ถึงคิว “พาราไดซ์ พาร์ค” รีโนเวตใหญ่ ธุรกิจการเงินจะเป็น “หัวจักร” ทำกำไรให้ MBK

พาราไดซ์ พาร์ค รีโนเวต
  • แผนปี 2566 ของกลุ่ม MBK กับ 8 กลุ่มธุรกิจในมือ ไฮไลต์ปีนี้จะมีการรีโนเวตใหญ่ “พาราไดซ์ พาร์ค” ให้เป็นฮับด้านเวลเนส-สุขภาพ เจาะกำลังซื้อผู้สูงวัย
  • จับตากลุ่มธุรกิจการเงิน “ลีสซิ่ง” เป็นหัวจักรใหม่ในการทำกำไรหลังโควิด-19 แม้มีปัจจัยประกาศ สคบ. เป็นปัจจัยลบ
  • มองรายได้รวมปีนี้มีโอกาสกลับไปใกล้เคียงกับปี 2562 (ก่อนเกิดโรคระบาด)

ภาพจำของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK คือธุรกิจศูนย์การค้า แต่ที่จริงบริษัทนี้ทำธุรกิจหลากหลายถึง 8 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ศูนย์การค้า, โรงแรม, สนามกอล์ฟ, ที่อยู่อาศัย, อาหาร (ข้าวมาบุญครองและฟู้ดคอร์ท), การเงิน (สินเชื่อ), ลานประมูลรถยนต์และจักรยานยนต์ และศูนย์สนับสนุนองค์กร

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจของ MBK ที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว คือ ศูนย์การค้า โรงแรม และสนามกอล์ฟบางแห่ง ได้รับผลกระทบหนักและต้องปรับตัวสูง เช่น ศูนย์การค้า MBK Center ที่ต้องเร่งรีโนเวตและปรับสัดส่วนร้านค้าให้ดึงคนไทยเข้ามาแทนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป หรือโรงแรมบางแห่งต้องปรับมาเป็นฮอสพิเทล ปรับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเป็นชาวไทย

8 กลุ่มธุรกิจในเครือ MBK

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 นี้ถือเป็นปีที่ MBK จะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากการเปิดประเทศ มีความหวังว่าจะกลับไปทำรายได้ได้เท่ากับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

พร้อมกับการเดินหน้าสู่ยุคหลังโรคระบาด MBK ยังมีการแต่งตั้งซีอีโอใหม่ “วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 รับตำแหน่งต่อจาก “สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” ซึ่งปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งฐานะกรรมการและรองประธานกรรมการบริหาร ช่วยดูแลนโยบายในภาพใหญ่ให้กับบริษัท

(ซ้าย) “สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” กรรมการและรองประธานกรรมการบริหาร และ (ขวา) “วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

สำหรับวิจักษณ์นั้นถือเป็นลูกหม้อที่ทำงานใกล้ชิดในเครือมาหลายทศวรรษ ตำแหน่งภายใน บมจ.เอ็ม บี เค อาจจะมีชื่อมาเพียงปีเศษ แต่วิจักษณ์เริ่มงานกับเครือนี้มาตั้งแต่ยุคหลังต้มยำกุ้งกับบทบาทกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด เมื่อปี 2543 และต่อมาทำงานเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด ในปี 2553 เห็นได้ว่าเติบโตในสายธุรกิจการเงินมาตลอด

 

ปีนี้ถึงคิว “พาราไดซ์ พาร์ค” รีโนเวตใหญ่รับผู้สูงวัย

ไฮไลต์การลงทุนปี 2566 ของกลุ่ม MBK คือแผนการรีโนเวตศูนย์การค้า “พาราไดซ์ พาร์ค” หลังจากได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินอีก 20 ปีกับ บริษัท เอส.เอส.เรียล (สวนหลวง) จำกัด ไปเรียบร้อย โดยจะใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท ขณะนี้เริ่มลงมือแล้ว

พาราไดซ์ พาร์ค รีโนเวต
ภาพเพอร์สเพคทีฟการรีโนเวต พาราไดซ์ พาร์ค

พาราไดซ์ พาร์ค ยุคใหม่วางธีมการรีโนเวตให้เป็นฮับด้านเวลเนสและสุขภาพ เน้นภายในศูนย์ฯ จะปรับสัดส่วนร้านค้าใหม่ให้เป็นแหล่งสุขภาพ เช่น ร้านอาหารวีแกน, ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส์, ศูนย์จำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์, คลินิกเฉพาะทาง เป็นต้น ส่วนเสรีมาร์เก็ตที่เป็นแม่เหล็กหลักก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม

“คนเดินศูนย์ฯ นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอยู่แล้ว ซึ่งวัยนี้เขาต้องการอะไรที่ไม่เหมือนวัยอื่น” สุเวทย์กล่าว “ไตรมาส 3 จะได้เห็นโฉมใหม่ ถือเป็นการปรับครั้งใหญ่ของพาราไดซ์ พาร์ค”

พาราไดซ์ พาร์ค รีโนเวต

ส่วนการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจของ MBK เช่น

  • เดินหน้าลงทุนเฟสต่อเนื่องในโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่น Riverdale District อาณาจักรสนามกอล์ฟและมารีน่าท่าจอดเรือใน จ.ปทุมธานี โดยมีที่ดินรวม 1,500 ไร่ รวมถึงจะมีการซื้อแลนด์แบงก์เพิ่มเติม ทั้งหมดตั้งงบลงทุนประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท
  • รีโนเวตศูนย์การค้า 2 แห่ง คือ เดอะ ไนน์ พระราม 9 ซึ่งเป็นการปรับปรุงตามรอบ และ MBK Center ที่เป็นการรีโนเวตต่อเนื่องใกล้เสร็จสมบูรณ์ ทั้งหมดใช้งบลงทุนราว 100-200 ล้านบาท
  • รีโนเวตเฟส 3 ของโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ส่วนห้องพักขนาดใหญ่ระดับ Executive ซึ่งจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท

 

MBK Center เกือบเสร็จสมบูรณ์ ดึงคนไทยได้ตามเป้า

สำหรับโปรเจ็กต์ใหญ่ MBK Center ที่เริ่มรีโนเวตมาตั้งแต่ต้นปี 2564 เป้าหมายเพื่อปรับโฉมและเปลี่ยนสัดส่วนร้านค้าให้ดึง “คนไทย” มากขึ้น วิจักษณ์ระบุว่า ขณะนี้เกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีผู้เช่าพื้นที่เกิน 90%

โดยปีนี้จะยังมีพันธมิตรรายใหญ่รายใหม่เข้ามาคือ ARTPIA จากเกาหลีใต้ เป็น Entertainment Show ที่ใช้เทคโนโลยีรังสรรค์ภาพ แสง สี เสียง กลิ่น สร้างความสนุกสนานประสบการณ์แบบใหม่ให้ผู้ชม ซึ่งจะเข้ามาเปิดที่ชั้น 6 ของศูนย์ฯ

ส่วนพื้นที่ที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาผู้เช่าคือพื้นที่ชั้น 4 ซึ่งเป็นชั้นไอที มือถือ กล้อง ยังมีบางส่วนที่กำลังออกแบบหาผู้เช่าที่เหมาะสมกับตลาดไอทียุคนี้

MBK Center โฉมใหม่

วิจักษณ์กล่าวด้วยว่า หลังรีโนเวตแล้วศูนย์ฯ สามารถดึงคนไทยมาได้ตามเป้าหมาย ปัจจุบันมีทราฟฟิกกลับไปแตะ 80,000 คนต่อวันเท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว และเป็นคนไทยเกิน 50% จากเดิมจะมีต่างชาติเดินมากกว่า

แม่เหล็กสำคัญที่ดึงคนไทยมาได้คือโซนร้านอาหารชั้น 2 ซึ่งมีหลายร้านเปิด 24 ชั่วโมง และอีกหลายร้านที่เปิดจนถึงดึกหรือรุ่งเช้า เช่น สุกี้ตี๋น้อย รวมถึง “ดองกิ” ก็เป็นจุดดึงดูดสำคัญเช่นกัน ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาในยุคนี้คือคนทำงานที่ต้องการมาแฮงก์เอาต์กันหลังเลิกงาน

 

“การเงิน” ธุรกิจหัวจักรใหม่ในการทำกำไร

หากเปิดงบการเงิน 9 เดือนแรกปี 2565 ในหมวดกำไรจากการดำเนินงาน จะเห็นว่าธุรกิจ “การเงิน” กลายเป็นกลุ่มที่ทำกำไรสูงสุด โดยทำกำไรไป 498 ล้านบาท รองลงมาคือกลุ่ม “อสังหาริมทรัพย์” มีกำไร 141 ล้านบาท ตามด้วย “ประมูลรถ” ที่มีกำไร 137 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอย่างศูนย์การค้าและโรงแรมนั้นยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ขาดทุน

ปี 2566 นี้ศูนย์การค้าและโรงแรมน่าจะได้ฟื้นตัวกลับมา แต่วิจักษณ์มองว่า ยุคหลังโรคระบาดของ MBK น่าจะสลับหัวจักรมาที่กลุ่ม “การเงิน” เพราะถึงแม้ว่ารายได้ส่วนใหญ่จะมาจากศูนย์การค้า แต่ถ้าวัดกันที่กำไร ธุรกิจการเงินมีอัตราทำกำไรสูงกว่า

ธุรกิจการเงินหลักในกลุ่มนี้คือสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ “ที ลีสซิ่ง” ซึ่งช่วงที่ผ่านมาบริษัทรุกเข้าตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น และกำลังวางแผนเพิ่มโปรดักส์ “สินเชื่อส่วนบุคคล” พ่วงเข้าไป เนื่องจากดาต้าเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าที่บริษัทมีจะทำให้บริษัทเสนอสินเชื่อส่วนบุคคลได้แม่นยำขึ้น

ธุรกิจนี้เจอจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เมื่อปีก่อน จากประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยกรณีของรถจักรยานยนต์กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 23% ต่อปี วิจักษณ์กล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้บริษัทจะต้องเข้มงวดในการคัดเลือกลูกค้ามากขึ้น เพราะปกติอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่านี้ทำให้ลีสซิ่งสามารถยอมให้เกิดหนี้เสียได้มาก แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำลงก็จะต้องควบคุมปริมาณหนี้เสีย

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนดังกล่าวก็ไม่ทำให้โอกาสในตลาดสินเชื่อน่าสนใจน้อยลง ในระยะยาวน่าจะได้เห็น MBK มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ออกมาอีก และเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นในเครือด้วย เช่น ลานประมูลรถยนต์ แอพเพิล ออคชั่น

สุเวทย์กล่าวสรุปถึงความคาดหวังรายได้ของบริษัทในปี 2566 เชื่อว่าอาจจะทำได้ใกล้เคียงปี 2562 ซึ่งปีนั้นบริษัทมีรายได้ถึง 11,431 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 2,799 ล้านบาท