ผมผูกพันกับแบรนด์ มากกว่าตัวบุคคล

ไพศาล อ่าวสถาพร เป็นคีย์แมนสำคัญ ที่ดูแลในส่วนของสายงานธุรกิจอาหาร อันประกอบด้วย ร้านอาหารญี่ปุ่น เบเกอรี่ อาหารแช่แข็ง และเคเตอริ่ง เขาร่วมงานกับโออิชิ กรุ๊ป มาตั้งแต่ปี 2547 จากการชักชวนของเฮสเตอร์ ชิว ที่ปรึกษาของตันในขณะนั้น

เขาเป็นผู้บริหารเพียงคนเดียวของโออิชิ กรุ๊ป เมื่อครั้งอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของตัน ที่ได้รับความไว้วางใจจากตันให้เป็นสปีกเกอร์ในสายงานธุรกิจอาหาร แต่เขาเลือกไม่เดินออกไปกับตัน ขออยู่ทำงานกับไทยเบฟฯ ในตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม คือ รองกรรมการ ผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ไพศาล เรียนจบการศึกษาปริญญาตรี บริหารธุรกิจ Indiana Institute of Technology, Fort Wayne, Indiana, USA และปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ Johnson & Wales University, Providence Roade Island, USA มีประสบการณ์ด้านธุรกิจร้านอาหารมายาวนาน 25 ปี เคยเป็นผู้จัดการเขต Yum Brands ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและอบรม Global Kitchen Co., Ltd ในเครือซีพี

7 ปีที่แล้ว สายงานธุรกิจอาหารมียอดขาย 600-700 ล้านบาทต่อปี จากนั้นเขาเข้ามาทำงานร่วมกับโออิชิ กรุ๊ป เริ่มวางระบบงานร้านอาหารใหม่ให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งปี 2553 ที่ผ่านมา มียอดขาย 4,100 ล้านบาท และคาดว่าปี 2554 นี้จะปิดที่ 5,000 ล้านบาท หรือเติบโต 25% และคาดว่าจะมีสัดส่วนยอดขายเป็น 50% ใกล้เคียงกับเครื่องดื่ม จากช่วงแรกๆ ที่มีสัดส่วนเพียง 20%

“ผมผูกกันกับแบรนด์โออิชิ รักเหมือนลูก ความสำเร็จของโออิชิในวันนี้ เป็นความภาคภูมิใจของผม ในฐานะมืออาชีพที่ทำงานให้กับบริษัทฯ ไม่ยึดติดในตัวบุคคล ที่สำคัญมีความท้าทายใหม่ๆ ในการไปบุกต่างประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ของไทยเบฟฯ” ไพศาลบอกเหตุผล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สไตล์การบริหารงานในองค์กรใหญ่ ที่ต้องทำงานเป็นระบบมากกว่ายึดตัวบุคคล น่าจะเข้ากับประสบการณ์ของไพศาลได้มากกว่า

“คุณแมทธิวบริหารแบบ Decentralized กระจายอำนาจ คอยให้คำปรึกษาสามารถเอาไป Execute ได้เลย แต่ก็ต้องรอผ่านกระบวนการอนุมัติตามขั้นตอนของบริษัท ส่วนคุณตันบริหารแบบ Centralized จะสั่งงานก่อนค่อยอนุมัติทีหลัง บางครั้งก็เร็ว บางครั้งก็ช้ากรณีที่คุณตันไม่อยู่ งานก็อาจชะงักได้”

แม้ว่าเขาจะได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการเต็มที่ โดยที่ตันไม่ค่อยได้เข้ามายุ่ง ไม่ค่อยได้เจอหรือคุยกัน แต่หากเป็นตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เช่น การนำแบรนด์ใหม่เข้ามาเปิด ก็ต้องรอการตัดสินใจจากตันเป็นหลัก

“ถ้าได้เจอคุณตัน 5 นาที นี่ก็ดีมากแล้ว (หัวเราะ) เพราะคุณตันยุ่งมาก ส่วนกับคุณแมทธิวถึงไม่ค่อยได้เจอกัน เนื่องจากคุณแมทธิวเดินทางบ่อยเพราะต้องดูแลตลาดต่างประเทศของไทยเบฟฯ ด้วย แต่ก็โทรศัพท์พูดคุย ปรึกษากันบ่อย”

อาณาจักรร้านอาหารของโออิชิ กรุ๊ป
แบรนด์ คอนเซ็ปต์ สาขาปัจจุบัน (125) เปิดใหม่ในปี 2554
โออิชิ บุฟเฟ่ต์ บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นและนานาชาติ 2
โออิชิ เอ็กซ์เพรส บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นและนานาชาติจำกัดระยะเวลา 1.45 ชม. 14 N/A
โออิชิ ราเมน ราเมน สไตล์ญี่ปุ่นและไทย 34 5 (เปิดครบแล้ว)
ชาบูชิ บุฟเฟ่ต์ชาบูและซูชิจำกัดระยะเวลา 1.15 ชม. 44 15
คะโซคุเตะ อุด้งและโซบะแบบ A Lar-Carte 7 5 (เปิดไปแล้ว 3 สาขา)
โออิชิ ซูชิบาร์ เคาน์เตอร์จำหน่ายซูชิ 18 N/A
คิกูยะ* บุฟเฟ่ต์บาร์บีคิวสไตล์ญี่ปุ่นระดับพรีเมียม 1 2
ไมโดะ โอคินิ** อาหารญี่ปุ่นต้นตำรับแบบบริการตัวเอง 3 ปิดกิจการ
อินแอนด์เอาท์*** ร้านเบเกอรี่ ปิดกิจการ
ชายทะเล ร้านอาหารซีฟู้ด ที่ จ.ลพบุรี 1
เดอะ เทปป์ บุฟเฟ่ต์เทปันยากิ ที่อาคารล็อคโฮม 1

หมายเหตุ
* รีแบรนด์มาจากกริลล์แอนด์มอร์ที่มีอยู่แล้ว ณ อาคารล็อคโฮม ทองหล่อ และจะมี 3 สาขาในปี 2554 คือ อาคารล็อคโฮม เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ และยูดีทาวน์ อุดรธานี

** เตรียมปิดบริการภายในปี 2554 ทั้ง 3 สาขา คือ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ฟู้ดแชนแนลสีลม และเดอะมอลล์บางแค เนื่องจากยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า รสชาติไม่ถูกปากคนไทยเนื่องจากมีความเป็นต้นตำรับเกินไป และเตรียมส่งคืนสิทธิ์ให้กับทางญี่ปุ่น ทั้งนี้ไมโดะ โอคินิ เป็นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นของฟูจิโอ ฟู้ด ซิสเต็ม ที่มีแบรนด์หลัก 4 แบรนด์ และซับแบรนด์อีก 20 แบรนด์ ทำให้ขณะนี้โออิชิ กรุ๊ปมีแบรนด์จากญี่ปุ่นแท้ๆ เพียงแบรนด์เดียวคือ คะโซคุเตะ ของบริษัท คะโซคุเตะ จำกัด

*** ปิดบริการแล้วทั้ง 9 สาขา เนื่องจากยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า และใช้กำลังการผลิตที่มีผลิตเบเกอรี่ป้อน 7-Eleven ทั้ง 5,000 สาขาแทน