“TCP” รุกคืบร่วมทุนท้องถิ่นในตลาดดาวรุ่ง “มาเลเซีย” ด้านรายได้องค์กรปี’66 วางเป้าโต 10-15%

TCP มาเลเซีย
TCP เปิดแผนปี 2566 รุกตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง โฟกัสตลาด “มาเลเซีย” เซ็นสัญญาร่วมทุนท้องถิ่น “Yee Lee Group” เพื่อให้ “กระทิงแดง” ขยายตลาดได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้านตลาด “จีน” โรงงานในเสฉวนจะเริ่มเดินเครื่องปลายปีนี้ เพิ่มกำลังผลิตได้เป็นเท่าตัว วางเป้ารายได้ทั้งองค์กรปี’66 เติบโต 10-15% จากปีก่อน แม้ไตรมาสแรกไม่ค่อยสดใสนัก

“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีหนึ่งที่บริษัทมีความคืบหน้าในตลาดต่างประเทศสูง โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งรุกคืบในตลาด “มาเลเซีย” ไปอีกขั้น ด้วยการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ “Yee Lee Group” บริษัทท้องถิ่นในมาเลเซีย

โดย Yee Lee Group นั้นเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย “กระทิงแดง” หรือ “Red Bull” ในมาเลเซียให้ TCP มานาน 8 ปี และทางบริษัทเห็นศักยภาพของตลาดนี้ว่ายังเติบโตเพิ่มขึ้นได้ จึงตัดสินใจร่วมทุน 50:50 ในบริษัท Yee Lee Marketing เพื่อให้ TCP ได้เข้าใจผู้บริโภคมาเลย์ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

นอกจากนี้ Yee Lee Group นั้นเป็นบริษัทใหญ่ด้าน FMCG ในมาเลเซีย เป็นทั้งผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าหลายกลุ่ม เช่น อาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงเป็นพันธมิตรที่สามารถร่วมงานกันได้ในระยะยาว

TCP มาเลเซีย
ตัวอย่างสินค้า Red Bull ที่จำหน่ายในมาเลเซีย

ปัจจุบัน “Red Bull” ที่จำหน่ายในมาเลเซียมี 3 รายการ คือ รสออริจินัล กระป๋องทอง, รสน้ำตาลน้อยลง 25% กระป๋องเงิน และ Red Bull Plus ไม่มีน้ำตาล และทั้งสามผลิตภัณฑ์นี้ส่งให้แบรนด์ Red Bull เป็นเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink) อันดับ 1 ของมาเลเซีย ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 51.3% (ข้อมูลจาก NeilsenIQ)

สราวุฒิกล่าวต่อว่า ศักยภาพของมาเลเซียที่บริษัทเล็งเห็น คือ อัตราการบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังที่ยังต่ำอยู่ โดยมีการบริโภคเพียง 1 ลิตรต่อคนต่อปี เทียบกับไทยมีการบริโภค 5 ลิตรต่อคนต่อปี หรือเวียดนามบริโภคสูงถึง 6 ลิตรต่อคนต่อปี จึงยังมีพื้นที่ว่างให้ตลาดนี้เติบโตได้อีกมาก

 

โรงงาน “จีน” ใกล้เดินเครื่อง

สำหรับประเทศจีน ตลาดใหญ่ของ TCP ตามรายงานข่าวก่อนหน้านี้ที่บริษัทเคยประกาศการลงทุน 2,000 ล้านหยวน (ประมาณ 9,800 ล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มของบริษัทในมณฑลเสฉวน ครอบคลุมพื้นที่ 166 ไร่

สราวุฒิอัปเดตความคืบหน้าว่า โรงงานดังกล่าวจะเริ่มเดินเครื่องได้ภายในปลายปีนี้ และจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1,400 ล้านกระป๋องต่อปี เติบโตเป็นเท่าตัว และยังมีพื้นที่เหลือสำหรับไลน์ผลิตสินค้าอื่นที่อาจมีขึ้นในอนาคต

TCP 9 หมื่นล้าน
พิธีวางรากฐานโรงงานแห่งใหม่กระทิงแดง มณฑลเสฉวน ประเทศจีน

โดยเครื่องดื่มกระทิงแดง หรือที่คนจีนรู้จักในชื่อ “หงหนิว” มีจำหน่ายในจีนมากว่า 30 ปีแล้ว และเป็นแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังอันดับ 1 อย่างไรก็ตาม สราวุฒิกล่าวว่าในระยะหลังมีแบรนด์ใหม่ๆ โดยเฉพาะแบรนด์ท้องถิ่นของจีนเองเกิดขึ้นมากมาย จึงเป็นความท้าทายที่ TCP จะต้องพัฒนาให้ทันผู้บริโภคอยู่เสมอ

ปลายปีนี้บริษัทจึงเตรียมจัดตั้งแผนกคิดค้นพัฒนาสินค้า เพื่อให้คนจีนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจคนจีนเอง เป็นแต้มต่อในการครองตลาด

 

วางเป้าปี’66 เติบโต 10-15%

สำหรับประเทศไทยเองก็มีการลงทุนเพิ่มเติมเช่นกัน โดยปลายปีนี้คาดว่าจะได้เริ่มไลน์ผลิตเครื่องดื่มประเภทขวดแก้ว 2 ไลน์ใหม่ในโรงงานปราจีนบุรี สนับสนุนการผลิตเครื่องดื่มทุกแบรนด์ที่ใช้ขวดแก้ว เช่น กระทิงแดง, เรดดี้, โสมพลัส, ไฮ่ x DHC, สปอนเซอร์

ผลิตภัณฑ์ใหม่: (จากซ้าย) Red Bull โซดา แบบไม่มีน้ำตาล, FarmZaa มะปี๊ดโซดา จากฟาร์มเกษตรกรเมืองจันท์ และ Planett โซดากลิ่นดอกไม้และผลไม้ หนึ่งใน 50 สินค้านวัตกรรมด้านรสชาติ ในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023

รวมถึงมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดไทย ได้แก่ Red Bull Soda ไม่มีน้ำตาล 2 รสชาติ รสแอปเปิ้ล-องุ่นมัสแคต และ รสเกรปฟรุ๊ต-สับปะรด, FarmZaa มะปี๊ดโซดา, คอลลาเจนกัมมี่ DHC x Bestural และ Planett โซดากลิ่นดอกไม้และผลไม้ ซึ่งสินค้าใหม่ทั้งหมดสามารถเข้าชมและชิมได้ที่งาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

สราวุฒิกล่าวว่า เมื่อปี 2565 ถือเป็นปีที่ดีมากของ TCP ทำรายได้ไปถึง 50,000 ล้านบาท เติบโตเกือบ 20% ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัวในตลาดต่างประเทศ

ส่วนปี 2566 นี้ บริษัทยังตั้งเป้าเติบโต 10-15% แต่รายได้ในช่วงไตรมาสแรกยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยยังทรงตัวไม่เติบโต อย่างไรก็ตาม พบว่าเกิดจากเมื่อปีก่อนบริษัทต่างๆ ต่างตุนสินค้าไว้มาก เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งทำให้ช่วงไตรมาสแรกมีการชะลอการสั่งซื้อ จึงหวังว่าในช่วงที่เหลือของปีจะมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและทำให้บริษัทโตได้ตามเป้าหมาย