Motto แอปฯ ใหม่จาก Joel Simkhai ผู้ก่อตั้งแอปฯ Grindr ต้องการสร้างสังคมใหม่ในการหาคู่เดตออนไลน์ ลดพฤติกรรม ‘เป็นพิษ’ ที่คุ้นเคยกันในแอปฯ ชาวเกย์ แต่ฟังก์ชันใหม่ๆ ที่จะมีในแอปฯ อาจนำมาซึ่งคำถามว่า แอปฯ จะประสบความสำเร็จเป็นวงกว้างได้จริงหรือ?
Joel Simkhai ก่อตั้งแอปพลิเคชัน Grindr ขึ้นเมื่อปี 2009 และกลายเป็นแอปฯ ที่เปลี่ยนวิธีการหาคู่เดตของกลุ่ม LGBTQ+ ไปโดยสิ้นเชิง หลังจากนั้นเขาขายแอปฯ Grindr ให้บริษัทเทคจีน Kunlun Tech ไปเมื่อปี 2016
“(Grindr) ยังคงเป็นหนทางให้ผู้คนได้มาเจอกัน และแอปฯ ก็มีผู้ใช้งานจำนวนมากแล้ว ดังนั้นก็ถือว่ามีประสิทธิภาพในการใช้งาน” Simkhai กล่าวกับสำนักข่าว Fast Company “ปัญหาคือแอปฯ ไม่ค่อยได้พัฒนาไปมากกว่านั้นตั้งแต่เปิดตัวมา”
เมื่อ Simkhai เปิดตัวแอปฯ ใหม่คือ “Motto” แอปฯ นี้จึงมีฟีเจอร์ที่จะแก้ปัญหาที่เคยมีใน Grindr หรือสารพัดแอปฯ เดตชาวเกย์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน
“การมีคำขวัญ (motto) หมายถึงคุณมีหลักการที่ยึดถือบางอย่าง” Simkhai อธิบายถึงชื่อแอปฯ “และเรายึดถือหลักคิดที่ว่า คนเราสมควรจะได้สร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ”
Motto มีการวางขั้นตอนยืนยันตัวตนที่เข้มข้นมาก เพราะผู้ใช้ทุกคนจะต้องอัปโหลดรูปภาพเซลฟี่โดยทำท่าทางที่กำหนดให้อย่างชัดเจน เช่น ชูมือขึ้น เพื่อจะลดการมีบัญชีสแปมในแพลตฟอร์ม แอปฯ นี้ยังบังคับให้ภาพโปรไฟล์ต้องมีภาพส่วนศีรษะให้เห็นหน้ากันชัดๆ ด้วย ดังที่แอปฯ ใส่สโลแกนไว้บน App Store ว่า “พอกันทีกับภาพถอดเสื้อที่ไม่มีหน้าให้ดู”
“คุณน่าจะเคยได้ข้อความจากคนที่ไม่รู้ว่าตกลงหน้าตาแบบไหนอยู่บ่อยๆ และนั่นเป็นเรื่องที่เสียเวลามาก” Simkhai กล่าว
แค่ฟีเจอร์บังคับให้มีรูปที่เห็นหน้าค่าตากันยังไม่พอ Motto ยังมีระบบจำกัดจำนวนคนที่จะขึ้นมาให้เราเลือกในแต่ละวันด้วย โดยปัจจุบันตั้งค่าไว้ที่ 10 คนต่อวัน คัดเลือกมาจากคนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงผสมกับคนที่มีวงสังคมใกล้เคียงกัน ตัวเลขจำนวนคนต่อวันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต แต่เหตุที่ Simkhai กำหนดเรื่องพวกนี้ก็เพราะต้องการให้คนเลิกปัดหน้าจออย่างไม่รู้จบ
ยอมเข้าถึงผู้ใช้น้อยลง ให้การใช้งานคุณภาพสูงขึ้น
“ไอเดียของแอปฯ นี้ถ้าให้พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นแอปฯ ของคนที่มีตัวตนจริง ผ่านการยืนยันตัว และทำให้คุณใช้เวลาน้อยลงในการปัดหาคนที่ใช่ หยุดการงมเข็มในมหาสมุทร” Simkhai กล่าว
ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สูงค่ามาก แต่ว่าในภาคปฏิบัติและเชิงธุรกิจ อาจจะมีคำถามติดตามมา
เพราะปกติแล้วแอปฯ เดตออนไลน์มักจะทำเงินได้จากการขายข้อมูลให้กับธุรกิจโฆษณา ทำให้แอปฯ ส่วนใหญ่จะอยากให้ผู้ใช้อยู่ในแอปฯ นานๆ ปัดจอกันไปเรื่อยๆ แต่กลายเป็นว่า Motto จะหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
เรื่องนี้ Simkhai กล่าวว่า Motto อาจจะให้ใช้ฟรีอยู่ขณะนี้ แต่ในอนาคต ณ จุดๆ หนึ่งก็จะต้องมีระบบสมัครสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแอปฯ ปิดที่ต้องสมัครเข้าใช้ หรืออาจจะเป็นระบบฟรีเมียม มีฟังก์ชันบางอย่างที่จ่ายเงินซื้อได้ เช่น บูสต์โปรไฟล์ของตัวเองให้คนอื่นเห็นมากกว่าปกติ
ด้านการขยายฐานผู้ใช้งาน Simkhai ก็รู้ดีว่า Motto จะไม่สามารถมีฐานใหญ่ได้เท่ากับ Grindr ด้วยข้อจำกัดที่บังคับภายในแอปฯ อย่างการบังคับให้มีรูปหน้าตาตนเองบนโปรไฟล์ จะทำให้ LGBTQ+ หลายคนไม่พร้อมที่จะใช้แอปฯ เพราะหลายคนก็ยังไม่บอกให้สังคมรู้ ต้องการปิดบังตนเอง
“ผมเข้าใจว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถโพสต์รูปเปิดเผยตนเองได้บนแอปฯ แบบนี้ ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน” Simkhai กล่าว “น่าเสียดายที่ขณะนี้เราอาจจะยัง ‘ไม่ใช่’ สำหรับคนกลุ่มดังกล่าว”
Simkhai อธิบายว่าแอปฯ พร้อมเปิดรับทุกคนที่ต้องการสานสัมพันธ์ออนไลน์ในรูปแบบใหม่ และการสร้างฟังก์ชันเหล่านี้ก็เพื่อลดสแปม บอท และนักต้มตุ๋น
สำหรับ Grindr นั้นปัจจุบันมีผู้ใช้งานประจำเฉลี่ยเดือนละ 11 ล้านคน ใน 190 ประเทศทั่วโลก และถูกประเมินมูลค่าบริษัทไว้ที่ 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นแอปฯ ที่ยังคงประสบความสำเร็จในแง่จำนวนผู้ใช้ แม้จะผ่าน “ดราม่า” มามากมายหลังซื้อขายเปลี่ยนมือ เช่น เมื่อสังคมพบว่า Scott Chen อดีตประธานบริษัท Grindr ที่มาจาก Kunlun Tech เคยเขียนโพสต์บน Facebook ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของเพศเดียวกัน แม้กระทั่ง George Arison ซีอีโอคนปัจจุบัน Grindr ก็เคยถูกวิจารณ์เพราะไปสนับสนุนนักการเมืองที่มีประวัติเหยียด LGBTQ+
เรื่องราวดราม่าเหล่านี้ทำให้ Simkhai บอกว่าเขาจะระมัดระวังมากขึ้นเมื่อมาบริหาร Motto ทีมงานใหม่ทุกคนจะต้องเชื่อในวิสัยทัศน์ของแอปฯ และเคารพต่อคอมมูนิตี้ของกลุ่มเควียร์
“แอปฯ นี้จะใส่ใจในการคัดสรรมากกว่า มีความตั้งใจกว่า” เขากล่าวถึง Motto เมื่อเทียบกับ Grindr “เราหวังว่าจะเป็นแอปฯ ที่มีคุณภาพ และเป็นแอปฯ ที่คุณจะใช้เวลาน้อยลงแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม”