Shinkanzen Sushi ร้านซูชิ 10 บาท สู่รายได้พันล้าน เริ่มจากนักศึกษาปี 3 ลงทุน 2 แสน

  • Shinkanzen Sushi (ชินคันเซ็น ซูชิ) ร้านซูชิ 10 บาท ราคาย่อมเยา เกิดจากแพชชั่นของ 2 หนุ่มบัญชีผู้อยากร้านอาหารเป็นของตัวเองตั้งแต่เรียนชั้นปี 3 เปิดร้านแรกในปี 2557 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต
  • แรกเริ่มมองกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนิสิต นักศึกษา เน้นขยายสาขาตามมหาวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศูนย์การค้า และเพิ่งเข้ามาอยู่ในครอบครัวของ CRG (Central Restaurant Group)
  • สามารถปิดรายได้พันล้านบาท มองเป้าหมายต่อไปสู่รายได้ 2,000 ล้าน และอยากพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

ลงทุนแรก 2 แสนบาท เรียนคอร์สปั้นซูชิอีก 2,000 บาท

ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าในทุกเซ็กเมนต์ทั้งซูชิ ราเมน ชาบู หรือระดับพรีเมียมอย่างโอมากาเสะก็เป็นเทรนด์ยอดนิยมในขณะนี้ด้วยเช่นกัน แต่หนึ่งในตลาดที่นิยมตลอดกาลคงหนีไม่พ้น “ซูชิ” ในประเทศไทยเองก็กวาดครบทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่ร้านตามตลาดนัด ร้านแมสระดับกลาง และระดับพรีเมียม

สำหรับร้านระดับแมสมีหลากหลายแบรนด์ในตลาด หนึ่งในนั้นก็คือ Shinkanzen Sushi เปิดร้านแรกเมื่อปี 2557 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต วางจุดยืนเป็นร้านซูชิราคาย่อมเยา เข้าถึงง่าย สบายกระเป๋านักศึกษา ราคาเริ่มต้น 10 บาท (ตอนนี้ปรับเป็น 11 บาทแล้ว)

Shinkanzen Sushi

Shinkanzen Sushi เกิดจากผู้ก่อตั้ง 2 คน “ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล” และ “ชนวีร์ หอมเตย” หนุ่มคณะบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ในขณะนั้นเรียนอยู่ชั้นปี 3 มีความคิดริเริ่มอยากทำร้านอาหาร และมองว่าบริเวณมหาวิทยาลัยหาอาหารญี่ปุ่นทานยาก ต้องเข้าไปในเมือง หรือต้องไปฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

จึงอยากทำร้านอาหารญี่ปุ่นในราคาไม่แพง สะอาด เริ่มต้นจากร้านเล็กๆ ด้านหน้ามหาวิทยาลัย พื้นที่ 30 ตารางเมตร มี 5 โต๊ะ เริ่มลงทุนก้อนแรกคนละ 100,000 บาท และไปเข้าคอร์สเรียนปั้นซูชิอีกคนละ 1,000 บาท ใช้เวลาในการคิดน้อยมาก ไม่มี Business Plan ในหัวมากมาย

ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด เริ่มเล่าว่า

“ตอนนั้นทีเริ่มตัดสินใจทำร้านอาหารใช้เวลาคิดกันแค่ 2 เดือนเท่านั้น เลือกราคา 10 บาท เพราะเข้าถึงได้ง่าย ราคาแพงกว่าตลาดนัดนิดหน่อย แต่มีคุณภาพดีกว่า ในช่วงแรกแทบไม่ค่อยเข้าเรียน ต้องซื้อของเข้าร้าน ปั้นซูชิเอง ส่วนที่ใช้ชื่อชินคันเซ็น ซูชิ เพราะอยากได้คำภาษาญี่ปุ่น และเป็นคำที่ทุกคนเข้าใจง่าย นึกถึงญี่ปุ่นได้ เลยเป็นคำนี้”

Shinkanzen Sushi

หลังจากเปิดสาขาแรกไม่นานก็ได้รับผลตอบรับดี ปีต่อมาจึงเปิดเป็น บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด ทำธุรกิจอย่างเต็มตัว และปี 2559 ขยายสาขาที่ 2 ที่ ม.กรุงเทพ และสาขาที่ 3 ที่ ม.เกษตรศาสตร์ เริ่มจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษาเป็นหลักก่อน

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในปี 2560 เป็นการขยายสาขาเข้าศูนย์การค้าเป็นครั้งแรกที่ “ยูเนียนมอลล์” เป็นใบเบิกทางทำให้ร้านแมสขึ้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น ในปี 2561 มีรายได้สู่ 100 ล้านบาทแรกเป็นที่เรียบร้อย

ต่อมาในปี 2562 เริ่มแตกไลน์ Shinkanzen Omakase ซูชิระดับพรีเมียมราคาตั้งแต่หัวละ 999-3,000 บาท++ จนในปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง การร่วมทุนกับ CRG เข้าลงทุน 51% ในเดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป และมีรายได้สู่ 1,000 ล้านบาท

Shinkanzen Sushi

9 ปี ปั้นรายได้พันล้าน ภายใต้ชายคา CRG

เมื่อเดือน พ.ค. 2565 CRG ได้ประกาศจับมือ Shinkanzen Sushi เข้าร่วมทุน 51% เข้าเป็นหนึ่งในครอบครัว CRG เป็นที่เรียบร้อย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา CRG ได้เดินเกมในการ M&A แบรนด์ร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ และเติมพอร์ตให้ครบเครื่องยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ได้ร่วมทุนกับสลัดแฟคทอรี่, บราวน์  และส้มตำนัว มาแล้ว จนล่าสุดกับ Shinkanzen Sushi เป็นการเติมพอร์ตกลุ่มร้านอาหารซูชิ ถึงแม้ CRG จะมีร้านอาหารญี่ปุ่นในหลายเซ็กเมนต์ ทั้งอาหารเซต, ราเมน, ทงคัตซึ และข้าวหน้าต่างๆ แต่ยังขาดร้านซูชิแบบเพียวๆ อีกทั้งยังเป็นร้านในระดับแมสอีกด้วย

ในปี 2565 ที่ผ่านมา Shinkanzen Sushi สามารถทำรายได้ถึง 1,200 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย มีการเติบโต 57% ได้ขยายสาขาเพ่ม 9 สาขา ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 1,500 ล้านบาท มีการเติบโต 25% และขยายอีก 8 สาขา

หลังจากร่วมทุนกันครั้งนี้ มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าภายใน 3 ปีจะมีรายได้ 2,000 ล้านบาท และมีสาขารวม 60-70 สาขา จากที่ปัจจุบันมี 44 สาขา รวมไปถึงอยากบุกตลาดต่างประเทศ จากแผนของ CRG ในปีนี้ มองว่าตลาดเวียดนามมีความน่าสนใจ และมีโอกาสมากที่สุด

แตกไลน์ “นักล่าหมูกระทะ”

แม้จะเริ่มต้นธุรกิจด้วยร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อาหารญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว ล่าสุดได้เปิดแบรนด์ใหม่ “นักล่าหมูกระทะ” จับเทรนด์คนไทยชอบกินหมูกระทะ วางจุดยืนเป็นร้านหมูกระทะติดแอร์ สะอาด มีที่ดูดควัน ไม่ต้องกลัวตัวเหม็น ราคาเริ่มต้น 279 บาท และบุฟเฟต์ผักได้ฟรี

“ที่เราเปิดนักล่าหมูกระทะ เพราะมองเห็นว่าคนไทยชอบกินหมูกระทะกันมาก และ Pain Point อยู่ที่ร้านส่วนใหญ่จะอยู่นอกศูนย์การค้า เป็น Open Air อากาศร้อนหลายคนไม่อยากไปทานระหว่างวัน เพราะกลัวเสื้อเหม็น หัวเหม็น เลยทำให้หมูกระทะอยูในศูนย์การค้า ห้องแอร์ มีที่ดูดควัน และจากที่ลองไปต่างประเทศ ก็พบว่าหลายประเทศรู้จักหมูกระทะของไทย เป็นโอกาสที่ดีที่จะขยายแบรนด์ไปต่างประเทศได้”

นักล่าหมูกระทะเปิดสาแรกที่ศูนย์การค้า MBK ในปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 4 สาขา เน้นที่หัวเมืองหลักในกรุงเทพฯ อย่างรังสิต, บางนา, บางแค และพระรามสอง

ถ้าถามว่าเป้าหมายสำคัญของ Shinkanzen Sushi คืออะไร ศุภณัฐบอกว่า ถึงจุดหนึ่งอยากให้แบรนด์ Spin Off แล้วเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าตอนนั้นบริษัทจะต้องมีรายได้ 3,000 ล้านบาท พร้อมกับความฝันว่าอยากให้มี Shinkanzen Sushi ครบทุกจังหวัดให้ได้