IMF ชี้ จีนดูมีเสถียรภาพมากขึ้นจากข้อมูลล่าสุด เชื่อว่า GDP โตได้ในระยะกลาง ถ้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ภาพจาก Unsplash
IMF ได้ให้มุมมองกับเศรษฐกิจจีนล่าสุด โดยอ้างอิงข้อมูลที่ได้รับว่าเศรษฐกิจจีนดูมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดียังแนะนำให้จีนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ในระยะกลาง GDP ยังเติบโตต่อไปได้

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจจีนล่าสุดว่าจากข้อมูลล่าสุดเห็นสัญญาณเสถียรภาพในเศรษฐกิจแดนมังกรแล้ว แต่เชื่อว่าจีนจะสามารถเร่งการเติบโตได้ในระยะกลางได้ ถ้าหากดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อปรับสมดุลจากการลงทุนไปสู่การใช้จ่ายของผู้บริโภค

Julie Kozack โฆษกของ IMF กล่าวในการแถลงข่าวว่า ข้อมูลล่าสุดของเศรษฐกิจจีนมีหลายอย่างปะปนกัน แต่มีสัญญาณแสดงถึงเสถียรภาพในเศรษฐกิจจีนบ้างแล้ว ท่ามกลางปัญหาด้านโครงสร้างประชากร และผลิตภาพของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง

แม้ว่า GDP ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจะเติบโตถึง 6.3% ก็ตาม แต่สถานการณ์เศรษฐกิจจีนยังน่ากังวลจากการฟื้นตัวช้าเกินไปนั้น และรวมถึงแรงกดดันจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขการบริโภคในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก

ขณะเดียวกันจีนเองยังประสบปัญหาการย้ายกำลังการผลิตออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากเกาหลีใต้ หรือผู้ผลิตรายอื่นๆ อย่างเช่น Apple หรือผู้ผลิตสินค้ารายอื่น ที่มองถึงความยืดหยุ่นของ Supply Chain และลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

ไม่เพียงเท่านี้นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มมองเห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นว่าจีนจะเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจซบเซาเหมือนญี่ปุ่นด้วยจำนวนประชากรสูงวัย (Japanification)

ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก กรรมการผู้จัดการของ IMF เคยให้มุมมองด้านเศรษฐกิจจีนว่า “เราคาดการณ์ว่าหากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้าง การเติบโตระยะกลางของเศรษฐกิจจีนอาจลดลงต่ำกว่า 4%”

โฆษกของ IMF ยังได้กล่าวเสริมว่า ยังคงเชื่อว่าในปีนี้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้ประมาณ 5% ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวจะมีเพิ่มเติมหลังจาก IMF ได้ออกรายงาน World Economic Outlook และในระยะกลาง จีนสามารถเร่งการเติบโตได้ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ