Foodland ฝ่าวงล้อมค้าปลีก ขอเปิดปีละ 2 สาขา เตรียมผุดไซส์เล็ก เกาะไปกับคอนโด

Foodland กลับมาขยายสาขาอีกครั้งนับจากปี 2562 ขอขยายเบาๆ ปีละ 2 แห่ง เน้นในกรุงเทพฯ ไม่ไปต่างจังหวัดแล้ว เพราะกำลังซื้อไม่เหมือนกัน เตรียมเปิดฟอร์แมตใหม่ Foodland Grocerant ไซส์เล็ก เจาะตามคอนโด ยุทธการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ท้าชน Maxvalu เต็มตัว

เปิดปีละ 2 สาขา เน้นในกรุง ไม่ไปต่างจังหวัดแล้ว

Foodland เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกในไทย ในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ในปีนี้มีอายุ 51 ปีแล้ว แต่แผนในการทำตลาดค่อนข้าง Conservative เนื่องจากเป็นธุรกิจครอบครัว และไม่ได้เน้นจำนวนสาขาเยอะ ต้องการเน้นคุณภาพของลูกค้า และโลเคชั่นที่ตั้งมากกว่า

51 ปีที่ผ่านมา Foodland มีสาขารวม 24 สาขา อยูในกรุงเทพฯ 21 สาขา และต่างจังหวัด 3 สาขา อยู่ในพัทยา 2 แห่ง และโคราช 1 แห่ง

Foodland

เมื่อ 4-5 ปีก่อน Foodland ตั้งเป้าว่าจะขยายสาขาให้ได้ปีละ 3-5 สาขา เพราะโอกาสในตลาดยังมีอีกมาก รวมถึงทำเลในต่างจังหวัดก็ยังมีอีกเยอะ แต่หลังจากปี 2562 ที่ธุรกิจเจอความท้าทายรอบด้าน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Foodland ได้ลดเป้าในการขยายสาขาเหลือปีละ 2 สาขา

และเมื่อต้นปี 2563 ก็ดันเจอเหตุการณ์ “กราดยิงที่โคราช” ในตอนนั้น Foodland อยู่ในจุดที่ได้รับความเสียหายหนัก ต้องปิดปรับปรุง 2-3 เดือน สูญรายได้เดือนละ 10 ล้านบาท หลังจากนั้น Foodland ก็ไม่ได้ขยายสาขาใดๆ เพิ่ม ประกอบกับอยู่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ด้วยพอดี

ในปีนี้ Foodland พร้อมกลับมาขยายสาขาอีกครั้ง โดยมองอยู่ที่ปีละ 2 สาขาเช่นเคย พื้นที่เฉลี่ย 1,200-1,500 ตารางเมตร เน้นโลเคชั่นในกรุงเทพฯ ได้ทั้งโซนที่ติดรถไฟฟ้า โซนที่มีหมู่บ้านใหญ่ๆ

Foodland

อธิพล ตีระสงกรานต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด เล่าว่า

“ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา Foodland มียอดขายสูงขึ้น แต่ได้กำไรน้อย เนื่องจากคนอยู่บ้านทำอาหารมากขึ้น แต่การบริหารจัดการคนยาก เพราะมีพนักงานติดเชื้อ กักตัวอยู่ตลอด ทำให้ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาเราไม่ได้เจ็บตัวมาก ในปีนี้เรากลับมาขยายสาขา ในกรุงเทพฯ ยังขยายตามเส้นรถไฟฟ้าได้อีก ไม่กล้าขยายไปต่างจังหวัดแล้วเพราะกำลังซื้อไม่ได้ กลุ่มลูกค้าของ Foodland จะอยู่ระดับกลางไปถึงบน แต่คนต่างจังหวัดมองความคุ้มค่าเป็นหลักมากกว่า”

ผุดสาขาสีลม โซนลูกค้ากำลังซื้อสูง

ปีนี้ได้ประเดิมสาขาแรกที่โครงการพาร์คสีลม พื้นที่ 1,700 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 60 ล้านบาท มีการดีไซน์แนวโมเดิร์น ลักชัวรี่ให้เข้ากับดีไซน์ของตึก

ถึงแม้ว่าสาขานี้จะอยู่ใจกลางเมืองมากๆ เป็นโลเคชั่น CBD ใจกลางสีลม แต่ก็ไม่ใช่สาขาในเมืองแห่งแรกของ Foodland ก่อนหน้านี้ได้มีสาขาพัฒน์พงษ์ และสาขาสุขุมวิทที่เปิดมายาวนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่สาขาพาร์คสีลมจะมาช่วยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น

Foodland

อธิพล เสริมอีกว่า ความพิเศษของสาขานี้คือ ประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่มากขึ้น โดยปกติแล้วลูกค้าของ Foodland จะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องวัตถุดิบอาหารพอสมควรอยู่แล้ว และรู้ความ้ตองการของตัวเอง แต่ที่สาขานี้จะมีพนักงานที่เทรนเรื่องข้อมูลสินค้าอย่างดี เรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำแผนกมาให้ความรู้ รวมไปถึงมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเยอะมากขึ้น ทั้งเนื้อ ชีส ไส้กรอก ไวน์ เป็นต้น สินค้าแต่ละตัวจะมีหลายเกรดให้ลูกค้าเลือกได้มากขึ้น

สาขานี้ตั้งเป้ามีทราฟฟิกคนใช้บริการเฉลี่ย 2,000-2,500 คน/วัน มีรายได้ 20 ล้านบาท ปกติแต่ละสาขาจะมีรายได้เฉลี่ย 15-20 ล้านบาท

Foodland

“ในช่วงปี 2561 เราตั้งเป้าเปิดสาขาเฉลี่ยปีละ 3-5 สาขา แต่ติดเรื่องคนไม่พอ ผู้จัดการคนเก่าๆ ก็เริ่มเกษียณออกไป ทำให้ไม่มีคนเทรนนิ่งพนักงาน ยุคนี้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีอยากทำงานบริการแล้วด้วย เพราะต้องทำอาทิตย์ละ 6 วัน เราเลยต้องจูงใจด้วยรายได้เริ่มต้น 14,000 บาท เพิ่งปรับเพิ่มจาก 12,500 บาท เราให้มากกว่า 450 บาทอีก”

ในปีนี้จะเปิดอีก 1 สาขาที่โครงการ Icon 56 ย่านสายไหม เป็นโครงการใหม่ของปั๊มปตท. ยังคงเจาะทำเลย่านที่พักอาศัย รวมไปถึงมีแผนที่จะรีโนเวตสาขาเก่าเพิ่ม เช่น สาขาลาดพร้าว มีการปรับถูกและดีใหม่ และสาขาเพชรบุรีตัดใหม่ ใช้งบลงทุน 20 ล้าน

เตรียมปั้นไซส์เล็ก ชน Maxvalu

วงการค้าปลีกในปัจจุบันเน้นการทรานส์ฟอร์มตัวเองอย่างหนัก จะเห็นว่าหลายเจ้ามีการผุดโมเดลใหม่ๆ เพื่อรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค มีทั้งขนาดเล็กลง เพื่อให้ขยายได้มากขึ้น เข้าถึงชุมชนมากขึ้น ไปจนถึงการจับมือกับพาร์ตเนอร์ในการมีทำเลใหม่ๆ ไปเลย เทรนด์หนึ่งที่สำคัญคือ การออกนอกศูนย์การค้า เป็นการกระจายความเสี่ยงอย่างหนึ่ง หลังจากที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤต COVID-19

ที่ผ่านมา Foodland เป็นแบรนด์ส่วนน้อยที่ไม่มีการแตกโมเดลใหม่ๆ ไม่ได้ลงทุนใหม่ๆ มากนัก แต่ในปีนี้เริ่มมีแผนเป็นรูปเป็นร่างในการผุดโมเดลใหม่ขึ้นมา เพราะมีโจทย์สำคัญในการเข้าถึงลูกค้าคนรุ่นใหม่มากขึ้น จึงต้องเจาะเข้ากลุ่มคอนโด

Foodland

ในปีหน้าเราจึงจะได้เห็น Foodland Grocerant (ฟู้ดแลนด์ โกเซอรองต์) เป็นคอนเซ็ปต์ของ Grocery + Restaurant หรือร้านสะดวกซื้อ ผสมร้านอาหาร โมเดลนี้จะมีพื้นที่ราวๆ 200 ตารางเมตร ไม่เชิงเป็นร้านสะดวกซื้อ แต่พื้นที่จะเป็นร้านถูกและดีครึ่งหนึ่ง และเป็น Grocery อีกครึ่งหนึ่ง มีอาหารพร้อมทาน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าร้านถูกและดีจะมีพื้นที่นั่งหรือไม่ กำลังศึกษากันอยู่

คอนเซ็ปต์นี้จะเริ่มพันธมิตรกับ SC ASSET ในการไปเปิดกับโครงการใหม่ ตอนนี้มีการเซ็นสัญญา 2 แห่งแล้ว คอนโดใหม่ย่านวงเวียนใหญ่ และรัชดาฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2567

“ตอนนี้โจทย์ใหญ่ของ Foodland อยากได้ลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่บ้าง ปกติลูกค้าเราอายุเฉลี่ย 30 ปลายๆ แต่เราอยากได้อายุต่ำกว่า 30 ปีมากขึ้น เลยต้องเจาะฐานคนอยู่คอนโด หรือหมู่บ้านที่อยู่อาศัยที่มีกำลังซื้อ อยากทำให้แบรนด์เฟรชขึ้น”

การเปิดร้านไซส์เล็กตามโครงการคอนโด เรียกว่าเป็นการท้าชน Maxvalu จากค่ายอิออนเต็มตัวเช่นกัน เพราะ Positioning มีความใกล้เคียงกัน เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต แตกต่างจากเจ้าอื่นที่เป็นร้านสะดวกซื้ออยู่แล้ว เห็นได้ว่าโครงการอสังหาริมทรัพย์ในยุคต่อไปน่าจะเนื้อหอมมากขึ้น จากการเป็นพันธมิตรจากผู้เล่นค้าปลีก

Photo : Shutterstock

สำหรับร้าน “ถูกและดี” อธิพลบอกว่า ยังไม่สามารถขยายสาขาไปนอก Foodland ได้แบบฟูลสเกล ถ้าเป้นโมเดลเล็กๆ เป็นเคาน์เตอร์ยังมีโอกาส เนื่องจากบริหารจัดการยาก

อธิพลทิ้งท้ายด้วยประเด็นการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เทียบกับรายอื่นในตลาดถือว่ามีการเปิด 24 ชั่วโมงน้อยรายมากๆ

“การเปิด 24 ชั่วโมงเป็นภาระอย่างหนึ่ง มีต้นทุนที่สูงเมื่อเทียบกับรายอื่น แต่ที่เราต้องเปิด 24 ชั่วโมง เพราะตลาดของสดจะกระจายสินค้าตอนเที่ยงคืน เราต้องการกระจายสินค้าในวันเดียวกัน เพื่อไม่ให้ค้างคืน ทีนี้แต่ก่อนผับบาร์เปิดได้ถึงตี 4 คนออกจากผับยังมาทานอาหารที่เราได้ แต่ตอนนี้พฤติกรรมเปลี่ยนไป ผับบาร์ปิดเร็ว เราขายได้น้อยลง 

ส่วนหนึ่งเป็นภาระ แต่ก็เป็นจุดขายด้วยเช่นกัน ถามว่าเราจะต้องปิดตอนกลางคืนมั้ย… ถ้าอยากได้กำไรมากขึ้นก็ปิดได้ แต่เรายังมีลูกน้องที่ยังต้องเรียนในตอนกลางวันก็จะได้รับผลกระทบ คิดว่าถ้าเรายังอยู่ได้ก็ไม่อยากยกเลิก”