รู้จัก Jio Health สตาร์ทอัพเวียดนามที่ KBank ร่วมลงทุน เตรียมบุกตลาด HealthTech ไทยปีหน้า

๋Jio health
“รากู ไร” ซีอีโอ Jio Health
Jio Health สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งในเวียดนามโดยมี KBank ร่วมลงทุนในการระดมทุนรอบ Series B กำลังกรุยทางสู่การเป็น HealthTech แถวหน้าของประเทศ พร้อมขยายตัวเข้าสู่ประเทศไทยและอินโดนีเซียปลายปี 2023 สตาร์ทอัพรายนี้ใช้โมเดลผสมผสานระหว่างการเป็นแพลตฟอร์มปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ร่วมกับการลงทุน “คลินิก” ออฟไลน์ด้วยตนเอง

ชั้น 1 ของศูนย์การค้า mPlaza กลางเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ เป็นที่ตั้งคลินิกแห่งแรกของ Jio Health (จีโอ เฮลธ์) สตาร์ทอัพด้าน HealthTech ในเวียดนาม สตาร์ทอัพรายนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2018 เริ่มจากการเป็นแพลตฟอร์มปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ก่อนจะมาก่อตั้งคลินิกออฟไลน์แห่งแรกเมื่อปี 2020

“รากู ไร” ซีอีโอ Jio Health ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เขาเลือกเข้ามาก่อตั้งสตาร์ทอัพในเวียดนามเพราะเห็นโอกาสการเติบโต รากูเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังระหว่างทัวร์ชมคลินิกว่า โอกาสของ HealthTech ในเวียดนาม เกิดจากระบบสาธารณสุขที่ไม่สะดวกสำหรับ ‘ชนชั้นกลาง’ ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น คนกลุ่มนี้แม้จะพร้อมจ่ายเพื่อรับการรักษาในขั้นตอน ‘จ่ายเอง’ ของโรงพยาบาลรัฐ ไม่ใช้สิทธิประกันสังคม ก็ยังต้องรอพบแพทย์ 3-4 ชั่วโมง เพื่อได้คุยกับแพทย์แค่ไม่กี่นาที

โฮจิมินห์ ซิตี้ เมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

ขณะที่เวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพุ่งทะยาน แม้แต่ในช่วง COVID-19 ระบาดซึ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ในโลกติดลบ แต่เศรษฐกิจเวียดนามก็ยังโต 2% ทางธนาคารกสิกรไทยยังประเมินด้วยว่า ช่วงปี 2021-2030 เศรษฐกิจเวียดนามจะโตเฉลี่ยปีละ 7% นั่นหมายความว่า ชนชั้นกลางเวียดนามจะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และเป็นประเทศคนหนุ่มสาวที่พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีอีกด้วย

พื้นฐานตลาดเช่นนี้ทำให้ Jio Health เกิดขึ้น โดยเป็นระบบปรึกษาแพทย์ผ่านทางวิดีโอแชท สามารถจองนัดและเข้าพบออนไลน์ จากนั้นแพทย์จะออกใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ให้ในแอปพลิเคชัน ซึ่งคนไข้จะเลือกรับยาเดลิเวอรีหรือสามารถนำไปรับยาได้ตามคลินิกที่เป็นพันธมิตรก็ได้

 

ออนไลน์ไม่พอ ขอพบแพทย์หน้า “คลินิก”

รากูอธิบายต่อว่า หลังจากเริ่มก่อตั้งและฟัง feedback จากลูกค้า แม้ว่าการพบแพทย์ทางไกลจะสะดวกแต่โรคบางโรคนั้นคนไข้ก็ต้องการ end-to-end service เพราะต้องมีการใช้เครื่องมือตรวจโรคบางอย่างที่ทำออนไลน์ไม่ได้ เช่น เอ็กซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจสายตา ทำฟัน รวมถึงการปรึกษาแพทย์แบบตัวต่อตัวเป็นบางครั้งที่จำเป็น ทำให้เริ่มก่อตั้งคลินิก Jio Health สาขาแรกในโฮจิมินห์ คลินิกแห่งนี้จะมีเฉพาะการตรวจโรค เน้นคนไข้ OPD จะต่างจากโรงพยาบาลที่รับคนไข้ IPD ได้

Jio Health
ตัวอย่างหน้าแพลตฟอร์มพบแพทย์ออนไลน์ของ Jio Health

ปัจจุบัน Jio Health มีกลุ่มการรักษาหลักๆ ที่ลูกค้าใช้บริการคือ การตรวจโรคทั่วไป กุมารเวช การผดุงครรภ์ การตรวจสุขภาพตามวงรอบ และ การรักษาโรคเรื้อรัง

เป้าหมายการขยายคลินิกปี 2022 รากูระบุว่าจะมีการขยายไปอีก 3 สาขา ให้ครบ 4 สาขา เพราะพบว่าการมีบริการคลินิกออฟไลน์ร่วมด้วยทำให้บริการได้ดีขึ้นจริง

 

เตรียมขยายเข้าไทยปลายปี 2023

Jio Health นั้นเพิ่งระดมทุนรอบ Series B ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้รับเงินลงทุนรวม 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 706 ล้านบาท) มีผู้ร่วมลงทุน ได้แก่ Heritas Capital จากสิงคโปร์, Monk’s Hill Venture จากสิงคโปร์, Fuchsia Venture ในเครือเมืองไทย กรุ๊ป และ KVision จากธนาคารกสิกรไทย

Jio Health
ห้องทำฟันในคลินิก Jio Health

รากูกล่าวว่า คาดว่าภายในปลายปี 2023 บริษัทน่าจะเริ่มขยายตัวเข้าสู่ประเทศไทยและอินโดนีเซียได้ โดยเลือกทั้งสองตลาดนี้เพราะมองว่าตลาดมีความต้องการ และประชากรมีความคล่องแคล่วทางเทคโนโลยีสูงแล้ว

บริษัทยังไม่เปิดเผยว่าจะเข้าสู่ตลาดอย่างไรและจับมือกับใครหรือไม่ แต่ถ้าดูจากโมเดลธุรกิจในเวียดนามนั้น Jio Health จะทำงานในลักษณะ B2B2C คือเน้นหาดีลกับบริษัท/องค์กรที่ต้องมีสวัสดิการให้กับพนักงาน ให้หันมาเลือกใช้สวัสดิการสุขภาพผ่านทางแพลตฟอร์มของตน จากนั้นเมื่อพนักงานทดลองใช้และชื่นชอบก็จะมีการใช้งานต่อและบอกต่อกัน ทำให้เติบโตได้ในกลุ่มรายย่อยทั่วไป

ในไทยนั้นตลาด HealthTech ในกลุ่มบริการ Telemedicine นับว่าเป็นธุรกิจที่กำลังบูมเช่นกัน มีสตาร์ทอัพหรือบริษัทต่างๆ ที่เริ่มทำตลาดแล้ว เช่น Good Doctor แอปจาก GDTT บริษัทร่วมทุนระหว่าง Ping An, Grab และ Softbank หรือแอปฯ MorDee ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มทรู Raksa แอปฯ ที่ก่อตั้งโดยคนไทยแต่ปัจจุบันกลุ่มทุนสิงคโปร์ Doctor Anywhere เข้าซื้อแล้ว หรือเครือโรงพยาบาลบางแห่งก็มีบริการพบแพทย์ออนไลน์ให้กับคนไข้แล้ว เช่น รพ.สมิติเวช, รพ.ศิริราช เป็นต้น