ไม่ได้ขายฟอร์นิเจอร์ แต่ขาย Ikea

การเข้ามาของอินเตอร์แบรนด์อย่าง Ikea นอกจากสร้างการแข่งขันที่คึกคักของธุรกิจศูนย์เฟอร์นิเจอร์แล้วยังนำพามาด้วยรูปแบบและกลยุทธ์การแนะนำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในวงกว้างด้วย

หากมองว่าการเปิดตัวของอิเกียคือการเปิดศูนย์เฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้านขนาดใหญ่ที่เคยเปิดมาก็สามารถมองได้ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งคือ How-to ของการเปิดตัวให้เป็นที่สนใจ ได้รับการคาดหวัง พร้อมกับความตื่นตัวที่จะเข้ามามีประสบการณ์ในแบรนด์ด้วย

อิเกียอาจจะเป็นเหมือนกับศูนย์เฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้านทั่วไป แต่การสร้างเรื่องราว การสร้างอารมณ์ร่วม รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเข้ามามาร้านให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นแค่ช่วงเปิดตัวแล้วก็หายหน้ากัน

อิเกียต้องการลูกค้าที่อยู่ด้วยกันตลอดไป และพร้อมจะตามไปในสาขาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

หากเริ่มนับ 1 ได้อย่างถูกต้อง การนับเลขต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ขอเริ่มจาก 5%
“ก่อนที่จะเปิดสาขาในไทย เราทำการสำรวจแล้วพบว่า คนไทยรู้จักแบรนด์อิเกียแค่ 5% เท่านั้น ซึ่งมาจากกลุ่มที่สนใจในเรื่องการแต่งบ้าน ชอบเดินทางไปต่างประเทศ และนักศึกษาที่จบมาจากเมืองนอก”

ลาร์ช สเวนสัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อิคาโน่ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์อิเกียในประเทศไทย ก่อนที่จะมีการเปิดสาขาอย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยกลุ่มเล็กๆ ที่รู้จักอิเกีย และจะรู้กันในกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปเพราะชื่อเสียงของอิเกียในต่างประเทศไม่ได้ด้อยกว่าอินเตอร์แบรนด์อื่นๆ

เมื่อเริ่มต้นจากจำนวนคนที่รู้จักเพียงแค่วงเล็กๆ แต่เมื่อต้องการขยายวงให้กว้างขึ้น และเป็นกลุ่มที่ระดับล่างลงมา รูปแบบการสร้างแบรนด์ของอิเกียในบ้านเราจึงเริ่มต้นขึ้น และถูกจัดวางอย่างเป็นระบบตามวิถีของอิเกีย

ลาร์ช บอกว่า อิเกียเลือกรูปแบบการแนะนำตัวในการเข้ามาในประเทศไทยด้วยการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับตัวตนของอิเกียอย่างตรงไปตรงมา ว่าอิเกียคือใคร และทำอะไร โดยการสื่อสารที่ออกไปจะเผยแพร่ออกไปผ่านทางข่าวสาร มากกว่าการใช้หน้าโฆษณาในสื่อต่างๆ

“อิเกียไม่ได้ซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อบอกว่าเราเข้ามา แต่จะเป็นการสื่อสารผ่านข่าวและกิจกรรมการตลาดต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะถึงวันเปิด 3 พฤศจิกายน” เขาอธิบายรายละเอียด

อิเกียให้ความสำคัญในเรื่องการกระจายข่าวสารผ่านการแถลงข่าวและกิจกรรม จากการรวบรวมกิจกรรมการตลาดที่เกิดขึ้นจนถึงวัน เปิดสาขาอย่างเป็นทางการ อิเกียทำไป 7 ครั้งด้วยกันจึงไม่ต้องแปลกใจที่จะไม่เห็นโฆษณาขนาดเต็มหน้าในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก่อนถึงวันเปิดสาขาของอิเกีย แต่จะมีข่าวของอิเกียออกมาเป็นระยะ ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อิเกียเลือกรูปแบบการแนะนำตัวในการเข้ามาในประเทศไทยด้วยการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับตัวตนของอิเกียอย่างตรงไปตรงมา ว่าอิเกียคือใคร และทำอะไร

Word of Mouth บวกกระแส Online
การให้ข่าวอย่างต่อเนื่อง และตอกย้ำความเป็นอิเกียตลอดเวลา ทำให้ผู้รับข่าวสารหรืออ่านข่าวจะเห็นถึงความเคลื่อนไหวของอิเกียอยู่ตลอดเวลา และแน่นอนว่ากลุ่มคนที่เป็นผู้บริโภคข่าวสารเป็นคนกลุ่มใหญ่ และมีอุปนิสัยในการบอกต่อ และส่งต่อไปเรื่อยๆ

“อิเกียจะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าให้คนอื่นพูดน่าจะดีกว่า Word of Mouth มีผลมากกว่าสร้างการรับรู้ของแบรนด์หลายๆ ขั้นตอน เขาต้องได้ยืนเรื่องราวก่อน ข่าวทุกข่าวคือการสร้างการรับรู้” ลาร์ชอธิบายให้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิดที่ใช้ของอิเกียก่อนเปิดตัว

การที่จะให้มีการพูดต่อ ตามวิธีการของอิเกียก็คือ เริ่มต้นจากการบอกกล่าวถึงการเข้ามาของอิเกีย ทิศทาง นโยบาย และรูปแบบที่อิเกียจะนำเข้ามา เพื่อสร้างความต้องการ และเสาะหาข่าวเกี่ยวกับอิเกียมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค โดยผ่านทางกลุ่มอ้างอิง 5% ที่รู้จักแบรนด์ของอิเกีย

แต่การนำมาซึ่งการรับรู้ของแบรนด์อิเกียนั้น ต้องตรงกับความเป็นอิเกีย คือ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน

อิเกียขายความเป็นสิ่งที่เรียบง่าย และเป็นสินค้าของคนทุกคน ซึ่งเป็นแนวทางหลักของอิเกียทั่วโลก ผนวกรวมกับความเป็นสวีเดนเข้าไป

ประเพณีและวัฒนธรรมของอิเกียจากสวีเดนถูกนำมาใช้กับการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับอิเกีย อย่างแรกสุดคือการจัดกิจกรรม Roof Capping หรือที่เรียกว่าการปิดหลังคาส่วนสุดท้ายของสาขาอิเกีย

การคัดเลือกพนักงานของอิเกียที่จัดเป็นงานกิจกรรมขนาดใหญ่เพื่อระดมคนที่ต้องการร่วมงานของอิเกียมารวมกันแล้วผ่านขั้นตอนการคัดสรรของอิเกีย

การแจกแค็ตตาล็อกซึ่งเป็นเหมือนคู่มือการซื้อสินค้าของอิเกีย และเป็นเอกลักษณ์ของอิเกียมาช้านาน ก็ถูกจัดขึ้นในบ้านเรา

กิจกรรมวันสมาชิกของอิเกียที่เปิดรับสมัครผ่านเว็บไซต์ของอิเกีย โดยสมาชิกของอิเกียได้ร่วมงานในสาขาก่อนเปิดอย่างเป็นทางการล่วงหน้า เพื่อได้เห็นบรรยากาศ และมีความรู้สึกว่าเป็นกลุ่มคนพิเศษของอิเกีย

งานสำคัญตามวัฒนธรรมของสวีเดนอีกสิ่งหนึ่งก่อนการเปิดสาขาก็คือ กิจกรรม Cut the log หรือการตัดต้นซุง ซึ่งเป็นงานที่ทุกสาขาของอิเกียต้องทำ ซึ่งงานนี้ในไทยถูกจัดขึ้นก่อนวันเปิดสาขาอย่างเป็นทางการ 4 วัน

ทั้งหมดคือความเป็นอิเกียที่ชัดเจน และเป็นแนวทางที่อิเกียในสวีเดนกำหนดมาให้เหมือนกับเป็นคู่มือของการเปิดสาขา ทุกแห่งต้องเดินตามแนวทางหลักนี้ แต่ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยก็ปรับตามสภาพและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

ข้อมูลข่าวสารที่อิเกียต้องการสื่อออกไป จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกัน ผ่านการดูแลของทีมบริหาร และผ่านทางเว็บไซต์ของอิเกียที่จัดทำขึ้นมาเฉพาะประเทศที่เปิดสาขา

ช่วงก่อนเปิดสาขาเนื้อหาที่นำเสนอในเว็บไซต์ จะเป็นข้อมูลของอิเกียในประเทศนั้นๆ ทั้งเรื่องราวของอิเกีย สาขา สินค้า การซื้อสินค้าบริการต่างๆ รวมไปถึงข่าวสารหรือสิ่งที่อิเกียต้องการบอกออกไป ก็จะใช้ช่องทางนี้ รวมถึง Bloger และกลุ่มอ้างอิงที่อิเกียตั้งเป้าหมายไว้

ลาร์ชบอกว่า การพูดกันปากต่อปากจากกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกัน กับพันธมิตร คนสวีเดนในประเทศไทย สถานทูตสวีเดน ทุกคนสามารถพูดให้เป็นปากเป็นเสียงให้เรา

ถ้าถามว่าอิเกียให้ความสำคัญกับกลุ่มไหนมากที่สุดก็ต้องมองไปที่กลุ่ม Bloger และ Social Network ต่างๆ เพราะเป็นสื่อที่เหมาะกับการบอกต่อมากที่สุด ตามลักษณะของเทรนด์ในยุคนี้ การโพสต์ข้อความหรือให้ความเห็น และการพูดถึงอิเกียจะเกิดขึ้นในกลุ่ม นี้ แล้วค่อยแพร่กระจายออกไปสู่วงกว้าง

อิเกียขายความเป็นสิ่งที่เรียบง่าย และเป็นสินค้าของคนทุกคน ซึ่งเป็นแนวทางหลักของอิเกียทั่วโลก

ระดมเครื่องมือ Brand
ข้อความหรือสื่อสารการตลาดที่อิเกียต้องการให้พูดถึง และแพร่ขยายไปในวงกว้างตั้งแต่เริ่มเข้ามาเตรียมการเปิดสาขาการให้ข้อมูลต่างๆมีแนวคิดหลักคือ แบรนด์อิเกียมีความแตกต่างและเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เป็นแบรนด์ที่มั่นใจตัวเอง ไม่ห่วงเรื่องคอมเมนต์แง่ลบ

“นี่เป็นสิ่งที่อิเกียบอกกับทุกคน ความเป็นแบรนด์อิเกียคือคนจริงๆ ไม่หรูหรา ฟู่ฟ่า แต่มีความประหลาดใจ และน่ารัก มีอารมณ์ขัน ทั้งหมดคืออิเกีย” ผู้บริหารอิเกียบอกถึงเป้าหมายในการสื่อสารการตลาดช่วงก่อนเปิดสาขาอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน

การโหมโรงล่วงหน้ากว่า 3 เดือน คือการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้บริโภค ให้รับรู้ และตั้งใจรอคอยการเปิดสาขาอย่างใจจด ใจจ่อ

การตอกย้ำให้ผู้บริโภคสนใจอิเกียมากขึ้น ก็คือแค็ตตาล็อกของอิเกียที่ถูกแจกจ่ายไป 1 ล้านเล่ม และแค็ตตาล็อกฉบับย่อยจำนวน 12 หน้า อีก 1 ล้านเล่ม ทั้งสองส่วนนี่ถูกระดมแจกออกไปภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อส่งให้ถึงมือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของอิเกีย

“แค็ตตาล็อก 1 ล้านเล่ม และแค็ตตาล็อก 12 หน้าอีก 1 ล้านเล่ม แจกครบแล้ว ตามบ้านก็จัดส่งไปเรียบร้อยแล้ว” ลาร์ช ยืนยันอีกครั้ง

แค็ตตาล็อกจำนวน 1 ล้านเล่มจะแจกให้กับคนในพื้นที่ 12 กิโลเมตร รอบอิเกีย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพราะเดินทางได้สะดวก ส่วนฉบับ 12 หน้า 1 ล้านเล่ม แจกรอบนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล

หน้าที่ของแค็ตตาล็อกก็คือการตอกย้ำความต้องการและยืนยันสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการซื้อจากอิเกีย สินค้าทุกชิ้นที่วางจำหน่ายจำนวน 75,000 รายการถูกบรรจุเอาไว้ในแค็ตตาล็อก พร้อมวิธีการซื้อสินค้า การขนส่ง ค่าบริการ ซึ่งต้องมีการอธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจ เพราะเป็นการซื้อรูปแบบใหม่

หน้าที่ต่อมาของแค็ตตาล็อกคือการทำให้ผู้บริโภคสามารถวางแผนการซื้อสินค้าได้ล่วงหน้าว่าต้องการสินค้าชิ้นไหน จำนวนเท่าไหร่ คือ สามารถออกแบบ และคำนวณราคาในการแต่งบ้านได้ทันที พร้อมๆ กับการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับลูกค้า และไม่ลืมวันเปิดสาขาอย่างเป็นทางการ

พร้อมกันนั้นเว็บไซต์ของอิเกียตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมจะเพิ่มข้อมูลในเรื่องของสต๊อกสินค้าที่มีอยู่ เพื่อให้ลูกค้ารู้ว่าสินค้าที่ต้องการมีอยู่มากน้อยเท่าไหร่ เป้าหมายก็คือ การตอกย้ำวิธีการซื้อสินค้าที่อิเกีย

“เป็นเรื่องที่อิเกียให้ความใส่ใจ ต้องการให้ซื้อของแล้วได้กลับไปในวันเดียว” ลาร์ช บอกและเพิ่มเติมว่า สิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าเห็นถึงความเป็นอิเกียได้ชัดเจนขึ้น ซื้อง่าย ครบถ้วน และนำกลับบ้านได้เลย ซึ่งทั้งหมดนี้จะตอบโจทย์ที่ว่า สินค้าของอิเกียราคาถูกได้เพราะอะไร

สิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ก็คือ การสร้างกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นแฟนของอิเกีย และเฝ้ารอคอยการเปิดสาขา อิเกียใช้เครื่องมือคือเว็บไซต์ของอิเกียสร้างสมาชิกขึ้นมาตั้งแต่เริ่มต้นเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

การเป็นสมาชิกของอิเกีย สามารถทำได้ 2 ทางคือ สมัครด้วยตัวเองที่อิเกีย กับสมัครผ่านเว็บไซต์ โดยมีสิทธิประโยชน์คือส่วนลดในการซื้อสินค้า สินค้าราคาพิเศษสำหรับสมาชิก บริการเครื่องดื่มฟรี และการได้รับข่าวสารจากอิเกียอย่างต่อเนื่อง

แต่จะให้สมัครสมาชิกแล้วไม่มีอะไรพิเศษ ก็คือไม่สามารถสร้างแฟนอิเกียได้ จึงมีการจัดโปรโมชั่นสมัครสมาชิก 800 คนแรก จะได้รับสิทธิเข้าร่วมงาน Ikea Family Day วันที่ 29 ตุลาคม ที่เปิดให้สมาชิกชวนเพื่อน 4 คนมาร่วมงานเปิดสาขาให้เข้าชมและซื้อสินค้าเป็นกลุ่มแรกเงื่อนไขนี้ทำให้กลุ่มแฟนอิเกียลงทะเบียนสมาชิกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการเป็นสมาชิกของอิเกียทำได้ง่ายดาย แต่ได้รายละเอียดครบถ้วนทั้งหมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ การศึกษา การทำงาน รายได้ และความสนใจในสินค้า

อย่างน้อยสมาชิกกลุ่มแรกของอิเกียก็ต้องทำหน้าที่บอกต่อไปยังกลุ่มอื่นๆ เพื่อสร้างกระแสอีกครั้งหลังจากเปิดสาขาอย่างเป็นทางการแล้ว

การเป็นสมาชิกของอิเกียสามารถทำได้ 2 ทางคือ สมัครด้วยตัวเองทีอิ่เกียกับสมัครผ่านเว็บไซต์ โดยมีสิทธิประโยชน์คือส่วนลดในการซื้อสินค้า

เครื่องมือการสร้างแบรนด์ Ikea
1. Roof Capping Party เป็นการเปิดตัวอิเกียอย่างเป็นทางการในไทย ทำเมื่อการก่อสร้างภายนอกสาขาแล้วเสร็จ และเป็นการบอกถึงวัฒนธรรมอิเกีย รวมทั้งแนะนำสินค้า อาหาร ในรูปแบบของอิเกีย

2. Recruitment Day จัดงานเปิดรับสมัครพนักงาน 1,300 ตำแหน่ง ทั้งพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว มีผู้มีร่วมงานประมาณ 5,000 คน

3. Ikea Catalogue คู่มือในการซื้อสินค้าของอิเกียในปี 2555 ความหนา 376 หน้า จำนวน 1 ล้านเล่ม รวบรวมสินค้าที่จำหน่ายในอิเกีย 7,500 รายการ แจกปีละ 1 ครั้ง หมดแล้วไม่มีการพิมพ์เพิ่ม แต่สามารถดาวน์โหลดแค็ตตาล็อกทั้งเล่มได้ทางเว็บไซต์

4. Ikea Family Day การสร้างกลุ่มแฟนของอิเกียด้วยการสมัครสมาชิก ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ด้านส่วนลดราคาสินค้า เครื่อมดื่ม และสมาชิกกลุ่มแรก 800 คน ได้ร่วมงานเปิดสาขาเป็นกลุ่มแรกในวันที่ 29 ตุลาคม 2554

5. www.ikea.co.th ศูนย์กลางในการสื่อสารของอิเกียสู่ผู้บริโภคซึ่งเว็บไซต์ของอิเกียจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและวาระการรับรู้ของผู้บริโภค พร้อมๆ กับสร้างกระแสให้เกิดขึ้นก่อนเปิดสาขาอย่างเป็นทางการ

6. Cut the log ประเพณีการเปิดสาขาอย่างเป็นทางการของอิเกียที่ทำในทุกประเทศ เป็นการตัดซุงโดยแขกวีไอพีที่อิเกียเชิญมา ซึ่งสาขาในประเทศไทยกำหนดไว้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554

7. Thai Designer การคัดเลือกดีไซเนอร์จากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เข้าร่วมงาน ส่งไปอบรมและเรียนรู้ที่อิเกีย สวีเดน และกลับมาออกแบบสินค้าให้อิเกีย

ปั้นดีไซเนอร์คนไทย ครั้งแรกของอิเกีย
เมื่อสร้างกลุ่มลูกค้าของอิเกียด้วยเครื่องมือต่างๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่อิเกียในประเทศไทยแตกต่างจากสาขาอื่นทั่วโลกก็คือ การสร้างดีไซเนอร์คนไทยที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของอิเกีย เพื่อผลิตสินค้าในนามของดีไซเนอร์ไทย ที่จะวางขายในสาขาที่เมืองไทยเป็นแห่งแรก และขยายไปสู่อิเกียในประเทศอื่น

และการปั้นดีไซเนอร์นคนไทยครั้งนี้ เป็นเคสที่อิเกียใช้ครั้งแรกตั้งแต่มีการเปิดสาขาในต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มดีไซเนอร์ของอิเกียส่วนใหญ่คือคนในพื้นที่สแกนดิเนเวีย ผ่านการอบรมและเรียนรู้จากอิเกีย

ดีไซเนอร์ไทยคนแรกที่ถูกคัดเลือกคือ จักรายุธ์ คงอุไร ที่มาจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ถูกส่งไปฝึกงานกับอิเกียที่เมืองอัมฮูลท์ ในสวีเดน เป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่ต้นปี 2554

ลาร์ช สเวนสัน บอกว่าอิเกียมีโครงการคัดเลือกดีไซเนอร์ทั่วโลกและครั้งนี้เป็นครั้งแรกของดีไซเนอร์ไทยที่ได้ทำงานร่วมกับอิเกีย

เหตุผลที่อิเกียเลือกจักรายุธ์ เพราะโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มีปรัชญาและจุดมุ่งหมายเดียวกัน และอิเกียเข้ามาเปิดสโตร์ในประเทศไทยต้องเรียนรู้และเข้าใจในประเทศไทยและความเป็นไทยอย่างถ่องแท้ โดยผ่านคนไทย เพื่อให้ความเป็นไทยผสมผสานเข้ากับแบรนด์อิเกียให้ได้

สำหรับจักรายุธ์ คงอุไร เป็นดีไซเนอร์ให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ มา 4 ปี โดยผลงานของเขาที่ทำให้อิเกียช่วงแรกเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ และคอลเลกชั่นที่จะวางขายในวันเปดิ สาขาคือ ออกแบบลายกลอ่ งเทียน, ถังแยกขยะ, ภาชนะเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหาร

การปั้นดีไซเนอร์คนไทยของอิเกีย ส่วนหนึ่งเพื่อให้กลมกลืนกับคนไทย และอิเกียให้ความสำคัญกับผลงานดีไซเนอร์ไทยไม่น้อย มีการจัดพื้นที่วางจำหน่ายในที่เด่น ไม่ได้เข้าไปหลบอยู่ภายใน ลูกค้าที่เข้ามาเดินในอิเกีย จะสามารถมองเห็นผลงานของดีไซเนอร์คนไทยอย่างชัดเจน

ด้วยความที่อิเกียเปิดมานานในต่างประเทศ การถูกหยิบยืมวิธีคิดการออกแบบสินค้า การจัดวางร้าน ย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลา และในบ้านเราเองก็ต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลและนำแนวคิดของอิเกียมาใช้กับร้านของตัวเอง และทำมาอย่างต่อเนื่องจนผู้ซื้อแยกไม่ออก

เมื่ออิเกียเข้ามาเองโดยตรง ก็ต้องทำให้ผู้บริโภครู้ว่าทั้งหมดที่ผู้ซื้อเห็นมาก่อนหน้านี้คือความเป็นอิเกีย แม้จะเป็นเพียงบางส่วนก็ตามแต่หลังจากนี้ไปรูปแบบของอิเกียที่ถูกต้อง ชัดเจน จะเกิดขึ้น

อิเกียต้องการสื่อออกไปว่า สินค้า การให้บริการ รูปแบบของร้านที่ถูกหยิบยืมไปใช้ ก่อนหน้านี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อตัวจริงและต้นแบบมาแล้ว จะไม่มาทดลองหรือเข้าร้านเลยหรืออย่างไร

มองอีกมุมหนึ่ง อิเกียไม่ต้องใช้เวลาแนะนำธุรกิจศูนย์เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้านให้กับผู้บริโภคมากนัก เพราะผู้ประกอบการรายอื่นทำขั้นตอนนี้ให้แล้วมานานหลายปี อิเกียเพียงหยิบยื่นความเป็นอิเกียให้ผู้บริโภครู้จักมากขึ้น พร้อมกับรักษาและขยายฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด

อิเกียไม่ได้เข้ามาทำศูนย์เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านแห่งแรกในประเทศไทย แต่กำลังขาย Ikea Way ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

Timeline Ikea Bangna
เวลา กิจกรรม
ส.ค. 2553 สยามฟิวเจอร์ร่วมทุนกับอิเกียเปิดสาขาในไทย
มี.ค. 2554 จัดงาน Roof Capping Party แถลงเตรียมความพร้อมของสาขา และกำหนดเปิด 3 พ.ย. 2554
พ.ค. 2554 จัดงาน Recruitment มีผู้ร่วมงาน 5,000 คน
ก.ย. 2554 แจกแค็ตตาล็อกความหนา 376 หน้า 1 ล้านเล่ม และแค็ตตาล็อก 12 หน้า 1 ล้านเล่ม
ต.ค. 2554 จัดงานให้สมาชิกเยี่ยมชมร้าน
พ.ย. 2554 จัดงาน Cut the log เพื่อเปิดสาขาจัดงานเปิดสาขารอบสื่อมวลชนเปิดสาขาอย่างเป็นทางการ