ตั้งแต่ที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤต ราคาน้ำมัน ประกอบกับที่เห็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนตบเท้าเข้ามาในไทยแทบจะไตรมาสละราย ขณะที่ภาครัฐเองก็ออกมาตรการสนับสนุนถึงส่วนลดต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจนักหากคนไทยจะเริ่มหันมาสนใจจะใช้งาน รถอีวี ดังนั้น เราไปดูกันว่าตลาดในตอนนี้มีค่ายไหนน่าสนใจ และทิศทางของตลาดอีวีไทยเป็นอย่างไรต่อไป
มาตรการลดคาร์บอนตัวจุดกระแสรถอีวี
ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น โดยทาง UN ได้มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงทั่วโลก 45% ภายในปี 2030 และตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยการผลักดันให้ลดใช้รถยนต์สันดาปและเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน ก็เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายประเทศทำ เนื่องจากรถยนต์แบบสันดาปเดิมนั้นปล่อยคาร์บอนเฉลี่ย 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร แต่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ไม่ปล่อยคาร์บอน
จีน ที่ถือว่าเป็นผู้นำของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นประเทศแรกที่ได้เริ่มมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถอีวีมาตั้งแต่ปี 2009 โดยในส่วนของผู้บริโภคนั้น รัฐบาลได้มี นโยบายอุดหนุนทางการเงินสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมยกเว้นในภาษีนานถึง 2 ปี โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งเสริมยอดจำหน่ายรถอีวีให้ได้สัดส่วนอย่างน้อย 60% ในปี 2035
สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ออกตัวชัดว่าให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยต้องการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 40-50% ภายในปี 2030 โดยสหรัฐฯ ก็มีนโยบายกระตุ้นโดยการมอบเครดิตภาษีให้กับชาวอเมริกันที่ซื้อรถอีวี สามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 7,500 ดอลลาร์
อย่างใน ยุโรป ทางรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ออกกฎในการ ยุติการจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในปี 2035 โดยหลายประเทศก็ออกนโยบายกระตุ้นการใช้งานรถอีวีของตัวเอง ตัวอย่างเช่น เยอรมนี ผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก ก็มีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเป็นเวลา 4 ปี
มาตรการไทยจุดสำคัญดันตลาดรถอีวี
สำหรับไทยได้วางเป้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไว้ที่ 20% ภายในปี 2030 โดยได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมกับออกนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 หรือ รถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน อีกทั้งยังลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เป็น 0% ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ ผลิตรถอีวี ในประเทศชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าช่วงปี 2022-2023 ภายในปี 2025 โดยจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 คือ นำเข้า 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศ 1 คัน
ปัจจุบัน มีค่ายรถจากจีน 3 ค่าย ลงนามร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์ ส่วนค่ายรถจากญี่ปุ่นและค่ายยุโรปหลายค่ายอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางกรมสรรพสามิตคาดว่า ค่ายรถทั้งหมดทั้งจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป กว่า 80% จะลงนามกับกรมสรรพสามิตได้หมดภายในปีนี้
แน่นอนว่า ทั้งส่วนลดและสิทธิประโยชน์ทางภาษีถือเป็นอีกส่วนที่จูงใจให้คนหันมาใช้รถอีวีมากขึ้น เพราะเทียบกันตรง ๆ รถอีวีราคาจะสูงกว่ารถยนต์สันดาป เนื่องจากต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ที่สูง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกังวลใหญ่ก่อนจะเลือกคือ สถานีชาร์จ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 จะต้องมีสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 567 แห่ง เป็น 1,304 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ
ปัจจุบัน นอกจากที่แต่ละค่ายก็มีการเร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่โชว์รูมของแบรนด์ตัวเอง ภาครัฐบาลเองก็เร่งพัฒนา โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือภาคเอกชน ติดตั้งสถานีชาร์จตามปั๊มน้ำมันและพื้นที่เอกชนทั่วไปให้ได้อย่างน้อย 140 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ ส่วน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็มีเป้าติดตั้งหัวจ่ายชาร์จไฟในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชนในกรุงเทพฯ 100 หัวจ่าย
นอกจากนี้ บริษัทบางจากฯ ร่วมมือค่ายรถ เร่งติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 500 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ หรือกลุ่ม ปตท.เร่งขยายสถานีชาร์จให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ของโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน เป็นต้น
ค่ายจีนดาหน้ายึดตลาดอีวีไทย
ซึ่งนับตั้งแต่ไทยมีนโยบายสนับสนุนรถอีวี อีกทั้งส่วนลดจากรัฐบาลที่ว่าด้วยข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-จีน ซึ่งทำให้จีนส่งรถยนต์มาที่ประเทศไทยได้อย่างปลอดภาษี จะเห็นว่า ค่ายจีน ต่างตบเท้าเข้ามามากหน้าหลายตา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น ผู้นำ ได้ไม่ยาก
เพราะปัจจุบันก็เป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกด้วยส่วนแบ่งตลาด 60% และด้วย ราคา ของรถที่มีราคาไม่ถึงล้านก็เป็นเจ้าของได้ ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นและยุโรปที่ส่วนใหญ่ราคาเริ่มต้น เกือบ 2 ล้านบาท ดังนั้น ไปดูกันว่ามีค่ายไหนบ้างที่น่าสนใจ
MG
ย้อนไปปี 2013 เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ หรือ เอสเอไอซี ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ร่วมทุนกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้ง บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยี่ห้อ เอ็มจี (MG)
ปัจจุบันรถ MG มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย 70-80% โดยส่งออกจำหน่ายไปแล้ว ได้แก่
- MG HS PHEV รถ SUV ปลั๊กอิน-ไฮบริด ราคาเริ่มต้น 1,359,000 บาท
- MG ZS EV รถยนต์ SUV ไฟฟ้า 100% ราคาเริ่มต้น 1,190,000 บาท
- MG EP EV Plus รถ Station Wagon ไฟฟ้า 100% ราคาเริ่มต้น 998,000 บาท
GWM
เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor : GWM) ถือเป็นค่ายที่ถูกจับตามองตั้งแต่เข้าไทยในปี 2021 เนื่องจากเป็นผู้ที่เข้ามาซื้อโรงงานต่อจาก General Motor (GM) หรือแบรนด์ เชฟโรเลต ที่ได้ม้วนเสื่อเลิกกิจการในไทยไป พร้อมกันนี้ ค่าย GWM ยังปักธงชัดว่าจะเดินหน้าทำตลาดอีวีโดยเฉพาะ พร้อมกับหอบเงินลงทุนมาถึง 22,600 ล้านบาท
โดยค่าย GWM นั้นมีรถ 4 แบรนด์ย่อย ได้แก่ HAVAL (ฮาวาล) แบรนด์รถเอสยูวี WEY (เวย์) แบรนด์รถเอสยูวีลักชัวรี ORA (โอรา) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า และ GWM POER (จีดับเบิลยูเอ็ม พาวเออร์) แบรนด์รถกระบะ สำหรับประเทศไทย GWM เปิดตัวรถแล้ว 3 รุ่น จาก 2 แบรนด์ มียอดขายรวมทั้งหมด 8,921 คัน ได้แก่
- Haval H6 ราคาเริ่มต้น 149 ล้านบาท (ยอดขายสะสม 4,859 คัน)
- Haval Jolion ราคาเริ่มต้น 879,000 บาท (ยอดขายสะสม 2,198 คัน)
- Ora Good Cat ราคาเริ่มต้น 828,500 บาท (ยอดขายสะสม 1,864 คัน)
NETA
สำหรับค่าย NETA AUTO หรือ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพด้านยานยนต์ไฟฟ้า 100% อีกรายของจีนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 จนมาปี 2018 ทางค่ายก็ออกรถรุ่นแรกในชื่อ NETA No1 (เนต้า นับเบอร์ 1) รถอีวีครอสโอเวอร์ 100% จากนั้นในปี 2020 ก็ได้เปิดตัว NETA U รถ SUV ไฟฟ้า และ NETA V รถซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ และในปี 2022 นี้ ทางค่ายก็เปิดตัวรถอีวีรุ่นล่าสุด NETA S รถซีดาน
ความน่าสนใจของ NETA คือ ภายในระยะเวลา 4 ปี มียอดจำหน่ายรถยนต์รวมกว่า 170,000 คัน โดยในปี 2021 นั้นมีเติบโตสูงกว่า 362% และสำหรับการรุกตลาดโลก NETA ก็ได้เลือกไทยเป็นประเทศแรก โดยได้จัดตั้ง บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด (Neta Auto (Thailand) Co., Ltd.) พร้อมกับจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ให้เป็น ผู้ผลิตรถยนต์ในไทย โดยได้เปิดตัวรถรุ่นแรก NETA V เพื่อมาจับตลาด ซิตี้คาร์ หรือ อีโคคาร์ โดยราคาหลังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะเริ่มต้นอยู่ที่ 549,000 บาท
BYD
BYD (บีวายดี) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนด้วยยอดขาย 641,000 คัน ในครึ่งแรกของปี 2022 ถือเป็นเบอร์ 1 ของจีน ซึ่งในประเทศไทย BYD ได้ถูกนำเข้าและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวโดย บริษัท เรเว่ ออโตเมทีฟ จำกัด (RÊVER AUTOMOTIVE) ซึ่งมี ประธานวงศ์ และ ประธานพร สองพี่น้องของตระกูล พรประภา ถือหุ้นและลงทุน 100% ซึ่งในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จะคุ้นกับนามสกุลเป็นอย่างดี เพราะทั้งคู่เป็นทายาทของ กลุ่มสยามกลการ
สำหรับรถยนต์รุ่นแรกของ BYD นั้นจะได้เห็นภายในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งทางบริษัทยังไม่เปิดเผยว่าจะเป็นรุ่นไหน เพียงแต่บอกว่าจะเป็นรุ่นที่อยู่ในกลุ่ม Ocean series ซึ่งในซีรีส์ดังกล่าวมีทั้งหมด 3 รุ่น ดังนั้น ใครที่สนใจก็ต้องอดใจรออีกนิดนะ
อีวี ไพรมัส
อีกหนึ่งตระกูลที่คร่ำหวอดในตลาดอะไหล่รถยนต์มานานกว่า 50 ปี อย่าง ธนาดำรงศักดิ์ เจ้าของบริษัท บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ หรือ FPI ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดรถอีวี โดย พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ได้ก่อตั้ง บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด พร้อมวางตัวเองเป็น ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามัลติแบรนด์ (Multi-Brand EV Distributor) เนื่องจากแบรนด์รถอีวีจีนนั้นมีหลายสิบแบรนด์ บริษัทได้เปิดตัวแบรนด์ที่จะนำเข้ามาเบื้องต้น 3 แบรนด์ ได้แก่ DFSK, SERES และ VOLT
โดย อีวี ไพรมัส เตรียมเงินลงทุน 400 ล้านบาท ใช้ในการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโรงงานดังกล่าว มีพื้นที่ 20 ไร่ มีกำลังการผลิต อีวี 4,000 คัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2023
Tesla จ่อเข้าไทย
ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก อย่าง เทสลา (Tesla) มีข่าวลือว่าจะเข้าไทยอย่างเป็นทางการ หลังมีการยื่นจดทะเบียน บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 เพื่อขายรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง และระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน ภายใต้ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท
แต่ไม่ใช่แค่นั้นเพราะ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า Volkswagen (โฟล์คสวาเกน) คู่แข่งรายสำคัญของเทสลา ก็อยู่ระหว่างตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่นกัน ดังนั้น อาจต้องจับตาดูอีกทีว่า 2 ค่ายใหญ่ฝั่งยุโรปจะเข้ามาสู้กับแบรนด์จีนที่กำลังรุกตลาดไทยเมื่อไหร่
ค่ายญี่ปุ่นไม่เชื่อในรถอีวี 100%?
สำหรับค่ายญี่ปุ่นที่ครองส่วนแบ่งการตลาดจากรถยนต์สันดาปมากถึง 82% ของประเทศไทย แต่ในตลาดอีวีกลับไม่ค่อยเห็นความเคลื่อนไหว โดยค่ายอันดับ 1 ของไทยอย่าง โตโยต้า แม้จะออกมาสนับสนุนมาตรการ EV ของรัฐบาลไทย แต่ก็ทำแค่เอา Toyota bZ4X รถอีวี 100% ของค่ายมาอวดโฉมเรียกกระแสแต่ยังไม่เปิดเผยราคา และคาดว่าจะนำเข้ามาก็ไตรมาส 4 ปีนี้ หรืออย่าง New NISSAN LEAF 2022 ของ นิสสัน นอกนั้นก็ยังไม่ค่อยมีให้เห็น ส่วนใหญ่จะเป็น รถไฮบริด มากกว่า
โดยความเห็นจากผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามองว่า ที่ค่ายรถญี่ปุ่นไม่เน้นพัฒนารถอีวี 100% แต่เน้นหนักไปที่รถไฮบริดเป็นเพราะ ไม่เชื่อมั่นว่ารถไฟฟ้า 100% จะตอบโจทย์ โดยมีแนวคิดว่าเป็นสัดส่วนไฟฟ้า 80% และน้ำมัน 20% ตอบโจทย์มากกว่า รวมถึงการพัฒนาและ รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน
คาดยอดขาย BEV ทะลุ 1 หมื่นคัน
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ของยอดขายรวม รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยจะมีมากกว่า 1 หมื่นคัน หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 412% จากปี 2021 โดย รถยนต์ไฟฟ้าจีน มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่กว่า 80% และคาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าฝั่งยุโรปจะได้ส่วนแบ่งราว 14% และค่ายญี่ปุ่นอยู่ที่ 5% เนื่องจากจีนได้เข้ามารุกตลาดไทยอย่างรวดเร็ว
แม้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ถือว่ายังตลาดยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ดังนั้น อาจต้องรอดูว่าในปีต่อ ๆ ไปภาพของตลาดจะเป็นอย่างไร และเป้าหมายของ บอร์ดอีวี ที่ตั้งเป้าผลิตรถอีวี 100% ให้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่