CEO ของ Nvidia มองสหรัฐฯ ต้องใช้เวลา 10-20 ปีในการเป็นอิสระจาก Supply Chain ของจีนในการผลิตชิป

Jensen Huang - CEO ของ Nvidia (ภาพจาก Getty Images)
CEO ของผู้ผลิตชิปอย่าง Nvidia ได้กล่าวในงานสัมมนาของหนังสือพิมพ์ New York Times ว่าสหรัฐฯ ต้องใช้เวลา 10-20 ปีในการเป็นอิสระจาก Supply Chain ของจีนในการผลิตชิป และสหรัฐฯ เองกำลังเดินเข้าสู่เส้นทางดังกล่าว

Jensen Huang ซึ่งเป็น CEO ของ Nvidia ได้กล่าวในงานสัมมนาของ New York Times Dealbook โดยให้มุมมองว่าสหรัฐอเมริกายังต้องใช้เวลา 10-20 ปีในการเป็นอิสระจาก Supply Chain ของการผลิตชิปจากจีน ซึ่งจีนเองถือเป็นประเทศสำคัญในห่วงโซ่การผลิตชิป

CEO ของ Nvidia กล่าวว่ากล่าวว่า “Supply Chain ในการผลิตชิปในสหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้เป็นอิสระมาเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือสองทศวรรษ” ซึ่งเขามองว่าถ้าหากสหรัฐอเมริกาจะเป็นอิสระจากเรื่องดังกล่าวได้ก็ต้องใช้ระยะเวลาเท่ากัน และเขาเองได้กล่าวว่าสหรัฐอเมริกากำลังเลือกเดินเส้นทางดังกล่าวด้วย

เมื่อเขาถูกถามว่า Nvidia ควรทำธุรกิจกับจีนต่อไปหรือไม่ Huang กล่าวว่า Nvidia เป็นบริษัทที่สร้างขึ้นเพื่อทำธุรกิจ ดังนั้นเราจึงพยายามทำธุรกิจกับทุกคนที่เราสามารถทำได้ แต่ในทางกลับกันความมั่นคงของชาตินั้นมีความสำคัญและความสามารถในการแข่งขันของประเทศของเราเช่นกัน

Nvidia เองถือเป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบทันทีหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการห้ามส่งออกชิปเร่งการประมวลผลด้าน AI ไปยังประเทศจีน หรือแม้แต่ผ่านประเทศที่ 3 ก็ตาม แม้ว่าก่อนหน้านี้บริษัทจะผลิตชิปรุ่นสำหรับส่งออกไปยังประเทศจีนก็ตาม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีมาตรการในการอุดหนุนให้ผู้ผลิตชิปเข้ามาผลิตในประเทศก็ตาม โดยใช้เม็ดเงินมากถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตชิปเข้าไปลงทุนในแผ่นดินสหรัฐอเมริกามากขึ้น

Huang ถือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Nvidia ในปี 1993 ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตชิปรายดังกล่าวไม่ได้ถูกมองว่าเป็นแค่ผู้ผลิตหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) อีกต่อไป แต่กลายเป็นผู้ผลิตชิปที่เร่งการประมวลผลด้าน AI โดยนักวิเคราะห์บางรายมองว่า Nvidia นั้นจะมีรายได้จากการขายชิปดังกล่าวมากถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2027

ในท้ายที่สุดนั้นตัวของ Huang มองว่าจีนจะหาวิธีในการคิดค้นเทคโนโลยีในการเร่งประมวลผลด้าน AI ให้ได้ และมองว่าถ้าหากชิปของ Nvidia ผ่านข้อกำหนดของรัฐบาลในการส่งออกไปยังประเทศจีนได้ บริษัทก็จะกลับไปขายสินค้าให้กับลูกค้าในประเทศจีนอีกครั้ง

ที่มา – Tom’s Hardware, CNBC