Facebook กับแผนสร้างฐานข้อมูลการตลาดของคนทั้งโลก

คนยุค Gen Y และ Gen Z อย่างพวกเรา นับวันยิ่งใช้ชีวิตผูกพัน หรือผูกติดกับโลกดิจิตอลมากขึ้น ไม่ว่าจะทำอะไร เกือบทุกกิจกรรมประจำวันในชีวิต มักจะมีเครื่องไม้เครื่องมือด้านดิจิตอลเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งนาฬิกาปลุก ที่ตอนนี้คนจำนวนไม่น้อยเลิกใช้นาฬิกาที่ทำหน้าที่ปลุกเพียงอย่างเดียว แต่หันไปตั้งปลุกโดยการใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลัก เมื่อตื่นแล้วหลายๆ คนก็เลือกที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดเช็กทั้ง Facebook และ Twitter เพื่อดูว่า Status ที่เราโพสต์เมื่อคืน มีคนมากด Like หรือมา Comment แล้วกี่คน และมีไม่น้อยที่ติดตามข่าวสารอัพเดตที่เกิดขึ้นในประเทศ จาก Twitter แทนที่จะเป็นรายการเล่าข่าวตอนเช้า อย่างที่ผ่านๆ มา

พฤติกรรมการเสพติดโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คและเครื่องมือดิจิตอล ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเราจะกำลังเดินทางไปทำงาน อยู่ในช่วงระหว่างทำงาน (หรืออาจจะกำลังประชุมอยู่) ก็ยังมีอีกหลายครั้งที่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เพื่อเปิด Facebook เช็ก Twitter หรือคุย WhatsApp กับเพื่อน

หลายคนมีพฤติกรรมตอบสนองกับ Like และ Comment ไวกว่าการตอบอีเมลบริษัท MSN ที่เคยใช้ ก็เลิกใช้ หันมาพึ่งพา WhatsApp และการแชตบน Facebook แทน

ช่วงเวลากินข้าว คนไม่น้อยที่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เปิดแอพฯ ชื่อ “Instagram” เพื่อถ่ายรูปอาหารตรงหน้า แชร์ลงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คของตัวเอง ก่อนที่จะเริ่มต้นรับประทาน

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นกิจกรรมที่คนยุคดิจิตอลทำกัน จนกลายเป็นเรื่องปกติ ลักษณะการใช้ชีวิตในโลกจริงเป็นยังไง ในโลกออนไลน์ก็มักจะเป็นแบบนั้น หลายๆ กิจกรรมผู้ใช้ก็อยากจะแชร์ อยากจะบอกกลุ่มเพื่อน ในสิ่งที่ตัวเองกำลังคิด กำลังทำ

Facebook ซึ่งได้พัฒนามาจากการแชร์ข้อมูลและเชื่อมโยงกลุ่มเพื่อนเข้าหากัน มาเป็น Platform ที่บันทึกข้อมูลกิจกรรมหลายอย่างที่ผู้ใช้ทำบนโลกออนไลน์ นำมาร้อยเรียงตามลำดับของเวลา และนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เหมือนเป็นสมุดไดอารี่ออนไลน์ส่วนบุคคล ที่เรียกกว่า “Facebook Timeline”

นอกจากรูปแบบการนำเสนอแล้ว Facebook ยังได้คิดค้นสูตรในเรื่องการทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ เรียกว่า “Open Graph” โดยการเชื่อมโยงผู้คนกับกิจกรรมผ่านตัว Open Graph

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทาง Facebook ได้เปิดตัวแอพฯ ที่พัฒนาโดยการใช้ Open Graph ซึ่งหลายๆ ตัวผมคิดว่าน่าสนใจและจะมีความหมายเป็นอย่างมากสำหรับนักการตลาดยุคดิจิตอล 

ลองมาดูกันครับ

พฤติกรรมการฟังเพลง

การฟังเพลง เป็นกิจกรรมที่เราชอบทำเป็นอันดับต้นๆ ครับ ซึ่งบริการที่เกี่ยวกับเพลงหลายตัว ได้จับมือกับ Facebook ในการใช้งาน Open Graph

ไม่ว่าจะเป็นบริการอย่าง Spotify ซึ่งเป็นบริการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง เพลงที่เราฟังอยู่ ณ ขณะนั้น จะปรากฏอยู่ใน Timeline และ Ticker ซึ่งเพื่อนที่เห็นว่าเรากำลังฟังเพลงอะไรอยู่ สามารถกดปุ่ม “Play” เพื่อฟังเพลงเดียวกับเราได้ทันที

Turntable.fm ที่ช่วยให้เราสามารถฟังเพลงและแชตไปพร้อมๆ กับเพื่อนได้ หรือจะเป็น SoundCloud ที่ให้เราสามารถอัดเสียงของตัวเองและอัพโหลดเพื่อแชร์ให้เพื่อนได้ ซึ่งพฤติกรรมการฟังเหล่านี้ ช่วยให้เรารู้ว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เพลงอะไร ศิลปินคนไหน ฮิตในกลุ่มเพื่อนเราบ้าง

พฤติกรรมการอ่าน

การอ่านนี่แทบจะเรียกว่าเป็นกิจกรรมหลักของคนเล่นโซเชี่ยลเลยก็ว่าได้ เพราะอย่างน้อย เราเปิด Facebook มาก็ต้องอ่าน Status ของเพื่อน เวลาเราเจอลิงค์ที่เพื่อนคนนึงมาโพสต์ไว้ ถ้าเราถูกใจ ก็มักจะกดแชร์ต่อ เพื่อให้กลุ่มเพื่อนของเราได้อ่านบ้าง เกิดพฤติกรรมของการอ่านร่วมกัน กลายเป็นที่มาของแอพฯ เพื่อการอ่านที่เรียกว่า “Social Reader” ซึ่งปัจจุบัน มีหนังสือพิมพ์ดังๆ นำแนวคิดของ “Social Reader” ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็น “The Wall Street Journal” , “USA Today” , Washington Post” 

เพียงแค่เรากดเข้าไปอ่านข่าวใดก็แล้วแต่ ข้อมูลการอ่านของเราจะปรากฏอยู่ใน “Ticker” และ Activity ของ Facebook ซึ่งเพื่อนเราจะได้เห็นว่าเรามีความสนใจในเรื่องอะไร จากข่าวที่เราอ่าน

ส่วนเว็บไซต์รีวิวและเรตติ้งหนังสืออย่าง GoodReads.com ก็ได้เชื่อมโยงกิจกรรมบนเว็บตนผ่าน Open Graph โดยถ้าผู้ใช้ที่อ่านหนังสือเล่มนั้นแล้ว จะสามารถรีวิวให้เรตติ้งได้ หรือถ้าอยากจะอ่าน ก็สามารถเพิ่มชื่อหนังสือในรายชื่อหนังสือที่อยากจะอ่านได้ ถ้ามีใครมาเห็นและมีหนังสือเล่มนี้อยู่พอดี ก็สามารถแลกเปลี่ยน หยิบยืมหนังสือกันได้

เครื่องอ่าน E-book อย่าง Kobo และ Kindle ก็เชื่อมโยงกับ Open Graph โดยการบอกหนังสือที่กำลังอ่านลงบน Timeline ของผู้ใช้ และยังมี Comment/Note ต่างๆ ที่ผู้ใช้สร้างขึ้นมาระหว่างการอ่านมาแชร์บน Facebook ด้วย 

พฤติกรรมการกิน

แอพฯ ยอดนิยมบนมือถืออย่าง Foodspotting ที่มีอยู่หลายแพลตฟอร์ม เป็น 1 ในแอพฯ ที่ใช้ “ชี้เป้า” ร้านอาหารที่อร่อย แนะนำโดยเพื่อนของเราเอง ก็ได้รวมฟีเจอร์ของ Open Graph เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับตัวแอพฯ โดยใช้คำกิริยาว่า “Spot” เพื่อบ่งบอกว่า ผู้ใช้ ได้ทำการ “ชี้เป้า” ไปยังร้านอาหาร

ในขณะที่มีแอพฯ มือถือยอดนิยมอีกแอพฯ อย่าง “Urbanspoon” ที่ช่วยแนะนำร้านอาหารในบริเวณที่ต้องการ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีไอเดียว่าจะกินอะไรดีสำหรับอาหารประเภทนี้ สามารถระบุพิกัด ละแวกหรือย่านที่ต้องการ รวมไปถึงงบประมาณ โดยแอพฯ “Urbanspoon” นี้ได้ใช้คำว่า “Ate at” เป็นคำกิริยาที่เชื่อมโยงกับ Open Graph เพื่อดูว่า ร้านไหน เพื่อนเราเคยไปกินมาแล้ว ก็ไปกินตามเพื่อนซะเลยครับ ง่ายดี:) 

พฤติกรรมการดูหนัง 

เว็บไซต์วิจารณ์หนังชื่อดังอย่าง “Rotten Tomatoes” ก็เป็นอีกบริการที่เชื่อมต่อกับ Open Graph โดยอาศัยคำว่า “Rate” เพื่อให้คะแนนการวิจารณ์ และคำว่า “Want to see” เพื่อบ่งบอกว่าต้องการไปดูหนังเรื่องนี้ (เผื่อจะหาคู่ไปดูด้วยกันได้) 

ในขณะที่บริการวิดีโอสตรีมมิ่งอย่าง Hulu และ Netflix ก็ยึดคำกิริยาว่า “Watch” เพื่อบ่งบอกว่าผู้ใช้คนนั้นกำลังดูหนังเรื่องไหนผ่านบริการของ Hulu และ Netflix 

ซึ่งแน่นอนว่า พฤติกรรมการดูหนังจะถูกเก็บข้อมูลเอาไว้ ทำใหเรารู้ว่า ผู้ใช้คนนั้นๆ มีรสนิยมดูหนังแบบไหน เมื่อใช้ร่วมกับข้อมูลความชอบอื่นๆ ย่อมเดานิสัยได้แม่นยำขึ้น จนเหมือนกับรู้จักบุคคลคนนั้นเป็นอย่างดีเลย

พฤติกรรมการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผู้ใช้ Facebook มักจะแชร์กันตลอดเวลา ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน ไปเที่ยวที่ไหน

เว็บไซต์ยอดนิยมด้านการท่องเที่ยวอย่าง “TripAdvisor”,  “Gogobot” , “Wipolo” และ “Where I’ve Been” ก็เป็นอีกเว็บที่นำบริการของตัวเองมาเชื่อมต่อกับ Open Graph โดยการดึง Keyword คำว่า “Check-in” “has been” ,”Pinned” , “Checked off” มีการแชร์ทั้งแผนที่ของสถานที่ที่ไป โปรแกรมท่องเที่ยวในแต่ละวัน

พฤติกรรมการชอปปิ้ง

ร้านขายสินค้าออนไลน์อย่าง Lyst.com ก็เชื่อมโยงกับ Open Graph โดยผู้ใช้ที่ดูแค็ตตาล็อกสินค้าในเว็บ สามารถ “Add” เสื้อผ้า รองเท้าและเครื่องประดับต่างๆ 

ช้อปปิ้งมอลล์ออนไลน์อย่าง Pavyment ก็ให้ลูกค้าสามารถ เลือก “Want” สินค้าต่างๆ ในร้านได้

บทสรุปของ Open Graph ที่นักการตลาดควรรู้

จากตัวอย่างที่กล่าวถึง เป็นกิจกรรมและพฤติกรรมที่คนในยุคดิจิตอล “ทำ” กับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “อ่าน” หนังสือพิมพ์ “ดู” ภาพยนตร์ “อยู่ที่” โรงแรม ซึ่งกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่ทำนั้นมีความหมายทางการตลาดเป็นอย่างมาก 

ในอดีต ถ้าเราไม่ทำการวิจัยตลาด คงยากที่จะรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ยาก แต่ด้วย Open Graph จะช่วยให้เรารู้พฤติกรรมเหล่านี้ได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินทำการวิจัยตลาดเลย เราสามารถรู้สินค้าที่ผู้บริโภคชื่นชอบได้ เสื้อผ้าสีอะไร ไซส์ขนาดไหน เวลาที่ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เข้ามามีกิจกรรมร่วมกับเว็บหรือแอพฯ ของเรา เหล่านี้คือรายละเอียดที่น่าสนใจและมีมูลค่ามหาศาลมากกว่ารายงานวิจัยใดๆ

ลองนึกภาพที่ผู้ใช้ Facebook กว่า 800 ล้านคน ใช้งานแอพฯ ที่เชื่อมโยง Open Graph ต่างๆ  ซักปี เราจะได้ข้อมูลพฤติกรรมจำนวนของคนจำนวนมหาศาลเป็นระยะเวลา 1 ปี เราสามารถรู้เลยว่า หนังเรื่องไหนคนทั่วโลกชอบดูมากที่สุด หนังสือเล่มไหน คนอ่านเยอะที่สุด สถานที่ท่องเที่ยวใด คนนิยมไปมากที่สุด และอีกมากมาย

Facebook กำลังใช้ Open Graph สร้างฐานข้อมูลพฤติกรรมของคนทั้งโลก ซึ่งจะมีค่ามหาศาลจนประเมินไม่ได้ และแน่นอนว่า มูลค่าหุ้นของ Facebook เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ คงสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับโลกได้อย่างแน่นอน:)