-
IPSOS จัดการสำรวจผู้บริโภค 6 ประเทศใน SEA รวมไทย ช่วงหลังโควิด-19 ระลอกที่ 6 พบว่า ปัจจัย “เงินเฟ้อ” กลายเป็นความกังวลสูงสุดแทนที่สถานการณ์โรคระบาด
-
ผลกระทบทางการเงินทำให้สินค้า-บริการบางกลุ่มถูกตัดหรือชะลอการใช้จ่าย ที่หนักที่สุด คือ การท่องเที่ยว กิจกรรมบันเทิง เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ และเสื้อผ้า
-
เพราะต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกตัดสินใจซื้อตาม “ผู้เชี่ยวชาญ” ในสินค้าหมวดนั้นๆ มากกว่าอินฟลูเอนเซอร์ทั่วไป
สถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่ปัจจัยลบสูงสุดอย่างที่เคยเป็นอีกแล้ว สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือภาวะ “เงินเฟ้อ” ที่ทำให้ผู้บริโภคกังวลกับการใช้จ่าย
“ภาคี เจริญชนาพร” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาด บริษัท อิปซอสส์ จำกัด (Ipsos Ltd.) เสนอข้อมูลจากการวิจัยชุด “SEA AHEAD Wave 6” เป็นการสำรวจผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคหลังผ่านโควิด-19 ซึ่งครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 6 ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 จัดสำรวจใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน
ข้อมูลวิจัยทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้บริโภคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้
โควิด-19 ไม่กังวลเท่าไหร่ ความท้าทายใหม่คือ “เงินเฟ้อ”
จากการสำรวจเฉลี่ยรวม 6 ประเทศ พบว่า 71% เชื่อมั่นกับการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 แต่ถ้าแยกเป็นประเทศๆ ไปแล้ว “ไทย” จะเชื่อมั่นน้อยที่สุดคือมีเพียง 55% ที่มั่นใจกับการจัดการโควิด-19 (อาจเกิดจากประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการช้ากว่า ในช่วงที่สำรวจยังไม่มีการยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัย)
อย่างไรก็ตาม ภาคีให้ความเห็นว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ไปจนถึงสิ้นปี ความกังวลของคนไทยต่อโควิด-19 น่าจะลดน้อยลงตามลำดับ ดูจากจำนวนคนที่เข้าร่วมงานอีเวนต์สาธารณะต่างๆ ที่มีคนหนาแน่น เช่น งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ปี 2565
แม้โควิด-19 ดูจะผ่อนคลายลงแล้ว แต่ปัจจัยใหม่ที่เข้ามาสร้างความกังวลต่อการใช้จ่ายแทนที่คือ “ปัจจัยทางเศรษฐกิจ”
73% ของคนไทยมองว่าขณะนี้ “เศรษฐกิจไม่ดี” ซึ่งสาเหตุมาจาก “เงินเฟ้อ” ที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก และมีถึง 95% ที่รู้สึกได้ว่าเงินเฟ้อ “มีผลกระทบ” บางส่วนหรืออย่างมากต่อราคาสินค้าที่จ่ายไป
เงินเฟ้อจึงไม่ใช่แค่ตัวเลขรายงานทางเศรษฐกิจ แต่ผู้บริโภครู้สึกได้จริง และจะมีผลต่อการควบคุมการใช้จ่ายส่วนตัว
“ท่องเที่ยว-บันเทิง” กระทบก่อน
เมื่อถามต่อว่า สินค้าอะไรที่รู้สึกได้ว่าราคาสูงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ สำหรับคนไทย 3 อันดับแรกที่ขึ้นราคาสูง คือ 1.อาหารและพลังงาน 2.ของใช้ส่วนตัว 3.เครื่องดื่ม
ส่วนสินค้าที่รู้สึกว่าราคาขึ้นน้อยที่สุดสำหรับคนไทย คือ 1.การศึกษา (ค่าเทอม) 2.ท่องเที่ยว 3.ยาสูบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสินค้าที่ราคาปรับขึ้นสูงเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต ทำให้สินค้าที่ผู้บริโภคเริ่ม “รัดเข็มขัด” ใช้จ่ายน้อยลงแล้วเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2565 ได้แก่ 1.ท่องเที่ยวต่างประเทศ 2.ท่องเที่ยวในประเทศ 3.กิจกรรมบันเทิง-วัฒนธรรม 4.เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ 5.เสื้อผ้าแฟชั่น
เห็นได้ว่าสินค้าที่กระทบก่อนเพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นน้อยกว่าในชีวิตประจำวัน หรือเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ราคาสูงที่ผู้บริโภคทั่วไปไม่พร้อมจ่ายเงินก้อนในยามนี้
ภาคีกล่าวว่า สินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้มีการจัดโปรโมชันลด แลก แจก แถม กันมาระยะหนึ่งแล้ว และดูเหมือนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะทำให้ต้องจัดโปรฯ กันอย่างต่อเนื่อง
นักการตลาดต้องทำอย่างไร?
IPSOS แนะนำให้พิจารณาสินค้าของแบรนด์นั้นๆ ก่อนว่าเป็นอย่างไรในภูมิทัศน์เหล่านี้
1.สินค้าของคุณจำเป็นต้องมีในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไหม
2.สินค้าคุณทดแทนได้ด้วยสินค้าอื่นหรือแบรนด์อื่นไหม
3.สินค้าในหมวดเดียวกับคุณมีการขึ้นราคากันทั้งอุตสาหกรรมไหม
หากพบว่าสินค้าของคุณมีความเสี่ยงจาก “เงินเฟ้อ” เป็นสินค้าที่ไม่ใช่ของจำเป็น และยังมีคู่แข่งจำนวนมากอีก เพื่อจะชิงกำลังซื้อให้ได้ จำเป็นต้องมีความแตกต่าง
โดยงานวิจัยพบว่าความต่างที่จะดึงกำลังซื้อคือ “คุณค่า” และ “ภาพลักษณ์” เพราะ 74% ของคนไทยมักจะซื้อสินค้าแบรนด์ที่สะท้อนคุณค่าส่วนบุคคลของตนเอง และ 71% ของคนไทยจะยอมจ่ายมากกว่าเพื่อแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ดึงดูดใจพวกเขา
เลือกอินฟลูฯ เฉพาะทางให้เหมาะกับสินค้า
นอกจากนี้ การวิจัยครั้งนี้ยังพบความเปลี่ยนแปลงในด้านการรับข้อมูลเพื่อตัดสินใจซื้อด้วย โดย 69% ของคนไทยต้องการ “ผู้เชี่ยวชาญ” มาบอกว่าควรจะซื้ออะไร
ภาคีอธิบายว่า การเลือกอินฟลูเอนเซอร์ในยุคนี้ไม่ควรจะเลือกจาก ‘ตัวเลข’ ยอดผู้ติดตามหรือยอดเข้าชมเท่านั้น แต่ควรลงลึกว่าผู้บริโภคให้ความเชื่อถืออินฟลูเอนเซอร์คนนั้นมากแค่ไหน ความเชี่ยวชาญของอินฟลูฯ ตรงกับสินค้าของบริษัทไหม
ปัจจุบันวงการอินฟลูฯ มีการแยกย่อยไปในหมวดที่ถนัดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แบรนด์ควรจะคัดสรรให้ตรงจุด เช่น ผลิตภัณฑ์การเงิน ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรจะเลือกอินฟลูฯ ที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ
คนไทยมอง “อนาคต” ในเชิงบวก
ข่าวดีเรื่องหนึ่งจากการวิจัยครั้งนี้คือ มุมมองต่ออนาคต 6 เดือนข้างหน้าของคนไทยที่ดูจะไปในทางบวกหรือทรงตัว จากตัวเลขเหล่านี้
47% มองว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น
31% มองว่าเศรษฐกิจน่าจะทรงตัว
23% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงกว่าเดิม
ถ้าถามเจาะจงถึงการเงินส่วนบุคคล สถานะการเงินภายในครอบครัว คนไทยมองว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า…
51% เชื่อมั่นว่าจะดีขึ้น
32% มองว่าน่าจะทรงตัว
17% เชื่อว่าจะแย่ลงกว่าเดิม
เห็นได้ว่าขณะนี้สถานการณ์อาจจะดูไม่ค่อยดี และทำให้คนไทยรัดเข็มขัด ไม่กล้าตัดสินใจซื้อของชิ้นใหญ่ แต่คนไทยก็ยังมองอนาคตในแง่ดีเป็นส่วนใหญ่ ภาคียังกล่าวด้วยว่า ด้วยหน้าเทศกาลช่วงปลายปีนี้ และการท่องเที่ยวไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะทำให้มู้ดผู้บริโภคเป็นไปในเชิงบวกมากขึ้นได้