ขึ้นอีก! “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” จะปรับราคาเพิ่มอีก 5% ‘COTTO’ อ่วมต้นทุนค่าไฟ กำไรปี’65 หดแรง

COTTO
  • COTTO รายงานผลประกอบการปี 2565 รายได้เติบโต 17% แต่บรรทัดสุดท้ายขาดทุน 228 ล้านบาท จากการต้องหยุดสายการผลิตแผ่นหินประดิษฐ์ขนาดใหญ่เพราะขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้า-ก๊าซยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
  • คาดว่าปี 2566 จะยังต้องปรับราคาสินค้า “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” อีก 5% เพื่อให้สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้า
  • ขณะที่ภาพรวมตลาดสัญญาณไม่ดี ยังทรงๆ ทั้งภายในประเทศและตลาดส่งออก

ปี 2565 ถือเป็นปีแห่งความผันผวนของ บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ หรือ COTTO จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีผลโดยอ้อมแต่กระทบเต็มๆ กับการผลิตสินค้ากลุ่มกระเบื้อง-สุขภัณฑ์ เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีก่อน และหนักที่สุดในช่วงไตรมาส 4

“นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ COTTO สรุปผลประกอบการปี 2565 ของบริษัท ทำรายได้รวม 13,157 ล้านบาท เติบโต 17% จากปีก่อนหน้า แต่บริษัทขาดทุน 228 ล้านบาท ลดลง -139% เทียบกับปีก่อนหน้า

“นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ COTTO

เหตุที่ขาดทุนหนักมาจากไตรมาสสุดท้ายซึ่งบริษัทต้องหยุดสายการผลิตแผ่นหินประดิษฐ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตไม่ได้ จึงเป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่กระแสเงินสดยังคงปกติ

ถึงแม้ว่าจะหักรายการสำคัญ (Key Items) ดังกล่าวออก กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทยังลดลง -13% จากปีก่อนหน้า เหลือ 469 ล้านบาท เพราะต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงจากการขึ้นค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซธรรมชาติ กระทบหนักที่สุดในช่วงไตรมาส 4/2565

ช่วงไตรมาสสุดท้ายเองยังเห็นสัญญาณการชะลอตัวของตลาดด้วย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่กำลังซื้อเริ่มลดลง รวมถึงตลาดส่งออกหลักของบริษัท คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา (CLM) ชะลอการนำเข้าสินค้าเนื่องจากความผันผวนของค่าเงินแลกเปลี่ยน

กำไรของ บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ ปี 2565

ปรับราคาขึ้นอีก 5% ตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้

นำพลกล่าวต่อว่า จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น บริษัทมีการดำเนินงานหลายประการเพื่อรับมือวิกฤตไปแล้ว เช่น

  • เริ่มปรับปรุงสายการผลิตและเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงาน
  • มีการติดตั้งแหล่งพลังงานโซลาร์ในโรงงานเพื่อลดค่าไฟฟ้า
  • ปรับราคาขึ้น โดยปรับขึ้นไปแล้วเฉลี่ย 10% ในช่วงปี 2565 ทั้งนี้ ยังไม่สามารถปรับราคาได้ทุกรายการ เพราะราคายังต้องแข่งขันได้กับสินค้าที่มีผู้นำเข้า
  • ผลักดันกลุ่มสินค้านวัตกรรม เพื่อหนีจากการแข่งขันกับตลาดผู้นำเข้า
COTTO
สินค้ารักษ์โลก Eco Collection ใช้ทรัพยากรรีไซเคิล 80% ของวัสดุที่ใช้ผลิต

ปี 2566 ก็จะยังเห็น COTTO ต่อสู้กับวิกฤตค่าพลังงาน เพราะเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีแรกนี้ค่าไฟฟ้าจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง และค่าก๊าซธรรมชาติจะยังทรงตัวในระดับสูง ต้องรอดูครึ่งปีหลังว่าค่าพลังงานจะมีทีท่าปรับลดหรือไม่

บริษัทจึงมีการตั้งงบลงทุน 400-450 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนในโครงการลดพลังงาน เช่น การติดตั้งโซลาร์เพิ่มเติม และปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อลดการใช้พลังงานเพิ่มอีก

ส่วนการปรับราคาสินค้าขึ้นนั้น เนื่องจากต้นทุนพลังงานทั้งหมดที่ขึ้นมาจนถึงขณะนี้คิดเป็นประมาณ 15% ทำให้ราคาที่ปรับขึ้นมา 10% เมื่อปีก่อนยังไม่สะท้อนต้นทุนทั้งหมด จึงจะมีการทยอยปรับราคาขึ้นอีกประมาณ 5% เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้

 

สัญญาณตลาดไม่ดี ปี’66 ยังเหนื่อย

ด้านภาพรวมตลาดปี 2566 นำพลมองว่า ตลาดรวมปีนี้น่าจะ ‘ไม่โต’ หรือโตน้อย เพราะถึงแม้ว่ากลุ่มดีเวลอปเปอร์จะมีการพัฒนาโครงการใหม่ แต่ตลาดรายย่อย กลุ่มสร้างบ้านหรือซ่อมแซมบ้านจะหดตัวลง (ยกเว้นในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ที่น่าจะมีการปรับปรุงโรงแรมเพื่อตอบรับการท่องเที่ยว) เมื่อถัวเฉลี่ยกันแล้วจึงทำให้ตลาดไม่เติบโตมากนักในแง่ปริมาณการขาย

ส่วนภาคการส่งออก เชื่อว่าครึ่งปีแรกจะยังมีปัญหาเดิมต่อเนื่องคือประเทศ CLM ชะลอนำเข้าจากค่าเงินที่ผันผวน ต้องรอติดตามครึ่งปีหลังอีกครั้ง

สำหรับ COTTO ปี 2566 จึงมองว่าปริมาณการขายไม่น่าจะเติบโตมากนัก แต่ตัวเลขรายได้น่าจะโต 5% จากการปรับขึ้นราคา ส่วนกำไรจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการลดต้นทุน ซึ่งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถฝ่าวิกฤตพลังงานไปได้