คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ทำให้ล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นอยู่ที่ 1.75% แล้ว โดยปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้ลง เนื่องจากภาคการส่งออกที่อาจอ่อนแอ ขณะเดียวกันก็ยังมองว่ากรณีของ SVB หรือ Credit Suisse กระทบไทยจำกัด
กนง. ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% โดยให้เหตุผลถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องนั้นสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยการปรับอัตราขึ้นดอกเบี้ยตรงกับนักวิเคราะห์ 19 รายจาก 25 รายที่ Bloomberg ได้สำรวจไว้ก่อนที่จะมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยในวันนี้
อย่างไรก็ดีคาดการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยนั้น กนง. มองว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.6% ลดลงจากคาดการณ์ครั้งที่แล้ว โดยข้อดีที่ กนง. มองคือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมาถึง 28 ล้านคน ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชนก็ตาม แต่ได้ปรับลดตัวเลขการบริโภคภาครัฐ รวมถึงการส่งออกในปีนี้ลง ขณะที่ในปี 2024 ทาง กนง. คาดว่า GDP ไทยจะเติบโตได้ 3.8%
ทางด้านของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ กนง. คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 2.9% และลดลงมาเหลือ 2.4% ในปีหน้า โดยมองว่าราคาพลังงานและราคาไฟฟ้าที่ลดลง แต่ก็ยังมีความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐนั้น กนง. มองว่ามีความผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากจากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว อย่างกรณีของ SVB และ Credit Suisse ซึ่ง กนง. มองว่าประเทศไทยไม่ได้รับผลดังกล่าว แต่ก็ต้องติดตามในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ในบทวิเคราะห์ของ UOB มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยไปตลอดในปีนี้ และมองว่า กนง. เหลือช่องว่างทางนโยบายไม่มาก เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมานั้นเติบโตได้น้อย