สู้โลกร้อน! “อังกฤษ” เตรียมแบนจาน-ช้อนส้อมพลาสติก เหตุสร้างขยะปีละกว่า 5 พันล้านชิ้น

แบน พลาสติก
(Photo: RODNAE Productions / Pexels)
รัฐบาลอังกฤษยืนยัน เตรียมออกกฎหมาย “แบน” จานและอุปกรณ์การกินที่ทำจากพลาสติก ตัวการสร้างขยะพิษปีละมากกว่า 5 พันล้านชิ้น

อังกฤษถือเป็นประเทศที่สามในกลุ่มสหราชอาณาจักรต่อจากสก็อตแลนด์และเวลส์ ที่มีการ “แบน” จานและอุปกรณ์การกินทำจากพลาสติก โดยยังไม่ระบุแผนงานชัดเจนว่าจะเริ่มแบนตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จะมีการประกาศข้อมูลเต็มในวันที่ 14 มกราคมนี้

รัฐบาลคาดว่า จานพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในอังกฤษนั้นมีการใช้งานปีละกว่า 1.1 พันล้านชิ้น ส่วนอุปกรณ์ช้อน ส้อม มีดพลาสติกนั้นมีการใช้มากกว่าปีละ 4 พันล้านชิ้น

แม้ว่าพลาสติกจะเป็นตัวเลือกที่ดีต่อสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร แต่พลาสติกเหล่านี้มักจะย่อยสลายไม่ได้ และจะถูกฝังกลบในดินไปอีกนานแสนนาน เป็นมลพิษต่อดินและน้ำ

ข้อมูลจากหน่วยงานด้านกิจการสิ่งแวดล้อม อาหาร และชนบท (Defra) ระบุว่า คนอังกฤษใช้จานพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเฉลี่ยปีละ 18 ชิ้น และใช้ช้อนส้อมมีดแบบใช้แล้วทิ้งเฉลี่ยปีละ 37 ชิ้น ในจำนวนนี้มีเพียง 10% ที่เข้าสู่ระบบรีไซเคิล

แบน พลาสติก
อีกไม่นาน การซื้ออาหารกลับบ้านที่อังกฤษจะไม่อนุญาตให้ใช้จานทำจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Photo: Loren Castillo / Pexels)

Therese Coffey เลขานุการรัฐด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าหมายจะแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้งเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาในธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่มแบบซื้อกลับบ้าน

“ฉันมุ่งมั่นที่จะสร้างการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหา เราผ่านการทำงานก้าวใหญ่ๆ มาแล้วหลายก้าวในช่วงหลายปีมานี้ แต่เราก็รู้ว่าเราต้องทำให้มากกว่าเดิม และเป็นอีกครั้งที่เรารับฟังเสียงเรียกร้องจากสาธารณะ” Coffey กล่าว

“การแบนครั้งใหม่นี้จะสร้างผลอย่างใหญ่หลวงเพื่อหยุดมลพิษจากพลาสติกได้หลายพันล้านชิ้นต่อปี และช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้กับลูกหลานเรา”

ก่อนหน้าที่จะมีการแบนจานพลาสติก อังกฤษเคยประกาศแบน “หลอด” พลาสติกใช้แล้วทิ้ง ไม้คนพลาสติก และคัตตอนบัดมาแล้วในปี 2020

ทั้งนี้ การแบนภาชนะและอุปกรณ์การกินจากพลาสติก จะไม่รวมสินค้าที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่รัฐบาลจะหาทางแก้ปัญหาพลาสติกในธุรกิจเหล่านั้นด้วยวิธีการอื่นแทน

นโยบายนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มรณรงค์ Greenpeace แต่ข้อปฏิบัติอื่นจะต้องมีเพิ่มเติมต่อไป “เรากำลังเผชิญปัญหา ‘ขยะไหลท่วม’ และมาตรการนี้ก็เหมือนหาไม้ม็อบมาถูพื้น แทนที่จะหาที่ปิดก๊อกน้ำ” Megan Randles จาก Greenpeace วิจารณ์

เธอยังเรียกร้องให้รัฐบาลมีกลยุทธ์ลดใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่ดีและมีความหมายกว่านี้ โดยรัฐควรมีเป้าหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงวางกลยุทธ์ให้มีการใช้ซ้ำ (reuse) และมีแนวทางการเติมสินค้า (refill) มากกว่าซื้อในแพ็กเกจใหม่

Source