“เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” ใช้ทำอะไรได้บ้าง? ไปดูตัวอย่างจากสารพัดวงการกัน

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ
(Photo: Shutterstock)
เทคโนโลยี “เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้การทำงานในหลายวงการง่ายขึ้น ตั้งแต่วงการการแพทย์จนถึงแฟชั่น ยานยนต์จนถึงการก่อสร้าง ความเป็นไปได้ที่จะใช้เทคโนโลยีนี้สร้างสรรค์งานโปรโตไทป์นั้นแทบไม่มีขอบเขตจำกัด ไปดูตัวอย่างกันว่า แต่ละวงการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อผลิตอะไรกันบ้าง

ตั้งแต่ที่เทคโนโลยี “เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” มีราคาถูกลง โดยเครื่องในระดับเริ่มต้นทำราคาลงมาเหลือเครื่องละ 300 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,000 บาท) ทำให้ธุรกิจต่างๆ เข้าถึงการใช้งานได้ง่ายขึ้น

เว็บไซต์ Forbes มีการรวบรวมตัวอย่างจากมืออาชีพในวงการต่างๆ ว่าพวกเขาใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติทำอะไรกันบ้าง

“วงการการแพทย์”

เครื่องพิมพ์ 3 มิติมีประโยชน์มากกับอุตสาหกรรมนี้ เพราะสามารถใช้ผลิตกระดูกเทียมจากโลหะสำหรับปลูกถ่ายให้กับคนไข้ในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวเข่า กะโหลก กระดูกสันหลัง สะโพก เป็นต้น หรือในกลุ่มทันตกรรม ก็สามารถใช้ผลิตสิ่งต่างๆ เช่น รีเทนเนอร์ โมเดลจำลอง ได้เช่นกัน

“วงการก่อสร้าง”

เครื่องพิมพ์ 3 มิติถูกนำมาใช้ได้ทั้งกับงานใหญ่และงานเล็ก งานเล็กที่ใช้กันโดยทั่วไปคือนำมาสร้างโมเดลสถาปัตยกรรม

ส่วนงานใหญ่คือมีการนำมาใช้สร้างโครงการจริง เช่น เมื่อปี 2016 บริษัทสถาปัตย์ในประเทศจีน ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอย 400 ตารางเมตร เสร็จภายใน 45 วัน และบ้านหลังนี้ยังมีกำแพงหนาพอที่จะทนแรงแผ่นดินไหวขนาด 8 แมกนิจูดได้ด้วย ส่วนอาคารที่ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างได้สูงที่สุดในปัจจุบัน เป็นวิลล่าสูง 10 เมตรที่ตั้งอยู่ในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย สร้างเมื่อปี 2022

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ
วิลล่าสูง 10 เมตรในกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย เป็นอาคารสร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติทั้งหลังที่สูงที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ (Photo: COBOD)
“วงการแฟชั่น”

การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติผลิตเสื้อผ้าเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2015 โดยดีไซเนอร์ Danit Peleg เป็นคนแรกที่ทดลองใช้งานในโครงงานวิทยานิพนธ์ของเธอ ต่อมาดีไซเนอร์ชาวดัตช์ Iris van Herpen ก็เริ่มนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาทดลองผลิตงานจริง มีลูกค้านำไปสวมใส่จริงบนพรมแดง Met Gala ปัจจุบันแม้แต่แบรนด์ระดับแมส เช่น Reebok หรือ Dior ก็เริ่มสร้างงานดีไซน์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติแล้ว

Fredrik Robertsson ในชุด ‘Quantum’ ของ Iris van Herpen บนพรมแดง Met Gala 2022 ชุดนี้ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติผลิต
“วงการการศึกษา”

ครูอาจารย์สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างสื่อการสอนที่น่าสนใจขึ้นมาได้ เช่น การสร้างเครื่องจักรในวิชาด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรม สร้างอุปกรณ์จำลองตรีโกณมิติเพื่อมาอธิบายในวิชาคณิตศาสตร์

นอกจากนี้ บางสถาบันการศึกษายังเริ่ม​เปิดคอร์ส “สอนการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” แล้วด้วย เช่น MIT, University of Texas, Virginia Tech

“วงการยานยนต์”

เมื่อปี 2014 บริษัท Local Motors เป็นเจ้าแรกในโลกที่ลองผลิตรถยนต์ทั้งคันด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้ชื่อรุ่นว่า Strati รถรุ่นนี้ใช้เวลา 44 ชั่วโมงในการพิมพ์ออกมา วิ่งได้จริงด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

โดยทั่วไปแล้ว วงการยานยนต์ไม่ค่อยได้ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติผลิตรถทั้งคัน แต่นำมาสร้างโปรโตไทป์ และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ในปี 2024 จะมีรถ Cadillac Celestiq ของ GM ที่จะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 100 ชิ้น

Cadillac Celestiq ที่จะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากกว่า 100 ชิ้น (Photo: GM)
“วงการยานอวกาศ”

เหมือนกับวงการยานยนต์ วงการยานอวกาศใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างโปรโตไทป์และชิ้นส่วนเช่นกัน การพิมพ์ขึ้นมาได้เองทีละชิ้นทำให้ไม่ต้องสั่งทำสต็อกชิ้นส่วนบางอย่างไว้เป็นจำนวนมาก โดยรวมแล้วทำให้การผลิตลดต้นทุนได้ดีกว่า

Source