CBRE-แอคคอร์ ประเมินภาพรวม “โรงแรมไทย” สดใส ยกเว้นกลุ่มรับกรุ๊ปทัวร์ต้องเร่งปรับตัว

โรงแรมไทย
(Photo by Jimmy Teoh / Pexels.com)
  • CBRE มองสถานการณ์ “โรงแรมไทย” เป็นไปในทางบวก อัตราเข้าพักเฉลี่ย 65% แต่รายได้เฉลี่ยต่อห้องที่ขายได้ต่อวัน (ADR) ในกรุงเทพฯ ขึ้นมาเท่ากับปี 2562 แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา
  • แอคคอร์มองว่า เกิดจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เฉลี่ยใช้จ่ายเป็น “เท่าตัว” จากช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้ราคาห้องปรับขึ้นได้เร็ว
  • อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เข้ามาช่วงนี้จะเป็นนักท่องเที่ยว F.I.T และลูกค้าองค์กร/ไมซ์ ทำให้โรงแรมที่เคยรับกรุ๊ปทัวร์เป็นหลักจะยังไม่ได้อานิสงส์ แนะเร่งปรับตัวก่อน เพราะจีนน่าจะเปิดประเทศได้อย่างเร็วที่สุดช่วงไตรมาส 3/2566

CBRE จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “Reimagining and Future-proofing Your Hotel in Post-pandemic Era” ประเมินสถานการณ์โรงแรมไทยฟื้นตัวดี หลังจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสะสมมากกว่า 7 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2565) และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวทะลุ 10 ล้านคนตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

“อรรถกวี ชูแสง” หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์โรงแรมในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนที่ไทยเริ่มการเปิดประเทศแบบเต็มที่ ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการตรวจ ATK on arrival ทำให้อัตราเข้าพัก (occupancy rate) ขึ้นมาแตะ 65%

แม้ว่าอัตราเข้าพักจะยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเคยอยู่ที่ 80% แต่ปรากฏว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องที่ขายได้ต่อวัน (ADR) ขึ้นมาแตะ 3,500 บาท เท่ากับก่อนโควิด-19 ได้สำเร็จ ซึ่งน่าจะเกิดจาก “คุณภาพ” นักท่องเที่ยวสูง ทำให้ขยับราคาขึ้นได้

“แอนดรูว์ แลงดอน” รองประธานอาวุโส แอคคอร์โฮเทลส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กล่าวสอดคล้องกันว่า จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยแล้วกว่า 7 ล้านคน แม้จำนวนจะน้อยกว่าปกติมาก แต่กำลังซื้อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เทียบได้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา 20 ล้านคนก่อนโควิด-19 เลยทีเดียว ในกลุ่มของแอคคอร์ประเทศไทย ปัจจุบันแขกที่เข้าพักมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่สูงที่สุดที่เคยมีมา

Happy female traveling on boat, Krabi Thailand

F.I.T. และลูกค้าองค์กรมาก่อน กรุ๊ปทัวร์ยังซบเซา

แลงดอนกล่าวต่อไปว่า ตลาดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาส่วนใหญ่ในขณะนี้จะเป็นกลุ่ม F.I.T. และลูกค้าองค์กรหรือไมซ์ ทำให้มีการใช้จ่ายสูง ส่วนกรุ๊ปทัวร์ยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างซบเซา เพราะปกติแล้วกรุ๊ปทัวร์ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีน และขณะนี้จีนยังไม่เปิดพรมแดน

ดังนั้น แนะนำโรงแรมที่ยังคงมุ่งเน้นรับลูกค้ากรุ๊ปทัวร์ ควรปรับมาพุ่งเป้าที่กลุ่ม F.I.T. หรือลูกค้าองค์กรก่อน เพราะเชื่อว่าจีนจะเปิดประเทศได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566

Photo : Shutterstock

อรรถกวีเสริมด้วยว่า สถานการณ์หลังโควิด-19 นั้นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวคือ “ค่าน้ำมัน” ซึ่งส่งผลต่อ “ค่าตั๋วเครื่องบิน” ทำให้กลุ่มที่เดินทางเข้ามาก่อนจะเป็น “กลุ่มระยะการบินสั้น” สอดคล้องกับข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งพบว่าช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้สัญชาตินักท่องเที่ยวที่เข้ามามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ มาเลเซีย 1.29 ล้านคน, อินเดีย 6.98 แสนคน และสิงคโปร์ 3.81 แสนคน

 

Bleisure ตลาดมาแรงของยุค

แลงดอนยังกล่าวถึงเทรนด์หนึ่งที่มาแรงในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งโรงแรมสามารถปรับตัวมารับเทรนด์นี้ได้ คือ การท่องเที่ยวแบบ ‘Bleisure’ หรือ Business+Leisure

เทรนด์นี้เริ่มต้นในยุโรปก่อนโดยพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจะพักตั้งแต่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ มีการพาครอบครัวมาท่องเที่ยวด้วย เพราะหลังโควิด-19 บริษัทจำนวนมากเริ่มให้พนักงาน Work from Anywhere ได้และส่วนใหญ่จะอนุญาตในวันศุกร์และจันทร์ ทำให้พนักงานอาจจะพาครอบครัวไปพักผ่อน ทำงานวันศุกร์กับจันทร์ที่โรงแรม แต่เสาร์-อาทิตย์สามารถเที่ยวได้เต็มที่

การพักผ่อนแบบนี้จึงทำให้นักท่องเที่ยวจองโรงแรมยาวนานขึ้น ไม่ได้จองเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์คืนเดียว และแลงดอนเห็นว่าเทรนด์นี้เริ่มเกิดขึ้นแล้วที่กรุงเทพฯ

สรุปได้ว่า อนาคตการท่องเที่ยวและ “โรงแรมไทย” ปีหน้าน่าจะสดใสต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายคาดการณ์เบื้องต้นจากททท.คาดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 15-20 ล้านคน ยังไม่นับรวมหากว่า “จีน” เปิดประเทศก็จะยิ่งทำให้คึกคักขึ้น โดย CBRE เชื่อว่าโรงแรมไทยจะฟื้นตัวเต็มที่ได้เท่ากับก่อนโควิด-19 ภายในปี 2567