Pens มาม่าผิดซอง

Pens คำนี้เมื่อถูกนำมาเรียกใช้เป็นชื่อบริษัทใหม่ของเครือสหพัฒน์ ที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Pens Marketing & Distribution และนำทีมโดยเพ็ญนภา ธนสารศิลป์

ยากที่จะปฏิเสธว่า คนส่วนใหญ่คิดว่ามาจากชื่อตัวแรกของ เพ็ญนภา เธอคือผู้บริหารผู้หญิงแถวหน้า ที่มีอยู่ไม่มากนักในเครือสหพัฒน์ และดูแลในส่วนบะหมี่สำเร็จรูป มาม่า เป็นหลัก

อายุได้ เวลาเหมาะสม ต้องสร้างบ้านเอง
“ที่มาของความว่า PENS มาจากคำว่า Penetration Efficiency Networking และ Solution ” เพ็ญให้นิยามความหมายที่มาของชื่อบริษัทใหม่อย่างชัดเจนว่าคืออะไร และมาจากชื่อของเธอจริงหรือไม่

บริษัท Pens Marketing & Distribution เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2011 ที่ผ่านมา ซึ่งจุดประสงค์ที่แตกตัวมาตั้งบริษัท มาจากนโยบายของเครือสหพัฒน์ ที่ยังยึดแนวแตกแล้วโต โตแล้วแตก ของเทียมโชควัฒนา ซึ่งผู้บริหารในรุ่นต่อมาก็ยังยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ แต่ช่วงหลังอาจจะลดน้อยลง เพราะแตกแล้วโตไปจนเกือบครบแล้ว

หากมองแนวนโยบาย แตกแล้วโต ถือว่าเป็นหลักการบริหารที่ตอบปัญหา และแก้ข้อขัดข้องของพนักงานในบริษัทใหญ่ๆ ได้เป็นอย่างดี

การเติบโตในบริษัทใหญ่ๆ มืออาชีพ หรือพนักงานกี่คนที่จะมีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ของบริษัท คำตอบก็คือ ความเป็นไปได้เท่ากับ 0 นอกจากเดินออกไปอยู่กับบริษัทใหม่ ที่อาจเป็นคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน หรือออกไปตั้งบริษัทเอง

แตกแล้วโต ของเครือสหพัฒน์ คือ Top-up Management หาช่องทางและที่ว่างเพื่อให้พนักงานที่อยู่กับบริษัทมานาน มีความรู้ ความสามารถมากพอที่จะเป็นผู้บริหารบริษัทได้ และไม่ต้องการเสียไปให้กับคู่แข่ง พร้อมกับสามารถทำบริษัทเพื่อมาสนับสนุนงานหลักของเครือสหพัฒน์ได้

การเปิดบริษัทใหม่จึงเป็น Win-Win Solution ที่เครือสหพัฒน์ทำมาและประสบความสำเร็จด้วยดี

เพ็ญนภา บอกว่า ประธานเครือสหพัฒน์ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา มอบหมายงานใหม่มาให้ด้วยการให้ตั้งบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค และกิจกรรมการตลาดขนาดเล็ก มอบทีมงานที่คุ้นเคย และการสนับสนุนต่างๆ มาด้วย

“สินค้าหลายๆ ตัว ต้องการให้เครือสหพัฒน์จัดจำหน่ายให้ แต่ติดปัญหาว่าเครือสหพัฒน์มีขนาดใหญ่ และมีความคิดว่าบริษัทใหญ่ไม่สนใจบริษัทเล็กๆ จึงต้องมีบริษัทเล็กๆ เข้ามาดูแล รวมทั้งต้องการให้บริษัทใหม่เข้าไปเปิดตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย”

รวมไปถึงสินค้าบางตัวทับซ้อนกับสินค้าเดิมที่สหพัฒน์จัดจำหน่ายอยู่แล้ว ก็เป็นข้อจำกัดในการรับสินค้าใหม่ๆ เข้ามาบริหารจัดการ

บริษัท Pens Marketing & Distribution มีเครือสหพัฒน์ถือหุ้น 20% และบริษัทในเครือถือหุ้นอีก 30% ที่เหลือเป็นส่วนของพนักงานบริษัท เพนส์ ประมาณ 50% บริษัทนี้จึงเป็นเหมือนบริษัทของพนักงานเครือสหพัฒน์ ที่ร่วมกับสร้างมาม่า และสินค้าอื่นๆ มาด้วยกัน จนเมื่อถึงเวลาก็สามารถซื้อบ้านใหม่อยู่เอง

ขอเกิดกับบะหมี่ Nissin อีกครั้ง
การเปิดบริษัทใหม่ครั้งนี้ มีสินค้าที่มาให้จัดจำหน่ายและทำการตลาดมากถึง 7 ราย ซึ่งแต่ละตัวไม่ใช่รายเล็ก รายน้อย แต่คือรายใหญ่กับที่มีส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าติดอันดับ 1 ใน 3 ของตลาดทุกตัว

หากแยกแยะสินค้าในเครือสหพัฒนพิบูล คือ เครื่องดื่มเสริมอาหารฮาร์ทติ เบเนคอล ของบริษัท นูบูน จำกัด และ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนิสชิน คัพ นู้ดเดิ้ล จากบริษัท นิสชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท สหชลผลพืช จำกัด

ลูกค้าใหม่ คือ ปลากระป๋องซูเปอร์ซีเชฟ ของบริษัท ไอ เอส เอส แวลู จำกัด สาหร่ายเถ้าแก่น้อย บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กาแฟวีสลิม ของบริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ จำกัด และผู้นำเข้าแชมพูป้าหวัง ของบริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด

ผู้บริหารของทุกบริษัทที่ให้เพนส์จัดจำหน่าย ต่างตัดสินใจเข้าร่วม เพราะส่วนหนึ่งมาจากตัวเพ็ญนภาเอง ที่เป็นทั้งผู้ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษากับผู้บริหารรุ่นใหม่ ผ่านการอบรมบ้าง การบรรยายบ้าง จนยอมรับนับถือกัน

ส่วนหนึ่งมาจากเครือข่ายด้านตัวแทนจำหน่ายของเครือสหพัฒน์ทั้งในส่วนของค้าปลีกยุคใหม่ และค้าปลีกระบบเดิม ความได้เปรียบของเพนส์แม้จะเกิดใหม่ แต่ทุกคนที่ร่วมงานไม่ได้เป็นหน้าใหม่ หรือเพิ่งเข้าสู่วงการ

ฝีมือและเครือข่ายที่เคยติดต่อมา ยังให้ความเชื่อถือ และไว้เนื้อเชื่อใจอยู่เช่นเดิม จนมีการพูดบนเวทีว่า การใช้ช่องทางเอเย่นต์ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือที่เรียกกันว่า Tradition Trade นั้น ผู้จัดจำหน่ายรายใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจนี้เฉพาะความสามารถและเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอ

“ต้องใช้ไสยศาสตร์เข้ามาช่วย ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”

สินค้าที่ให้เพนส์จัดจำหน่าย หลายๆ Brand ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อความบนฉลากเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ผู้จัดจำหน่ายคือเพนส์ ส่วนบริษัทอื่นๆ ก็ทยอยทำต่อไป

สินค้าตัวที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ บะหมี่สำเร็จรูปของ บริษัทนิสชิน จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรผูกพันกับเครือสหพัฒน์อย่างยาวนานหลายสิบปี ว่าไปแล้วก็คือต้นแบบบะหมี่สำเร็จรูปของโลก หรือแม้แต่มาม่าเองก็ตามที

นิสชินมีธุรกิจอาหารใหญ่โตมากในประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อมาเมืองไทย สินค้าของนิสชินมีความแพร่หลายน้อยกว่า แต่ก็มีผู้บริโภคถามหาจำนวนมากเช่นกัน ที่ผ่านมานิชินอาศัยเครือสหพัฒน์เป็นผู้จัดจำหน่าย และไทยเพรซิเดนท์เป็นผู้ผลิต

นิสชินมีความต้องการบุกตลาดบะหมี่สำเร็จรูปอย่างจริงจัง และขยายตลาดให้ได้มากกว่านี้ การใช้เครือสหพัฒน์จัดจำหน่ายบะหมี่สำเร็จรูป คงเป็นเรื่องแปลกและเข้าใจได้ยาก

การมีบริษัทเพนส์เข้ามารับช่วงจัดการให้ทั้งหมด ด้วยโครงสร้างเดียวกับที่นิสชินเคยทำร่วมกันมา ความชัดเจนจะมากขึ้น ความทับซ้อนก็น้อยลงและเป็นครั้งแรกที่บริษัทนิสชิน ประเทศญี่ปุ่นลงนามเซ็นสัญญากับบริษัทขนาดเล็ก หรือเพิ่งก่อตั้งใหม่ในการมอบหมายให้เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้ น่าจะมีความหมายว่าเห็นศักยภาพของบริษัทใหม่นี้ก็ได้

เพ็ญนภา หลีกเลี่ยงที่จะเอยชื่อ มาม่า เมื่อเล่าถึงการเข้าร่วมของนิชชิน ในการให้บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่ายเพียงแต่บอกว่า

“บะหมี่สำเร็จรูปรายหนึ่ง” ซึ่งทุกคนไม่ต้องตีความก็รู้ว่าคือมาม่า

การไม่เอ่ยชื่อ ถือเสียว่าเป็นการให้เกียรติสินค้าเก่าที่เคยทำ กับสินค้าใหม่ที่กำลังจะทำก็แล้วกัน

อีกทั้งตั้งแต่ต้นปี ก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดูแลบะหมี่สำเร็จรูปมาม่าใหม่ โดยต่อไป สหพัฒน์ดูแลแค่การนำมาม่ากระจายลงสู่ตลาด และมอบหมายให้เวทิต โชควัฒนา เป็นผู้ดูแล ส่วนการผลิต และแผนการตลาดให้ทาง ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง

หมายความว่า ไทยเพรซิเดนส์ฟูดส์ฯ ดึงมาม่ากลับไปดูแลเอง ในเรื่องแผนการตลาด และการแข่งขัน ต้องดูว่าระหว่างเหตุการณ์ ปรับโครงสร้างการดูแลมาม่า กับการตั้งบริษัทใหม่ อย่างไหนเกิดขึ้นก่อนกัน เพราะเป็นเหตุเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกัน

ทีมงาน-เครือข่ายพร้อม เดินหน้า
บริษัท Pens Marketing & Distribution เริ่มเดินหน้าคุยกับคู่ค้าที่เป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และค้าส่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่ชัดเจนแล้วว่าจะออกมาทำกันเองภายใต้บริษัทใหม่

การเริ่มต้นของบริษัทใหม่แห่งนี้ มีพนักงานจำนวน 60 คน ที่ให้บริการในเรื่องการจัดจำหน่าย การตลาด ในทุกๆ ช่องทางการขาย และกำหนดเป้าหมายยอดขายในปีแรกไว้ที่ 1,400 ล้านบาท

“อยากจะเติม 0 เข้าไปอีกตัว ภายในระยะเวลา 10 ปีนี้” เพ็ญนภาบอกแบบทีเล่นทีจริง

เพราะงานของเธอที่ผ่านมาว่ากันที่ยอดขายเป็นหลักหมื่นล้านบาทมาหลายสิบปี แต่คราวนี้ต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

แต่แนวโน้มน่าจะเป็นไปตามที่ตั้งใจ เพราะลูกค้าแต่ละรายยอดขายแต่ละปีไม่ใช่ระดับ 10 ล้านบาท เพียงแค่ปลากระป๋องซีเชฟรายเดียวก็มียอดขายเกินครึ่งของเป้าหมายที่บริษัทวางไว้แล้ว

เพ็ญนภา กำลังเริ่มบทบาทหน้าที่ใหม่อีกครั้ง แต่การเริ่มต้นครั้งนี้ ไม่ได้หนักหน่วงเท่ากับการเข้ามาร่วมงานกับเครือสหพัฒน์ในยุคแรกๆ เพราะขณะนี้เธอทั้งทีมงานที่ทำงานร่วมกันมาตลอด มีเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุน และแรงหนุนส่วนหนึ่งจากเครือสหพัฒน์ ที่ส่งให้เธอออกมายืนหัวแถว

แรงขับเคลื่อนอีกประการหนึ่งคือ บะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าที่เธอทำเอาไว้ และติดตัวไปตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

เธอรู้ดีว่าบะหมี่สำเร็จรูปทำให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องทำอย่างไร และหากนิสชินต้องการเกิดในตลาดไทยอย่างเต็มตัว ก็ต้องใช้คนที่ทำบะหมี่มารับงานต่อ

เครือสหพัฒน์เคยมีคำพูดเล่นๆ แต่จริงจังว่า สินค้าที่ทำให้เครือสหพัฒน์เกิดและมั่นคงแข็งแรงจนทุกวันนี้ได้ ก็คือ

“อาม่า กับ อากง”

อากง ก็คือ ผงซักฟอก “เปา” ที่เดิมใช้ชื่อเต็มยศว่า เปาบุ้นจิ้น

อาม่า ก็คือ บะหมี่สำเร็จรูป มาม่า

บะหมี่สำเร็จรูปนิสชิน อาจจะกลายเป็น Success Story ของเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ อีกครั้งก็ได้

Pens Marketing & Distribution
Official Launch • มกราคม 2554
Positioning • บริษัทจัดจำหน่ายและการตลาด
Product Details
 
 
 
 
• จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริษัท
• ทำกิจกรรมการตลาดให้สินค้า
• วางแผนขยายรับงานประเทศเพื่อนบ้าน
• มีสินค้าเริ่มต้น 7 ราย
• พนักงาน 60 คน
Target • ยอดขายปีแรก 1,400 ล้านบาท
Strategy • Penetration, Efficiency, Networking, Solution
Competitor • BJC, DKSH, พรีเมี่ยร์ มาร์เกตติ้ง, สหพัฒน์
สัดส่วนการถือหุ้นของ PENS
บริษัทสหพัฒนพิบูล 20%
บริษัทในเครือสหพัฒน์ 30%
ผู้บริหรพนักงาน บ.เพนส์ 50%
ลูกค้า 7 รายของ PENS
บริษัท สินค้า
ไอ เอส เอ แวลู ปลากระป๋องซีเชฟ
นูบูน ฮาร์ทติ เบเนคอล
นิสชิน ฟูดส์ บะหมี่สำเร็จรูปนิสชิน
เถ้าแก่น้อย สาหร่ายทอด
ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ กาแฟวีสลิม, เครื่องดื่มซันย่า
ทีวีไดเร็ค แชมพูป้าหวัง
สหชลผลพืช ยังไม่เปิดเผย