“หอยเชลล์” ญี่ปุ่นทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น 4.6 เท่าเมื่อไตรมาสก่อน ตลาดทดแทนหลังถูก “จีน” แบนนำเข้า

หอยเชลล์ ดองกิ
(Photo: Shutterstock)
บริษัทจัดจำหน่ายอาหารทะเลจากญี่ปุ่นต้องดิ้นรนเพื่อแก้ปัญหาการแบนของ “จีน” ตั้งแต่ปีก่อน โดยตลาดที่ญี่ปุ่นเบนเข็มมาหาคือกลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ “ไทย” ที่นำเข้า “หอยเชลล์” ฮอกไกโดเพิ่มขึ้นถึง 4.6 เท่า ขณะที่ “เวียดนาม” กลายเป็นฐานผลิตแห่งใหม่แทนจีน

“จีน” เริ่มแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 หลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิเริ่มปล่อยน้ำเสียหลังการบำบัดลงสู่ทะเล จนถึงขณะนี้มีการปล่อยน้ำหลังการบำบัดลงทะเลไปแล้ว 3 รอบ และยังไม่พบสัญญาณว่ามีรังสีนิวเคลียร์มากผิดปกติทั้งในน้ำและในสัตว์น้ำที่จับได้ตามแนวชายฝั่งฟุกุชิมะ แต่ทางการจีนก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะปลดล็อกอนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นได้

สินค้าสำคัญที่ถือว่าเป็นปัญหามากจากการแบนครั้งนี้คือ “หอยเชลล์” เนื่องจากตลาดรับซื้อ 70% ของหอยเชลล์ญี่ปุ่นคือจีน เมื่อจีนแบนนำเข้าทำให้หอยเชลล์จำนวนมหาศาลจะกลายเป็นซัพพลายเกินขนาด

รวมถึงในอดีต จีนเป็นแหล่งโรงงานผลิตหอยเชลล์ หอยสดใหม่ที่จับจากทะเลญี่ปุ่นจะถูกส่งไปผลิตที่จีนก่อนส่งออกต่อไปยังทวีปอเมริกาเหนือ แต่เมื่อจีนแบนอาหารทะเลทั้งหมด ซัพพลายเชนส่วนนี้ก็ขาดหายไปเช่นกัน

Foodison Inc. บริษัทจัดจำหน่ายอาหารทะเลของญี่ปุ่น จึงต้องหาทางออกให้กับปัญหาทั้งสองเรื่อง โดยเรื่องซัพพลายเชนการผลิต ในที่สุดบริษัทได้ข้อตกลงเปลี่ยนไปใช้โรงงานผลิตใน “เวียดนาม” ทดแทน ส่งตรงหอยเชลล์จากทางเหนือของเกาะฮอกไกโดไปผลิตที่เวียดนามก่อนจะส่งกลับมาขายในญี่ปุ่น หลังจากเซ็นดีลไปเมื่อเดือนมกราคม 2024 หอยเชลล์ลอตแรก 23 ตันจะถูกส่งไปเวียดนามช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ส่วนปัญหาตลาดรับซื้อ ทางบริษัทจัดจำหน่ายต่างๆ ล้วนมุ่งตรงมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตัวเลขจากกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นพบว่า การส่งออกหอยเชลล์เมื่อไตรมาสที่ผ่านมา (กันยายน-ธันวาคม 2023) ส่งไปประเทศ “ไทย” เพิ่มขึ้นถึง 4.6 เท่า และส่งไปประเทศ “เวียดนาม” เพิ่มขึ้น 3.3 เท่า

อย่างไรก็ตาม ไตรมาสก่อนการส่งออกหอยเชลล์ญี่ปุ่นมีการส่งออกเพียงแค่ 13,019 ตันเท่านั้น คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของที่เคยส่งออกได้เมื่อไตรมาสเดียวกันของปี 2022

ทางการญี่ปุ่นระบุว่าบริษัทต่างๆ กำลังหาทางส่งออกหอยเชลล์จากการผลิตในโรงงานแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังทวีปอเมริกาเหนือให้ได้ ก่อนที่ดีมานด์หรือตลาดจะถูกแย่งชิงไปหมด

ด้านการชดเชยให้กับบริษัทด้านอาหารทะเลและเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบเนื่องมาจากชื่อเสียงที่ไม่ดีของการปล่อยน้ำหลังการบำบัดจากโรงงานไฟฟ้า TEPCO บริษัทผู้รับผิดชอบโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ มีการจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทเหล่านี้ไปแล้ว 4,200 ล้านเยน (ประมาณ 1,000 ล้านบาท)

ส่วนทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีเงินกองทุนสนับสนุนเตรียมไว้อีก 8 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 19,000 ล้านบาท) ซึ่งปัจจุบันเงินกองทุนนี้มีการจ่ายจริงไปแล้ว 7,900 ล้านเยน (ประมาณ 1,880 ล้านบาท) เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้หาตลาดใหม่ได้ และจ่ายอีก 5,500 ล้านเยน (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง

TEPCO ยังเตรียมจะปล่อยน้ำหลังการบำบัดจากโรงไฟฟ้าอีกเป็นรอบที่ 4 ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยรอบนี้จะปล่อยน้ำออกมาอีก 7,800 ตัน และปล่อยในทะเลห่างจากชายฝั่งไปประมาณ 1 กิโลเมตร

Source