Pantip.com กับอนาคตที่แขวนไว้บน Social Strategy?

ถ้าพูดถึง Online Media ในเมืองไทยที่มีคุณภาพมากที่สุด หนึ่งในนั้นก็เห็นจะหนี Pantip.com เว็บบอร์ดคุณภาพของไทยไปไม่พ้น ปีนี้ Pantip มีอายุครบ 15 ขวบปี ถ้าหากจะรำลึกความหลังกันว่าทำอย่างไรถึงสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ก็คงยาวมาก เพราะไล่กันมาตั้งแต่เริ่มสร้างเว็บบอร์ดจากเงินทุนเพียงไม่กี่แสนบาท จนเป็นที่นิยมมีสมาชิกหลายแสนคน แม้แต่สื่อกระแสหลักก็มักจะนำเอากระแสความคิดเห็นของสมาชิกบน Pantip ไปอ้างอิงอยู่เป็นประจำว่าเป็น “ความเห็นของมหาชน” อยู่บ่อยครั้ง

แต่ “อดีต” คงไม่สำคัญเท่ากับ “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ของ Pantip ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป และเรื่องนี้ไม่มีใครให้คำตอบได้ดีไปกว่า “วันฉัตร ผดุงรัตน์” ผู้ก่อตั้ง Pantip.com

ผมถามวันฉัตรว่าในฐานะ CEO เขามองภาพ Pantip.com อีก 5 ปีข้างหน้าอย่างไร? วันฉัตรตอบกลับมาว่า ทุกวันนี้แม้เขาจะเป็นหัวเรือใหญ่ของ Pantip แต่ทว่าเขาไม่ใช่คนที่กำหนดทิศทางของบริษัทสักทีเดียว เขาฝากความหวังไว้กับทีมงานรุ่นใหม่ของเขาไว้ค่อนข้างมาก พร้อมกับลดบทบาทการบริหารจัดการของตัวเองลงด้วยเหตุผลที่ว่า ความคิดความเห็นของคนยุคเขาอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของผู้ใช้ในปัจจุบัน แต่ถึงจะถอยออกมาแล้วพอสมควร วันฉัตรก็ยอมรับแบบแอบห่วงอยู่บ้างว่า Pantip กำลังเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาของ Social Network ชื่อดังอย่าง Facebook ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้ในเมืองไทยกว่า 10 ล้านคน* 

พูดง่ายๆ ว่าวันฉัตรเองก็ยอมรับชัดเจนว่า Facebook เป็นคู่แข่ง แต่ก็อยากจะมองโลกในแง่ดีไว้บ้างว่า ใน “ปัจจุบัน” Social Network กับเว็บบอร์ดมีความต่างตรงปัจจัยด้าน Communication กับ Concentration

1. Communication ต่างกัน ถ้าเราอยากจะหาข้อมูล หาผู้รู้ที่เกี่ยวกับเรื่องไหนเรื่องหนึ่ง เราอาจหาไม่ได้จาก Social Network เพราะ Social Network เน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อย่าง Facebook มีระบบการสร้าง Page และ Group ที่ไม่ได้มีการควบคุมดูแลชุมชนและเนื้อหาจากส่วนกลาง ในขณะที่ Pantip จัดให้ทีมงานดูแลการสื่อสารจากส่วนกลางอย่างใกล้ชิด ทำให้ Communication หรือรูปแบบของการสื่อสารแบบที่มีคนคุม กับการที่ไม่มีคนคุมจะแตกต่างกัน เนื้อหาที่มีในเว็บจึงมีคุณภาพต่างกัน

2. Concentration ของเนื้อหา วันฉัตรยกตัวอย่างของกลุ่มความสนใจเรื่องท่องเที่ยวใน Pantip ที่ชื่อว่า “Blue Planet” ที่เป็นกลุ่มของคนที่สนใจเรื่องการท่องเที่ยว Concentration ของเนื้อหาท่องเที่ยวก็จะอยู่เฉพาะในพื้นที่นั้น ในขณะที่ Facebook ประกอบไปด้วยกลุ่มของการท่องเที่ยวเล็กๆ กระจายไปนับสิบนับร้อยกลุ่ม ซึ่งวันฉัตรยกตัวอย่างว่า ถ้าใครสักคนอยากจะไปเที่ยวเชียงใหม่แล้วอยากรู้ว่ามีรีสอร์ตที่ไหนดีและถูก บริการดี วิวสวย อาจหาข้อมูลใน Facebook ยาก แต่ด้วยความที่ Pantip เป็นชุมชนออนไลน์คนไม่รู้จักก็ตอบให้กันได้ เพราะคนที่อยู่ใน Blue Planet รวมตัวกันด้วย Concentration ของเนื้อหาเดียวกัน แต่ Facebook เป็นการรวมตัวหลวมๆ อีกแบบของคนที่รู้จักกันมากกว่า

ความต่าง 2 ข้อนี้คือสิ่งที่วันฉัตรกล่าวว่ามันคือ “ปัจจุบัน” ในขณะที่ตัวเองก็ไม่ตอบในเรื่อง “อนาคต” มากนัก แต่โยนคำถามนี้ให้กับหนึ่งในทีมงาน นั่นคือ “อภิศิลป์ ตรุงกานนท์” ผู้จัดการโครงการ Pantip 3G (ชื่อย่อโค้ดเนม Pantip Third Generation) ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หลักๆ จะอยู่ที่การทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้เนื้อหาที่ผู้ใช้งาน Pantip สร้างขึ้นมามีค่าต่อสังคมออนไลน์มากที่สุด โดยแบ่งออกเป็น 2 เรื่องหลักในด้านผลิตภัณฑ์ก่อน นั่นคือ “Personalization” และ “Super Template” ดังต่อไปนี้…

Personalization คืออะไร?
ต่อไป Pantip จะเน้นเรื่อง Personalization หรือความเป็น “เฉพาะบุคคล” มากขึ้น อย่างเช่น บางคนชอบอ่านกระทู้ในห้อง Blue Planet ชอบคนชอบอ่านกระทู้ในห้องเฉลิมไทย ตามความสนใจของตัวเอง แต่มันจะต้องมีหน้าที่เป็น Dashboard ที่แสดงผลแบบ Personalization ให้ยูสเซอร์คนนั้นๆ โดยเฉพาะ อย่างเช่น ยูสเซอร์คนหนึ่งที่ปกติอาจไม่ได้อ่านกระทู้ของห้องเฉลิมไทย แต่ชอบอ่านกระทู้ของคนๆ หนึ่งที่โพสต์อยู่ในห้องเฉลิมไทย ก็เลือก Follow เฉพาะยูสเซอร์คนนั้นๆ ได้ หรือถ้าชอบแค่กระทู้นั้น ก็เลือก Follow เฉพาะกระทู้นั้น เวลามีอะไรอัพเดตมันก็จะขึ้นในหน้า Dashboard

Super Template คืออะไร?
สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปใน Pantip 3G คือ “รูปแบบกระทู้” หรือที่วันฉัตรจะเรียกกันกับทีมงานว่า “Super template” คือปกติ กระทู้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือกระทู้ปกติ กระทู้โหวต ต่อไปจะมีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น กระทู้รีวิว, กระทู้ข่าว และกระทู้ถาม-ตอบ ทุกอย่างจะเกิดจากการสังเกตพฤติกรรมผู้ใช้ อย่างกระทู้รีวิว ทีมงาน Pantip ก็จะผลักดันเรื่องการรีวิวสินค้า โดยแบ่งเป็น Consumer review หรือว่าเป็น Advertorial (โฆษณาแบบบทความที่อ่านแล้วได้ประโยชน์) มันก็จะมีกระทู้รีวิวที่แตกออกมาเป็นแบบใหม่ ในกระทู้แต่ละแบบก็จะมี Format ที่ต่างออกไปอีก เช่น กระทู้โหวต ต่อไปจะมีกราฟ จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ มาให้ใช้ กระทู้ถาม-ตอบ เป็น Q&A แบบ Yahoo! Answers ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือ ถ้าคุณเป็นคนที่ถามตอบเรื่องรถในห้องรัชดา คุณก็มีสิทธิ์ที่จะกลายเป็น Expert เรื่องรถในห้องรัชดา… ตอนนี้ทีมงาน Pantip ยังไม่ได้สรุปเรื่องฟีเจอร์ ทั้งหมดมันเกิดจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้บนเว็บ ทำให้ต่อไปมันจะมีกลไกทางสังคมมากขึ้น เช่น การให้แต้ม การคลิก “Like” ให้คนอยากถามและตอบกันมากขึ้น หรืออย่างกระทู้ข่าว ทุกความสนใจก็จะเป็นข่าวได้หมด แต่จะแตกต่างไป ฟอร์แมตที่แตกต่างกันไป ผู้ใช้ที่เป็นนักข่าวพลเมืองก็จะเข้ามาสร้างสำนักข่าวเองได้ หรือแม้กระทั่งกลายเป็นกระทู้รายงานสด

และในเรื่อง Personalization กับ Super template ที่อภิศิลป์กล่าวไปข้างต้นนี้เอง ผมจึงได้สอบถามเพิ่มเติมถึงในแง่มุมธุรกิจว่า เมื่อตั้งเป้าจะปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้แล้ว ในแง่ของการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับบริษัทจะทำได้อย่างไร เราจะเห็น Pantip เป็นอย่างไร อภิศิลป์ตอบผมแบบอ้อมๆ ไม่เฉพาะเจาะจงเสียทีเดียวว่ารูปแบบธุรกิจจะเป็นอะไร เพราะในหัวของเขามีรูปแบบทางธุรกิจหลายแบบ แต่เขายังต้องคุยกับอีกหลายฝ่าย แต่หลักๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องโฆษณา ที่เขาให้ความสำคัญกับกระทู้มากขึ้น ตอนนี้มันแบ่งเพียงแค่ความสนใจของผู้ใช้อย่างเดียว อย่างตอนนี้มีโฆษณาในกลุ่มโต๊ะเครื่องแป้ง เป็นไปได้หรือไม่ที่โฆษณาจะสัมพันธ์กับเนื้อหาในกระทู้ เช่น กระทู้หนึ่งพูดถึงน้ำหอม อีกกระทู้หนึ่งพูดถึงแป้งรองพื้น โฆษณาก็ต้องขึ้นตรงกับเนื้อหาในกระทู้ และมันอาจจะขึ้นตรงกับโปรไฟล์ของผู้ใช้เลยก็ได้

ทั้งหมดที่ผมถาม “อภิศิลป์” ไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Personalization, Super Template หรืออะไรก็ตาม ผมมองว่าแท้จริงแล้วมันก็คือเรื่องกลยุทธ์ในการปรับให้ Pantip มีความเป็น “Social” สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง ซึ่งอภิศิลป์ก็ตอบว่า เขายังมองว่า Pantip ยังมีความแกร่งกว่า Facebook ตรงความสนใจ ชุมชนนี้มีความสนใจร่วมกัน ถ้าเขาทำระบบของ Pantip ให้สมาชิกแต่ละคน “ติดตาม” หรือ “Follow” กันได้ในแบบคล้ายๆ กับ Twitter มันก็จะทำให้เรารู้ว่าคนที่ Follow กันสนใจอะไรบ้าง ระบบโฆษณาของ Pantip ก็จะยิ่งดีขึ้น เพราะแสดงผลโฆษณาได้ตรงความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ฟันธง พร้อมกับกล่าวว่า “เรายังมีฟีเจอร์ที่ยังต้องทดสอบอีกมาก”

ท้ายสุด ผมถามว่าในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมกับวันฉัตรดูอนาคตของ Pantip เขามองอนาคตมันอย่างไร อภิศิลป์ก็เผยว่า

ผมมองว่ามันจะเป็นแหล่งรวมข้อมูลความรู้มหาศาลภายใต้แบรนด์ Pantip เนื้อหาเข้มข้นวิชาการขนาดวิกิพีเดีย ไม่เล่นขนาด Facebook เราจะอยู่ตรงกลาง คือเรื่องคอนเทนท์ของยูสเซอร์ เมื่อเทียบกับ Facebook ต้องบอกว่าเนื้อหาก็ยังต่างกันเยอะ Facebook นี่คุยกับเพื่อน แต่ Pantip คือคอนเทนท์ที่ยูสเซอร์สร้างขึ้นมาเพื่อสาธาณชนมาอ่าน ระดับความตั้งใจในการเขียนก็จะแตกต่างกันไป นี่คือจุดแข็งของ Pantip ที่ต้องรักษาไว้”

*สถิติจาก SocialBakers http://www.socialbakers.com/facebook-statistics/thailand