สลับร่าง สร้างยอดขาย ค่ายเบียร์ทำเพลง-ค่ายเพลงทำกีฬา

การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค่ายเพลง กับค่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สลับร่าง แลกภาระหน้าที่ เป็นเทรนที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว แต่มีเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้

ค่ายเพลงเลิกทำเพลง หันไปทำกีฬา และสถานีโทรทัศน์

ค่ายเหล้า เบียร์ พลิกกลับไปทำค่ายเพลง และคอนเสิร์ต

การปรับเปลี่ยนโมเดล Music Marketing ของ 2 ธุรกิจเป็นการสะท้อนถึงปรากฏการณ์ใหม่ของกลยุทธ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลง

ทั้ง 2 ธุรกิจต่างต้องการกำหนดทิศทางและเป้าหมายการทำงานเอง เพื่อสร้าง Brand ของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น และมีผู้บริโภครายใหม่เข้ามาเติมอยู่ตลอดเวลา

สิงห์ ได้เวลาเขียนเพลงของตัวเอง
จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บริษัท สหภาพดนตรี จำกัด บอกว่า การเข้ามาทำบริษัทสหภาพดนตรีเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์มากขึ้น รวมกับความสัมพันธ์ที่มีกับศิลปินทั้งในแง่ส่วนตัว และเรื่องงานที่ทำงานร่วมกันยาวนาน

การพูดคุยกับ นิติพงษ์ ห่อนาค ชาตรี คงสุวรรณ อัสนี – วสันต์ โชติกุล เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2554 หลังการแยกตัวออกมาจากแกรมมี่ และได้ข้อตกลงร่วมกันว่า ตั้งบริษัททำงานเพลง คอนเสิร์ต กิจกรรมต่างๆ ด้วยการถือหุ้นฝ่ายละ 50% เงินทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยมีจุตินันท์เป็นผู้บริหารสูงสุด

“บริษัทที่ตั้งขึ้นมาไม่ใช่ค่ายเพลง น่าจะเรียกว่า Entertrain มากกว่า” จุตินันท์ให้ความหมายของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่

ที่เขาไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นค่ายเพลงนั้น เพราะว่าขณะนี้ธุรกิจค่ายเพลงมีความเปลี่ยนแปลงสูง จากเดิมที่มีรายได้จากการขายเพลงเป็นอัลบั้ม แต่ขณะนี้ไม่ใช่ การขายเพลงของศิลปินต่างๆ ไม่สามารถเป็นรายได้หลักให้กับค่ายเพลงแล้ว แม้แต่ในต่างประเทศเอง ค่ายเพลงต่างๆ ก็ตกอยู่ในภาวะเดียวกัน

“ตอนนี้เราไม่รู้ว่าค่ายเพลงอยู่ในภาวะอย่างไร เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป แต่ละค่ายพยายามทำธุรกิจอื่น จะเรียกค่ายเพลงก็ไม่ได้”

เมื่อลงมือทำร่วมกันในเชิงธุรกิจแล้ว การทำให้บริษัทอยู่รอดและมีรายได้ จุตินันท์บอกว่าการลงทุนต้องแสวงหากำไร แต่นี่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของสิงห์ จึงมีความยึดหยุ่นในการทำธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของศิลปิน และการหากำไรไม่ใช่ประเด็นแรกของการทำบริษัทนี้ แต่บริษัทก็ต้องอยู่ได้ เลี้ยงตัวเองได้

การดำเนินงานของบริษัทนี้ คือการทำงานเพลงที่ไม่ติดกับการสร้างรายได้จากการขายเพลงเป็นหลัก และไม่มีเงื่อนไขทางธุรกิจด้านเพลงมาเกี่ยวข้องมากเกินไป เช่นเดียวกับที่ฝ่ายศิลปินเคยประสบมา เพราะงานขายเพลงเป็นเพียงหนึ่งกิจกรรมเสริมเท่านั้น

ในอีกนัยหนึ่งก็คือ สิงห์มีงบประมาณในการทำ Music Marketing เป็นประจำทุกปี และใช้เงินด้านนี้อย่างต่อเนื่อง การมีบริษัทที่ผลิตเพลง คอนเสิร์ต ที่สิงห์สามารถบริหารจัดการได้ ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการเสริมกิจกรรมการตลาดได้อย่างเต็มที่

เสริมกำลังบุกประเทศเพื่อนบ้าน
ความตั้งใจของสิงห์ที่ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา นอกจากความสัมพันธ์กับศิลปินแล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมความแข็งแกร่งของสิงห์ในการออกไปเปิดตลาดประเทศเพื่อนบ้านคือพม่า เขมร ลาว ที่สิงห์เข้าไปบุกเบิกมาแล้ว และมองเห็นศักยภาพการเติบโต

“กิจกรรมสร้างรายได้ของบริษัทนี้ ก็คือการทำคอนเสิร์ต และเป็นงบประมาณที่บุญรอดสนับสนุนอยู่แล้ว การขายเพลง แต่งเพลง และช่วยในการเปิดตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่ไปได้ดีคือพม่า เขมร ลาว ค่อนข้างมีศักยภาพ รองรับการทำงานในต่างประเทศได้ บริษัทไปครบทุกรูปแบบ เหมือนกับที่เคยทำการตลาดในไทยเมื่อสมัยก่อน”

จุตินันท์ บอกว่าตลาดเครื่องแอลกอฮอล์ในพม่า เขมร ลาว มีการแข่งขันกันสูงทั้งจากผู้ผลิตของประเทศนั้นเอง กับผู้ผลิตที่มาจากกลุ่มประเทศอาเซียน และสินค้าของบริษัทได้รับความนิยม และเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ด้วย

ตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่สิงห์มุ่งไปมากที่สุดในช่วงนี้คือ พม่า และเขมร ส่วนคู่แข่งที่กำลังๆ ไล่ติดตามมาคือเบียร์จากเวียดนาม ที่เริ่มแทรกตลาดเข้ามามากขึ้น

รูปแบบกิจกรรมการตลาดที่จะเกิดขึ้นในพม่า เขมร ลาว ก็คือสิ่งที่สิงห์เคยทำในตลาดต่างจังหวัดมาก่อน และต้องยอมรับว่าการเสพความบันเทิงและประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ ได้รับอิทธิพลจากไทยเป็นหลัก ผ่านการรับชมโทรทัศน์ของประเทศไทย และฟังเพลงไทย

ผู้บริโภคทั้งพม่า เขมร ลาว รู้จักศิลปิน และดาราไทยเป็นอย่างดี และศิลปินเหล่านี้ยังสามารถสร้างแรงดึงดูดได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่จะไปในตลาดประเทศเพื่อนบ้านก็คือ กิจกรรม คอนเสิร์ต ทุกประเภทที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดูแล และผลิตของสหภาพดนตรี

ต่อยอด Music Marketing ในประเทศ
จุตินันท์ อธิบายถึงการทำงานของสหภาพดนตรีสำหรับตลาดในประเทศว่า งานหลักของ บริษัทก็คือ การผลิตงานเพลง แต่จะไม่ยึดติดในรูปแบบเดิมเหมือนในอดีตที่ต้องออกเป็นอัลบั้ม มาอยู่ในรูปแบบดิจิตอล ที่ใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน รวมไปถึงละครด้วย

นั่นคือการเข้าไปให้บริการเพลงในรูปแบบต่างๆ และขายผ่าน Online ตามกระแสของตลาดเพลงขณะนี้ และการทำเพลงประกอบโฆษณา ละคร และสามารถรับงานกับทุกค่าย คือใครว่าจ้างก็รับงานได้ทั้งหมด

รวมถึงเป็นช่องทางในการสร้างศิลปินหน้าใหม่ หรือผู้ที่ต้องการเสนองานเพลง ก็สามารถใช้ช่องทางนี้เป็นทางเดินได้ หากผลงานของศิลปินหน้าใหม่เหล่านี้ เป็นไปตามมาตรฐานของการผลิตงานเพลง ศิลปินหน้าใหม่ก็จะเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสิงห์

รูปแบบนี้คล้ายกับ Sport Marketing ที่สิงห์ใช้ในแวดวงกีฬา และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีทั้งตัวนักกีฬา และสปอนเซอร์

แต่งานหลักในประเทศของสหภาพดนตรียังคงเป้าหมายที่งานของสิงห์ ทั้งการจัด Event ในพื้นที่ คอนเสิร์ต ซึ่งจุตินันน์บอกว่าจะพยายามให้มีมีสัดส่วน 50:50 ในการหารายได้ พร้อมกับตั้งเป้าหมายรายได้ปีแรกไว้ที่ 200 ล้านบาท

คอนเสิร์ต และ Event อาจตีความหมายรวมไปถึงการจัดโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้าของสิงห์ตามจังหวัดต่างๆ ที่อาจจะมีกิจกรรมพิเศษเป็นครั้งคราว ซึ่งก็เป็นแนวทางที่สิงห์ทำอยู่นี้แล้ว

ก่อนหน้านี้สิงห์ก็มีแคมเปญร่วมกับ อัสนี-วสันต์ โชติกุล ในการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งโมเดลนี้ก็ได้รับความสนใจจากบรรดาคู่ค้า เอเย่นต์ ของสิงห์มากทีเดียว

ทางด้าน นิติพงษ์ ห่อนาค ซึ่งเป็นตัวหลักของบริษัทสหภาพดนตรี และเป็นตัวแทนของกลุ่มศิลปินเพลงที่เข้ามาร่วมกับบริษัทบุญรอด ก็บอกว่า การเกิดขึ้นของบริษัทใหม่นี้ แตกต่างการเกิดขึ้นของค่ายเพลงอื่นๆ เพราะครั้งนี้ เป็นการทำค่ายเพลงที่ไม่ได้มาจากนายทุนโดยตรง

“ธุรกิจของสิงห์ไม่ใช่ค่ายเพลง เขาไม่ได้ต้องการมาสร้างรายได้จากธุรกิจนี้” นิติพงษ์ยืนยันอย่างหนักแน่น

เขาบอกด้วยว่า ศิลปินที่มาเข้าร่วมยังรักษามาตรฐานความเป็นงานเพลงที่ออกมาได้เช่นเดิม และสามารถทำเพลงตามที่ต้องการได้เต็มที่ และเปิดกว้างให้กับศิลปินทุกค่าย ที่จะเสนอผลงานได้

ในส่วนของศิลปินที่มีสัญญาอยู่กับค่ายเพลง เขาบอกว่าต้องไปจัดการเรื่องสัญญาให้เรียบร้อยก่อนว่าจะจัดการอย่างไร และเขาไม่มีนโยบายดึงศิลปินจากค่ายเพลงต่างๆ เด็ดขาดเพราะไม่ควรแข่งขันกันด้วยวิธีการนี้

งานแรกของนิติพงษ์กับบริษัทใหม่แห่งนี้คือโครงการแต่งเพลงเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีนักร้องทั้งหมด 36 ชีวิตจากทุกค่ายที่มาร่วมกันทำอัลบั้ม ทองผืนเดียวกัน เพลงแรกจะเป็นเพลง ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป และถือเป็นโครงการเปิดตัวสหภาพดนตรีที่ยิ่งใหญ่ ส่วนศิลปินเบอร์แรกค่ายก็คือ อัสนี โชติกุล

จากนั้นก็คือการปั้นศิลปินหน้าใหม่ที่เสนอตัวเข้ามา อาจจะมีจากโครงการของสิงห์ที่จัดขึ้น หรือเปิดรับเป็นการพิเศษ ตลอดจนศิลปินเพลงจากค่ายอื่นๆ ที่อาจจะมาการตามมาร่วมงานในภายหลัง

ทั้ง นิติพงษ์ ห่นาค และ ชาตรี คงสุวรรณ เป็นนักปั้นศิลปิน และทำงานเพลงให้กับนักร้องที่โด่งดังมากมาย เมื่อครั้งที่ร่วมงานกับค่ายแกรมมี่

ช้างมีคาราบาว สิงห์มีอัสนี-วสันต์
การมีบริษัทสหภาพดนตรีของค่ายสิงห์ หากมองย้อนกลับไปที่คู่แข่งอย่างกลุ่มไทยเบฟฯ โมเดลอาจแตกต่างกัน แต่วัตถุประสงค์เหมือนกัน

เบียร์ช้าง มีคาราบาวที่อยู่คู่กันมา ช่วยเหลือกันมาหลายสิบปี และเป็นผู้ที่แต่งเพลงให้เบียร์ช้างเฉพาะกิจหลายต่อหลายงาน แม้กระทั่งออกอัลบั้มสาวเบียร์ช้างก็มีมาแล้ว

คาราบาวกับเบีนร์ช้าง ผูกกันด้วยความสนิทสนมที่ยาวนาน ไม่ได้มีการรวมตัวอย่างเป็นทางการตามนิตินัย ทั้ง 2 ฝ่ายต่างทราบดีว่าต้องช่วยเหลือกันอย่างไร

ส่วนสิงห์ก็มองโมเดลใกล้เคียงกัน แต่มีความผูกพันด้านกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะปัจจัยของสิงห์ต่างจากเบียร์ช้าง สิงห์ได้นักร้องคู่อย่าง อัสนี-วสันต์ โชติกุล ซึ่งชื่อเสียง และกลุ่มแฟนคลับอาจต่างกับคาราบาวที่เจาะทุกกลุ่ม แต่อัสนี-วสันต์ จะได้กลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เป็นหลัก แต่ทั้ง 2 วงมีแฟนเพลงติดตามไม่น้อยกว่ากัน

เมื่อรวมกับนิติพงษ์ ห่อนาค ชาตรี คงสุวรรณ สารเคมีของทั้ง 3 ศิลปินก็ลงตัวอย่างเหมาะเจาะ

อัสนี-วสันต์ ร้องเพลงแนวจิ๊กโก๋ อกหัก

นิติพงษ์ ห่อนาค แต่งเพลงรักสมัยใหม่

ชาตรี คงสุวรรณ ทำดนตรีโดนคนฟังรุ่นใหม่

เพลงสนับสนุนเบียร์สิงห์ จากบริษัทนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และจะเกิดขึ้น สหภาพดนตรีต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเอง ซึ่งงานส่วนหนึ่งก็คืองานของสิงห์ที่ต้องทำอยู่แล้ว และจะมีเพิ่มขึ้นหากมี บริษัทในแนว Music in house แบบนี้

ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปรกติ สหภาพดนตรีทางหนึ่งก็ผลิตศิลปินป้อนตลาด อีกทางหนึ่งก็ต้องรับงานลูกค้าที่ว่าจ้างแต่งเพลง ทำเพลงเฉพาะกิจ จัดคอนเสิร์ต เหลือแค่จัดแบ่งและขีดเส้นให้ชัดเจน และเหมาะสมเท่านั้น

โมเดล แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของธุรกิจเพลง และที่เป็นตัวอย่างในการบุกเบิกชัดเจนที่สุดก็คือ บอยด์ โกสิยพงษ์ หลังจากเลิกรากับเบอร์เกอร์รี่ มิวสิค ก็มีจัดตั้ง Love is ซึ่งแนวคิดเป็นสหกรณ์คนทำเพลง ช่วงแรกก็ทำกันเอง แต่สุดท้ายก็ต้องมีค่ายใหญ่เป็นที่พักพิง ซึ่งก็คือค่ายทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ตอบโจทย์การตลาดชัดเจนในเรื่องของเพลงใหม่จากค่าย Love is ที่ขายเป็นดาวน์โหลด

ค่ายเพลงล่มสลาย
ความเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่ายเพลงต้องเดินมาถึงทางตันในแง่ของการขายเพลง โดยเฉพาะเพลงวัยรุ่น ยอดขายเพลงแต่ละอัลบั้มของนักร้องชื่อดังไม่ได้ดีเหมือนในอดีต เพราะเพียงแค่ช่วงสั้นๆ เพลงะเหล่านั้นก็ถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตพร้อมกับดาวน์โหลดกันอย่างสนุกสนาน

ซีดีของศิลปินมีค่าแค่ผูกไว้กับหางช้าง ป้องกันอุบัติเหตุ

เมื่องานใหม่ออกมายังไม่ทันขายก็ถูกถล่มด้วยของฟรีแบบนี้ งานเพลงใหม่ๆ และมีคุณภาพก็ลดน้อยลง ค่ายเพลงจึงต้องหาธุรกิจอื่นเพื่อความอยู่รอด

อาร์เอส หันไปทำกีฬา และสถานีละครผ่านดาวเทียม

แกรมมี่ ก็ทำสถานีเพลงขายผลงานเดิม ปั้นดีเจ ทำละคร และทำกีฬา

กีฬาทั้งในแง่ของการสนับสนุนทีมฟุตบอลในไทยพรีเมียร์ลีก การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลนัดใหญ่ๆ ช่วงหลังค่ายเพลงต่างเก็บมาหมด จากเดิมที่ค่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้ไล่ซื้อลิขสิทธิ์

ต่อไปก็คงต้องดูฟุตบอลจากค่ายเพลง

ซื้อเพลงจากค่ายเบียร์

คาดการณ์การส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2554
ประเทศ สัดส่วน (%)
อาเซียน 6.9
ญี่ปุ่น 8.6
เกาหลีใต้ 5.9
ออสเตรเลีย 1.9
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ผลงาน นิติพงษ์ ห่อนาค
ชื่อ นิติพงษ์ ห่อนาค
เกิด 23 มิถุนายน 2503
แต่งเพลง 350 เพลง
การทำงาน
2524 เขียนบทโทรทัศน์ ละคร รายการเกมส์โชว์ เล่นละครเวที
2525 สมาชิกของวงเฉลียง มีเพลงที่รู้จักคือ เพลงนายไข่เจียว อัลบั้มเอกเขนก
2527 เป็นนักแต่งเพลงในบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด
2535 ผู้จัดการฝ่ายผลิตและสร้างสรรค์เพลง บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด
2540 กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรมมี่ แกรนด์ จำกัด
2553 รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจเพลง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด
งานการเมือง
2551 ลงสมัคร ส.ว.กรุงเทพฯ ได้คะแนนอันดับ 2 ของกรุงเทพมหานคร
สินค้าของ สิงห์ ที่ขายในประเทศเพื่อนบ้าน
ประเทศ สินค้า
พม่า ลีโอ สิงห์ โซดา
เขมร ลีโอ สิงห์ โซดา
ลาว น้ำดื่ม Being โซดา