่า ‘Revenge Travel’ แม้ว่าค่าตั๋วจะพุ่งสูงในหลายๆ เส้นทาง แต่นักท่องเที่ยวก็ยังอยากไปเที่ยวเพื่อชดเชยหลายปีที่ไม่สามารถไปไหนได้เลย

ปัจจุบันค่าตั๋วไปกลับที่นั่งชั้นประหยัดของ Singapore Airlines เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี – สิงคโปร์ ต้องใช้วงเงินถึง 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 125,000 บาท) เทียบกับก่อนโรคระบาดที่มีราคาเพียง 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 50,000 บาท)

ขณะที่ค่าตั๋วไปกลับ ฮ่องกง-ลอนดอน โดยสายการบิน Cathay Pacific Airways ช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ พบว่าราคาไปถึง 42,051 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 185,000 บาท) หรือสูงขึ้นเกือบ 5 เท่าของราคาทั่วไปในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่ราคาตั๋วระหว่างนิวยอร์ก-ลอนดอน ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ขึ้นไปถึง 2,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 69,000 บาท)

Mastercard Economics Institute พบว่า ราคาตั๋วเครื่องบินไปหรือกลับจากสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 27% เมื่อเดือนเมษายน 2022 เทียบกับเดือนเมษายน 2019 ขณะที่ไฟลท์ไปหรือกลับออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้น 20% ราคาที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากรีบซื้อตั๋วล่วงหน้านานหลายเดือน เพราะกังวลเรื่องราคาตั๋วนาทีสุดท้าย

“ดีมานด์พุ่งทะยาน” เอ็ด บาสเตียน ซีอีโอ Delta Air Lines กล่าว และบอกด้วยว่า ฤดูร้อนนี้ราคาตั๋วเครื่องบินน่าจะสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดถึง 30% ซึ่งจะเกิดขึ้นกับการเดินทางทุกๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนหรือธุรกิจ

ราคาค่าตั๋วเครื่องบินที่พุ่งสูงเกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน และไม่ใช่ทุกเหตุผลที่สายการบินจะควบคุมได้

 

เครื่องบินลำใหญ่ยังไม่ถูกเรียกกลับมาใช้งาน

หลายสายการบินยังไม่นำเครื่องบินลำใหญ่กลับมาใช้งาน ซึ่งหมายถึงเครื่องบินอย่าง แอร์บัส A380 ซูเปอร์จัมโบ้ และโบอิ้ง 747-8 เพราะสายการบินยังต้องการใช้งานรุ่นที่ประหยัดน้ำมันมากกว่าอย่าง แอร์บัส A350 หรือ โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์

(Photo by Nicolas Economou/NurPhoto)

เมื่อประเทศใหญ่ในเอเชียอย่างประเทศจีนยังคงปิดพรมแดน ทำให้สายการบินยังไม่พร้อมจะนำเครื่องลำใหญ่มาใช้ รวมถึงการเปิดประเทศเต็มที่ของฝั่งเอเชียก็เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้การปรับฟลีทเครื่องบินให้เหมาะสมต้องใช้เวลา “ยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เราเพิ่งจะเข้าเดือนมิถุนายนเอง เรื่องนี้ไม่เหมือนกับแค่เปิดก๊อกน้ำหรอกนะ” สุภัส เมนอน ผู้อำนวยการทั่วไป สมาคมสายการบินแห่งเอเชียแปซิฟิก กล่าว

ไฟลท์บินก็น้อยลงตั้งแต่ช่วงเกิดโรคระบาด และหลายเที่ยวบินตรงที่เคยมีก็ยังไม่กลับมา เช่น British Airways ยังไม่กลับมาบินสู่ฮ่องกงเลยในตอนนี้

โดยรวมแล้ว เมื่อมีเที่ยวบินน้อยลง เครื่องบินน้อยและเล็กลง ทำให้มีจำนวนที่นั่งจำกัด เทียบกับดีมานด์ที่เติบโตเร็วกว่า ย่อมส่งผลให้ค่าตั๋วแพงขึ้น

 

น้ำมันแพง (มาก)

เมื่อรัสเซียบุกรุกดินแดนยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนน้ำมันขณะนี้คิดเป็นสัดส่วน 38% ของต้นทุนสายการบิน เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 27% เมื่อปี 2019 สำหรับสายการบินโลว์คอสต์ อาจจะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50%

นักลงทุนหลายสถาบันวิเคราะห์ว่า สายการบินฝั่งเอเชียจะได้รับผลกระทบสูงกว่าตะวันตก เพราะหลายสายไม่มีการเฮดจ์ราคาเชื้อเพลิงล่วงหน้า

 

พนักงานขาดแคลน

ทั้งนักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานภาคพื้น และอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการบิน ต่างก็สูญเสียตำแหน่งงานไปในช่วงโรคระบาด แต่เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว อุตสาหกรรมกลับพบว่าตนเองไม่สามารถจ้างงานพนักงานกลับมาได้เร็วพอที่จะรองรับ

Photo : Shutterstock

ยกตัวอย่างสนามบินชางงี สิงคโปร์ สนามบินที่มักจะได้รับการโหวตให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ประกาศรับสมัครงานพนักงานกว่า 6,600 คน เพราะพนักงานหลายคนที่ให้ออกไปแล้วในช่วง 2 ปีก่อนนี้ เข้าสมัครและทำงานอาชีพอื่นที่ผันผวนน้อยกว่าเรียบร้อยแล้วและไม่ต้องการจะกลับมาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้สนามบินชางงีต้องเสนอโบนัสพิเศษสำหรับคนที่สมัครเข้าทำงาน

ในสหรัฐฯ สถานการณ์สายการบินระดับภูมิภาคไม่สามารถทำการบินได้เต็มอัตรา เพราะสายการบินรายใหญ่ซื้อตัวนักบินไปหมด ขณะที่ในอังกฤษ หลายเที่ยวบินถูกยกเลิกในช่วงหยุดเทศกาล ในยุโรปก็พบเห็นเที่ยวบินดีเลย์และยกเลิกมากมายเพราะพนักงานไม่เพียงพอ ทั้งหมดเป็นการ ‘ดิสรัปต์’ ตารางการบิน และทำให้ค่าใช้จ่ายยิ่งสูงขึ้น

 

แพงเท่าไหร่ก็ไป

แม้ว่าค่าตั๋วเครื่องบินจะแพงมหาโหด แต่ก็สกัดกั้นนักท่องเที่ยวไม่ได้ ผู้บริโภคบางส่วนยังขยับงบท่องเที่ยวของตัวเองขึ้นอีก อัปเกรดตั๋วขึ้นเป็นชั้นที่สูงกว่าสำหรับการไปพักผ่อน

“บุคคลที่ได้รับผลกระทบทางอารมณ์จากการล็อกดาวน์ และต้องการไปเที่ยวอย่างมากในช่วงสองปีนี้ พวกเขาฝันถึงการไปเที่ยวมาตลอด” เฮอร์ไมโอนี่ จอย หัวหน้าธุรกิจการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก Google กล่าว “ดังนั้น พวกเขาจึงพร้อมจ่ายอย่างมาก”

แล้วเมื่อไหร่ค่าตั๋วจะถูกลง? ไม่มีใครตอบได้แน่ชัดว่าเมื่อไหร่ค่าตั๋วจะถูกลง “การพุ่งขึ้นของค่าตั๋วเป็นปรากฏการณ์ระยะสั้น” สตีเฟน เทรซี่ ซีโอโอของ Milieu Insight บริษัทวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคจากสิงคโปร์ กล่าว “เราหวังได้เพียงว่า เมื่อทุกอย่างกลับมาสมดุลอีกครั้ง ราคาจะกลับลดลง ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสถานการณ์นั้นจะเกิดขึ้น”

Source