"เอชทีซี" โอกาสสุดท้ายที่ "เอเชีย"

เอชทีซีเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่เคยบิ๊กในกลุ่มสมาร์ทโฟน แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา กลับเงียบและส่วนแบ่งตลาดวูบหายไป โดยตัวเลขสิ้นปี 2010 “เอชทีซี” ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเสียตำแหน่งอันดับ 4 ให้กับ “ซัมซุง” จากรุ่น Galaxy S นี่คือนาทีที่ทำให้ “เอชทีซี” ต้องขยับครั้งใหญ่ และล่าสุดได้ปรับโครงสร้างการบริหารในตลาดเอเชีย ที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียใต้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนรวมอาเซียนและไทยด้วย

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “เอชทีซี” ได้ปรับโครงสร้างองค์กร โดยแบ่งตลาดเอเชียออกเป็น 2 ส่วนจากเดิมดูแลเอเชียทั้งหมดโดยสำนักงานเดียวที่ไต้หวัน มาเพิ่มสำนักงานที่สิงคโปร์อีก 1 แห่ง และแต่งตั้งผู้บริหารใหม่มาดูแลโดยเฉพาะคือ “เลนนาร์ด ฮูร์นิค” ในตำแหน่งประธานประจำภาคพื้นเอเชียใต้ เอชทีซี ซึ่งมีเป็นผู้บริหารด้านการตลาดของกลุ่มบริษัทโซนี่ อิริคสันดูแลสินค้าที่อยู่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอย่างกล้องโซนี่และโทรศัพท์มือถือมานาน 16 ปี

หลังจากรับตำแหน่งเมื่อ 18 พฤษภาคม 2554 “เลนนาร์ด” มีจังหวะได้เข้ามาเยี่ยมตลาดในไทยเป็นประเทศแรกกับผู้บริหารอีกหลายคนจากบริษัทแม่ ที่มาพร้อมกับยุทธศาสตร์ที่ “เลนนาร์ด” บอกว่าเอชทีซีกำลังเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น

3 ยุทธศาสตร์ที่เอชทีซีกำลังเน้น คือ 1.การเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายหลักจากเดิมที่เคยเน้นการทำตลาดโดยจับกลุ่มลูกค้าคนทำงานมาก่อน ต่อไปนี้กลุ่มผู้ค้าผู้หญิง วัยรุ่น วัยทำงานเริ่มต้น ที่เป็นกลุ่มใหญ่ในตลาดที่กำลังต้องการใช้สมาร์ทโฟน จากอิทธิพลของกระแสโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค และท่องอินเทอร์เน็ต 2.เอชทีซีจะเน้นการจับมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่างใกล้ชิด ซึ่งเมืองไทย “ดีแทค” คือพันธมิตรที่เหนียวแน่นของเอชทีซี และร่วมกันทำตลาดมาแล้วหลายรุ่น แน่นอนว่า “เลนนาร์ด” จึงไม่พลาดในการแถลงข่าวความร่วมมือในการเสนอแพ็กเกจค่าบริการกับดีแทคในการเปิดตัวเอชทีซี 3 รุ่นล่าสุด และ 3.การเน้นแพลตฟอร์มที่กำลังเติบโตอย่างแอนดรอยด์ ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่กำลังมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งเอชทีซีมั่นใจว่าจะเติบโตในไทยด้วย เพราะสมาร์ทโฟนเข้าสู่ตลาดคนส่วนใหญ่แล้ว ขณะที่แบรนด์อื่นอย่างไอโฟนยังเน้นจับกลุ่มไฮเอนด์จ่ายซื้อเครื่องแพงกว่า

“เควิน โฮห์” กรรมการผู้จัดการ ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอชทีซี บอกว่าตลาดภูมิภาคนี้ทำยอดขายสูงสุดให้เอชทีซีในช่วงปีที่ผ่านมา (เอเชียมียอดขายโต 200% และคาดว่าปี 2554 จะเติบโตถึง 300%) เป็นตลาดเติบโตกว่าในสหรัฐอเมริกาแล้วในขณะนี้ ส่วนประเทศไทยถือว่ามีผลงานดี จากการบริหารของ “ณัฐวัชร์ วรนพกุล” ผู้จัดการประจำประเทศไทย เอชทีซี (ไทยแลนด์) ในเวลานี้จึงยังไม่มีแผนการปรับโครงสร้างสำนักงานในไทย

“ณัฐวัชร์” บอกว่าเอชทีซีได้พยายามสร้างแบรนด์ให้ใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายระดับกลางมากขึ้น ในระดับราคาเครื่อง 1 หมื่นบาทต้นๆ จากเดิมที่เคยเน้นในกลุ่มไฮเอนด์ เน้นจุดแข็งเรื่องเทคโนโลยี ดีไซน์ และราคาที่กลุ่มเป้าหมายพึงพอใจ ตามเทรนด์กลุ่มเป้าหมายที่กล้าแสดงออก เข้าโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค จึงต้องทำให้เห็นว่าสมาร์ทโฟนเอชทีซีมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของลูกค้ามากที่สุด

ถึงเวลาที่เอชทีซี บริษัทจากไต้หวันต้องมุ่งเข้าสู่เอเชียด้วยกันเองอย่างจริงจัง หลังจากข้ามทวีปไปหารายได้จากอเมริกา ยุโรป ชาติอาหรับมาหลายปี เพียงแต่ต้องรอพิสูจน์ว่ามาช้าเกินไปหรือไม่ เพราะตลาดนี้หลายคนเกือบลืมเอชทีซีไปแล้ว

    ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในค่ายดีแทค แบ่งตามระบบปฏิบัติการ (จากลูกค้าที่ใช้สมาร์ทโฟน 2.6 ล้านเครื่อง)

  • ซิมเบียน(โนเกีย) 70%
  • แบล็คเบอร์รี่ 14%
  • ไอโอเอส(ไอโฟน) 13%
  • แอนดรอยด์ 3%
    ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนเอเชีย ปี 2553

  • เอชทีซี 7%
  • ซัมซุง 7.6%
  • โนเกีย 33.1%
  • แบล็คเบอร์รี่ 16.1%
  • ไอโฟน 15.7%
  • อื่นๆ ที่เหลือ
  • ที่มา : ไอดีซี

โครงสร้างเอชทีซี เอเชีย

แจ็ค ถง ประธาน เอชทีซี เอเชียเหนือ สำนักงานไต้หวัน ดูแลตลาดไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม และจีน

เลนนาร์ด ฮูร์นิค ประธานเอชทีซี เอเชียใต้ สำนักงานสิงคโปร์ ดูแลตลาดสิงคโปร์ อินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์