Thailand Brand Crisis

หลังวิกฤตน้ำท่วม สิ่งที่ยังเหลืออยู่นอกจากกซากปรักหักพังที่ต้องซ่อมสร้างขึ้นใหม่แล้ว อีกอย่างหนึ่ง
ที่เสียหายไม่น้อยคือ “แบรนด์ของประเทศไทย” ที่ “สรณ์ จงศรีจันทร์” Chief Business Advisor & Chief Brand Strategist กลุ่มบริษัท ยังก์ แอนด์ รูบิแคม แบรนด์ จำกัด บอกว่า ต้องกู้กลับคืนมาให้ได้ ไม่เช่นนั้นวิกฤตเศรษฐกิจจะซ้ำเติมประเทศไทย นอกเหนือจากนี้ยังมีมุมมองเรื่องธุรกิจที่จะอยู่หรือไป และต้องปรับตัวเพื่อรับมือน้ำที่จะมาทุกปีบนับจากนี้

3 แบรนด์ที่เสียหายอย่างชัดเจนแล้วในเวลานี้ประกอบด้วย 1.แบรนด์ประเทศไทย 2.แบรนด์รัฐบาลไทย และ3.แบรนด์ของผู้ประกอบการบางแบรนด์

ภัยธรรมชาติทำลายแบรนด์ประเทศไทย

แบรนด์ประเทศไทยเสียหายทันทีเมื่อนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งถูกโจมตีด้วยน้ำจนต้องปิดนิคม ซึ่งในนิคมเหล่านั้นมีต่างชาติมาลงทุนจำนวนมาก ส่งผลให้สินค้าหลายอย่างที่ส่งออกไปต่างประเทศต้องชะงัก ต้องเลื่อนเปิดตัว เลื่อนการจำหน่าย และพนักงานตกงานรวมเกือบ 5 แสนคน เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ตั้งเดิมของนิคมต่างๆ นั้นเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม และชัดเจนว่านับจากนี้น้ำจะท่วมหนักทุกปี เพราะได้เริ่มหนักมากขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา

นับจากนี้ไปอีก 3 ปี อุตสาหกรรมที่ลงทุนในนิคมเหล่านั้นจะทบทวนแผนการลงทุนใหม่ว่าย้ายหรือไม่ย้ายที่ตั้งโรงงาน แม้ว่าหลายบริษัทได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ย้าย แต่นั่นเป็นเพียงคำปลอบใจที่ตอบในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตเท่านั้น

โจทย์ที่สำคัญ คือทำอย่างไรให้นักลงทุนที่ลงทุนอยู่แล้วอยู่ต่อ โดยไม่ต้องหวังสูงว่าจะเพิ่มนักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น ซึ่งวิธีการคงไม่ใช่บอกว่าประเทศไทยปลอดภัยจากธรรมชาติ เพราะประเทศเปลี่ยนไม่ได้ แต่คือการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

แบรนด์รัฐบาลติดลบยากเยียวยา
ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาในจังหวะที่ไม่ดี ตั้งแต่ภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจโลกวิกฤต ข้าวยากหมากแพง จนต้องกักตุนสินค้า เช่น น้ำมัน ข้าว จนล่าสุดวิกฤตน้ำท่วม ที่ไม่สามารถสร้างความชัดเจนและแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์ ทำให้ปัญหาลุกลามและรุนแรง จนประชาชนเกิดความโกลาหลในการใช้ชีวิตในช่วงวิกฤต

เป็นการสะท้อนประสิทธิภาพในการบริหาร จนหมดความน่าเชื่อถือ ทำให้แบรนด์รัฐบาลเสียหาย ซึ่งถูกรับรู้กันอย่างทั่วถึง ดีกรีความเสียหายยังวัดได้จากความแพร่หลายความรู้สึกเกี่ยวกับรัฐบาลในโซเชี่ยลมีเดีย โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “รัฐบาลอย่าตื่นตระหนก” หรือ “ประชาชนจะดูแลรัฐบาลเอง” สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่แบรนด์รัฐบาลเสียหาย มีค่าเป็นศูนย์ แต่ถึงขั้นแบรนด์ติดลบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การแก้ไขแบรนด์รัฐบาลง่ายกว่าการแก้ไขแบรนด์ประเทศ เพราะเราทุกคนต้องอยู่ในประเทศ ที่ประเทศไม่สามารถเปลี่ยนสภาพได้ แต่แบรนด์รัฐบาลแก้ไขได้ง่าย คือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลยังคงอยู่ต่อ ก็มีโจทย์สำคัญคือการฟื้นความเชื่อมั่น การทำตามที่มีพันธะสัญญากับประชาชน

การสร้างความเชื่อมั่นต้องเริ่มตั้งแต่เชื่อมั่นในผู้นำประเทศ ซึ่งจุดอ่อนที่ผ่านมาคือรัฐบาลไทยไม่ชัดตั้งแต่ต้นว่าเมื่อถามถึงผู้นำรัฐบาลเป็นใคร คำตอบคือไม่ได้นึกถึง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อย่าง 100% กลายเป็นการนึกถึงพี่ชายของนายกรัฐมนตรี และเมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วม ก็ไม่สามารถแสดงถึงความเป็นนผู้นำในการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันในส่วนของการทำตามพันธะสัญญาที่ให้กับประชาชนก็ไม่สามารถทำได้

หากพูดถึงหลักการสร้างแบรนด์แล้ว ต้องมี 8 ขั้น คือ1.รู้ 2.เข้าใจแบรนด์ 3.เชื่อถือในแบรนด์ 4.อยากได้ 5.หาซื้อ 6.ซื้อ 7.มีการใช้งาน และ 8.ชอบ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ยังอยู่เพียงขั้นแรกคือ “รู้”ว่าทำงานเป็นรัฐบาล แต่ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้นคืออะไร ความจริงคืออะไร ดังนั้นในขั้นตอนต่อไปตั้งแต่ความเชื่อถือจนถึงความชอบ จึงไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายสำหรับแบรนด์เดิมหรือแบรนด์ที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง

เช็กบิลแบรนด์ที่เอาเปรียบ

ในช่วงวิกฤตน้ำท่วมจะเห็นว่ามีข่าวสินค้าหลายรายการที่ขึ้นราคา โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นในการป้องกันน้ำท่วมอย่างถุงทราย วัสดุก่อสร้างป้องกันน้ำท่วม หรือแม้แต่สินค้าที่ผู้บริโภคต้องกักตุนไว้เพื่อบริโภคภคในช่วงฉุกเฉิน

แม้จะถูกเอาเปรียบแต่ผู้บริโภคต้องซื้อเพราะเป็นช่วงจำเป็น แต่หากพ้นวิกฤตแล้ว จะเกิดการเช็กบิลกับแบรนด์หรือผู้ประกอบการที่เคยเอาเปรียบ

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ผู้ประกอบการที่อยากฟื้นตัว ยังมีโอกาสตรงที่พฤติกรรมผู้บริโภคไทยเองเป็นคนลืมง่าย

ความสำคัญของทั้ง 3 แบรนด์ ทั้งในระดับประเทศ ในระดับรัฐบาล และผู้ประกอบการ ที่เสียหายไปแล้วนั้น ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ต้องฟื้นฟูนับจากนี้ เพราะมีผลต่อคนไทย คือหากทั้ง 3 แบรนด์แข็งแรงก็จะนำมาสู่ “ความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืน”