หลังจีนประกาศแบนนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เนื่องจากการปล่อยน้ำจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทร ทำให้ประมงญี่ปุ่นต้องหาทางส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นแทน หนึ่งในเป้าหมายนั้นคือ Don Quijote หรือ “ดองกิ” เชนดิสเคานต์สโตร์ที่ขยายไป 38 สาขาทั่วเอเชีย (รวมไทย) จะรับ “หอยเชลล์” จากฮอกไกโดเข้ามาจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนนี้
Pan Pacific International Holdings (PPIH) บริษัทผู้บริหารกิจการ Don Quijote หรือ “ดอง ดอง ดองกิ” ที่คนไทยรู้จัก เตรียมนำ “หอยเชลล์” จากฮอกไกโด และอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายเพิ่มในดองกิ 38 สาขาทั่วเอเชีย นำร่องในสาขาประเทศไทยและมาเลเซีย รวมถึงจะใช้ในการทำซูชิหน้าหอยเชลล์ในร้าน Sen Sen Sushi ที่ตั้งอยู่ในดองกิด้วย
ปัจจุบันดอง ดอง ดองกิมีจำหน่ายในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ใน 6 เขตปกครอง ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า
ที่ผ่านมาร้านอาหารและค้าปลีกญี่ปุ่นต่างพยายามกระตุ้นการบริโภคอาหารทะเลภายในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาหลังจีนแบนอาหารทะเลญี่ปุ่นไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2023
โดยบริษัท PPIH เป็นหนึ่งในบริษัทที่หาทางออกเพิ่มเติม นั่นคือการช่วยส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศอื่น เพราะ PPIH เป็นผู้ก่อตั้งสมาคม Pan Pacific International Club สมาคมที่รวมสมาชิกเกษตรกรประมงและผู้ผลิตอาหารทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการส่งออกอาหารทะเลญี่ปุ่น เป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายการส่งออกอาหารทะเลสดไปยังตลาดเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบท่าเรือและสนามบินต่างๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ PPIH เริ่มโครงการช่วยระบายสต็อกหอยเชลล์จากจังหวัดมิยางิแล้วในมาเลเซีย โดยการจัดอีเวนต์ขายหอยเชลล์ 3 วันในดองกิ มาเลเซีย
“เราจะช่วยขยายการส่งออกอาหารทะเลด้วยการจัดอีเวนต์ไปทุกที่ สร้างการรับรู้ในสินค้าของเรา” อิชิโระ มิยาชิตะ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นกล่าว
จีนเริ่มแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เพื่อตอบโต้ที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำหลังการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิลงสู่ทะเล จากข้อมูลการส่งออกของญี่ปุ่น การส่งออกอาหารทะเลสดของญี่ปุ่นไปยังประเทศจีนมูลค่าตกลง 75.7% ทันทีในเดือนสิงหาคม 2023 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
คาดว่าการปล่อยน้ำหลังบำบัดจากโรงไฟฟ้ารอบที่สองจะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ และจะใช้เวลาปล่อยน้ำทั้งหมด 17 วัน
สำหรับการกระตุ้นการขายอาหารทะเลในประเทศของญี่ปุ่น มีการร่วมแรงร่วมใจจากเอกชนหลายบริษัท เช่น Aeon และ Seven-Eleven ค้าปลีกที่เพิ่มปริมาณรับซื้อหอยเชลล์เข้าไปขายในร้านและช่วยโปรโมตให้ รวมถึงภาคธุรกิจร้านอาหาร เช่น Watami เจ้าของร้านอิซากายะ และ Kura Sushi ร้านซูชิจานเวียน ที่นำหอยเชลล์ฮอกไกโดเข้าไปจำหน่ายมากขึ้น