โมเดลใหม่ของ “ดองกิ” ที่ธนิยะ สีลม “ไซส์เล็ก” หาพื้นที่เปิดสาขาได้ง่ายขึ้น

ดองกิ ธนิยะ สีลม
(ซ้าย) “ศลิษา นภาธร” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ธนิยะ กรุ๊ป และ (ขวา) “โยซูเกะ ชิมานุกิ” ประธานกรรมการ บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด
  • “ดองกิ” ประกาศเปิดสาขาที่ 7 ที่ตึกธนิยะพลาซา สีลม ปรับโมเดลแบบใหม่ “ไซส์เล็ก” พื้นที่ 1,200 ตร.ม. ลดจากปกติครึ่งหนึ่ง เพื่อหาพื้นที่เช่าเข้าจุดสำคัญที่เป็นเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
  • ตึกธนิยะ สีลมรีโนเวตเสร็จแล้ว 80-90% พร้อมเปิดต้นปี 2566 พร้อมกับดองกิ โดยการมาของดองกิถือเป็น ‘แม่เหล็ก’ สำคัญ ทำให้ธนิยะเปิดตัวเป็นไลฟ์สไตล์ มอลล์ได้เต็มตัว เพิ่มจุดขายจากเดิม
  • แผนระยะยาวถึงปี 2568 ของดองกิ ลดเป้าหมายเปิดสาขาสะสมลงเหลืออย่างน้อย 12 สาขา เนื่องจากช่วง COVID-19 มีการชะลอการเปิดใหม่

มากกว่า 3 ปีในไทยของรีเทลสัญชาติญี่ปุ่น “ดอง ดอง ดองกิ” เพิ่งประกาศการลงทุนสาขาที่ 7 ที่ตึกธนิยะพลาซา สีลม ถือเป็นอีกหนึ่งสาขาใจกลางกรุงเทพฯ หลังเปิด 6 สาขาแรก ได้แก่ ทองหล่อ, เดอะ มาร์เก็ต ราชดำริ, ซีคอน ศรีนครินทร์, MBK Center, ซีคอน บางแค และเจพาร์ค ศรีราชา (*เปิดกันยายน 65)

สาขาใหม่ที่ธนิยะนี้ถือว่ามีความแปลกใหม่ในแง่ของขนาดพื้นที่ เพราะมี “ไซส์เล็ก” กว่าปกติ โดย “โยซูเกะ ชิมานุกิ” ประธานกรรมการ บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปกติดองกิจะมีพื้นที่ประมาณ 2,000-3,000 ตร.ม. แต่สาขาธนิยะ สีลม มีพื้นที่ 1,200 ตร.ม. ซึ่งเล็กกว่าปกติราวครึ่งหนึ่ง ทำให้สินค้าที่วางขายได้จะลดเหลือ 4,000-6,000 SKUs จากปกติวางได้สูงสุด 12,000 SKUs

ที่ดองกิต้องยอมปรับเปลี่ยนโมเดลร้านให้เล็กลง เพราะการหาพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปในบางย่านไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างในย่านสีลมที่ดองกิมองว่ามีลูกค้ารออยู่แน่นอน จึงต้องยอม ‘ลดไซส์’ ทั้งนี้ ที่สิงคโปร์เคยมีดองกิไซส์เล็กเพียง 1,000 ตร.ม. มาแล้ว ทำให้คาดว่าโจทย์การหาพื้นที่เช่าขนาดใหญ่ได้ยากขึ้นน่าจะทำให้ดองกิมีสาขาไซส์เล็กออกมาให้เห็นอีก

เมื่อเป็นไซส์เล็ก วางของขายได้น้อยลง ความท้าทายของดองกิจึงเป็นการหาสินค้าที่ลูกค้าจะชอบได้อย่างแม่นยำ และต้องปรับเปลี่ยนสินค้าเร็วถ้ายอดขายไม่เป็นไปตามคาด

donki

สำหรับสาขาธนิยะพลาซา โยซูเกะมองว่าพื้นที่นี้มีความพิเศษที่เป็นทั้งย่านพนักงานออฟฟิศในช่วงกลางวัน และย่านสังสรรค์ในช่วงกลางคืน และมีพนักงานออฟฟิศชาวญี่ปุ่นในพื้นที่มาก ดังนั้น สาขานี้จะเปิด 24 ชั่วโมง เพื่อรับดีมานด์ที่มีตลอดทั้งวัน

ส่วนสินค้าที่ขายจะเน้น “อาหาร” เป็นพิเศษ โดยมีโซนโมบายฟู้ดขายสินค้า Grab&Go เช่น มันเผา ขนมปัง ปิ้งย่างเสียบไม้ เหมาะกับพื้นที่ที่คนผ่านไปมารวดเร็ว ต้องการความสะดวก

รวมถึงจะมีร้าน Sen Sen Sushi สาขาที่ 2 ในไทย (สาขาแรกอยู่ที่ดองกิ ศรีราชา) เป็นร้านอาหารที่นำเข้าวัตถุดิบสดจากญี่ปุ่น และสาขานี้ก็จะเปิด 24 ชั่วโมงเหมือนกับตัวสโตร์

 

แม่เหล็กใหม่ของ “ธนิยะ”

ฝั่งธนิยะซึ่งเป็นแลนด์ลอร์ดของสาขาใหม่ เพิ่งจะลงทุนรีโนเวตครั้งใหญ่ตึกธนิยะ สีลมพร้อมรับการมาของดองกิ “ศลิษา นภาธร” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ธนิยะ กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจุบันธนิยะรีโนเวตเสร็จแล้ว 80-90% ส่วนที่รีโนเวตแล้วพร้อมให้บริการ มีร้านค้าทั้งผู้เช่าเดิมและผู้เช่าใหม่

ส่วนที่เหลืออยู่นั้นคือตึก B (ติดบีทีเอส) ซึ่งเป็นจุดที่ดองกิจะเข้ามา ทำให้ตึกจะพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงต้นปี 2566 พร้อมกับดองกิ

ธนิยะ สีลม รีโนเวตเสร็จไปแล้ว 80-90%

“เดิมเราเป็นโมเดลเซ้ง แต่หลังรีโนเวตเราจะปรับเป็นไลฟ์สไตล์ มอลล์เต็มตัว ความหมายคือเหมือนห้างใหญ่ทั่วไปคือจะมีการโปรโมต มีการสร้างกิจกรรมดึงคนเข้ามาในศูนย์การค้าอย่างสม่ำเสมอ” ศลิษา “ดองกิก็จะเป็นแม่เหล็กใหญ่ร้านหนึ่งในการเปลี่ยนเราเป็นมอลล์ ดึงคนเข้ามาได้มาก”

ศลิษากล่าวว่า ปัจจุบันทราฟฟิกเข้าตึกธนิยะมีประมาณ 3,000-5,000 คนต่อวัน แต่เชื่อว่าหลังดองกิเปิดน่าจะดึงคนเข้ามาได้มากกว่านั้น เนื่องจากปกติสถานี BTS ศาลาแดงมีผู้โดยสารวันละกว่า 100,000 คน รวมถึงขณะนี้บริษัทเริ่มกลับมาทำงานออนไซต์แล้ว และนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาแล้วเช่นกัน ทำให้สีลมคึกคักดังเก่า

 

ลดเป้าเหลือ 12 สาขา ภายในปี 2568

ด้านแผนอนาคตของดองกิ โยซูเกะกล่าวว่า การลงทุน 7 สาขาขณะนี้ถือว่าช้ากว่าแผน เนื่องจากช่วง COVID-19 บริษัทมีการชะลอการเปิดสาขาใหม่ไป ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้า

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทกลับมาทำตามแผนได้แล้วนั่นคือการเปิดใหม่ปีละอย่างน้อย 3 สาขา ทำให้ภายในปี 2568 คาดว่าจะมีดองกิในไทยอย่างน้อย 12 สาขา (ลดจากเดิมเคยตั้งเป้าไว้ที่ 20 สาขา)

สาขาล่าสุดที่เปิดบริการ ดองกิ ซีคอน บางแค

กรณีทำเลการเปิดสาขาใหม่ โยซูเกะยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยังคงย้ำตามแผนเดิมว่าจะเป็นการหาพื้นที่ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น

โยซูเกะเชื่อว่ากำลังซื้อไทยยังมีอยู่ ดองกิยังมีพื้นที่ให้ขยายสาขา รวมถึงคนไทยยังคงชื่นชอบสินค้าญี่ปุ่น ทำให้ยอดขายของปีนี้แทบไม่ตกลงเลย แม้ว่าจะมีปัญหาค่าครองชีพสูงเกิดขึ้นก็ตาม

 

เร่งยอดขายด้วยการ “รีวิว” และ “แนะนำสินค้า”

เมื่อสาขาเปิดได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ดองกิจะหันมาเร่งยอดซื้อให้มากขึ้นแทน โดยมีการเปิด 2 ฟีเจอร์ใหม่ในแอปพลิเคชัน DONKI ได้แก่

  • สมาชิกของดองกิ สามารถ “รีวิว” สินค้าในร้านได้
  • สามารถสแกนที่ตัวสินค้าในร้าน เพื่ออ่านรายละเอียดวิธีการใช้งาน เช่น หม้อแบบญี่ปุ่น ต้นหอมญี่ปุ่น ทำให้คนไทยเข้าใจวิธีใช้หรือวิธีปรุงของญี่ปุ่นได้ดีขึ้น

ทั้งสองฟีเจอร์นี้จะเห็นได้ว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อ และลูกค้าเข้าใจสินค้ามากขึ้น ซึ่งน่าจะนำไปสู่ยอดขายที่สูงขึ้นด้วย

โมเดลการ “ลดไซส์” ของร้านค้าที่ปกติเน้นร้านขนาดใหญ่ยังเกิดขึ้นกับ “อิเกีย” ด้วยเช่นกัน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >> “อิเกีย สุขุมวิท” เหมาชั้น 3 ของ Emsphere ของครบเหมือนสาขาใหญ่ เตรียมเปิดปลายปี 66