หลายบริษัทลด “การเดินทางเพื่อธุรกิจ” ลงแม้หลังโควิด-19 ผ่านพ้น ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอน

(Photo: Shutterstock)
เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทระดับโลก 217 แห่งลด “การเดินทางเพื่อธุรกิจ” ลงระหว่างปี 2019-2022 ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงได้อย่างน้อย 50% แม้หลังผ่านโควิด-19 การเดินทางเพื่อธุรกิจก็ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับการเดินทางเพื่อการพักผ่อน

แม้การเดินทางในโลกนี้จะฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก แต่หากเจาะลึกไปในกลุ่ม “การเดินทางเพื่อธุรกิจ” กลุ่มนี้ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากลูกค้าองค์กรจำนวนมากเปลี่ยนมาใช้ระบบประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน หรือเดินทางด้วยรถไฟแทนการขึ้นเครื่องบินซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า

Transport and Environment กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในทศวรรษนี้เราจำเป็นต้องลดการเดินทางเพื่อธุรกิจลง 50% เทียบกับก่อนโควิด-19 เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนลงให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส

รายงานวิเคราะห์จาก Travel Smart Emissions Tracker พบว่า บริษัทสากลหลายบริษัท เช่น SAP บริษัทเทคโนโลยี, PwC บริษัทที่ปรึกษา หรือ Lloyd บริษัทด้านการธนาคาร ทั้งหมดมีการลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางเพื่อธุรกิจลงได้มากกว่า 75% เทียบกับปี 2019

“หนทางในอนาคตคือจะต้องมีการประชุมออนไลน์ให้มากขึ้น เดินทางด้วยรถไฟมากขึ้น และลดการเดินทางด้วยเครื่องบิน” Denise Auclair ผู้จัดการแคมเปญรณรงค์ Travel Smart กล่าวในแถลงการณ์

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้พบด้วยว่ามี 21 บริษัทจาก 217 แห่งที่ “บิน” มากกว่าปี 2019 ไปแล้ว เช่น Marriott International, Boston Scientific, L3Harris บริษัทเหล่านี้มีการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยมากกว่าปี 2019 ถึง 69%

วิดีโอคอนเฟอเรนซ์กลายเป็นตัวเลือกทดแทนการเดินทางเพื่อธุรกิจ พบปะออนไลน์แทนการเจอตัวจริง

บรรดาสายการบินมองว่าการลดการบินเพื่อเดินทางธุรกิจอาจจะทำร้ายธุรกิจของพวกเขาและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่เนื่องจากกลุ่มนักเดินทางเพื่อการพักผ่อนกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลังโรคระบาด ทำให้สายการบินคลายความกังวลลง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีการสำรวจร่วมกันระหว่าง American Express Global Business Travel และ Harvard Business Review เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า 84% ขององค์กรมองว่าทริปการเดินทางเพื่อพบเจอตัวจริงกันนั้นยังสำคัญและมีคุณค่ากับธุรกิจ

สำหรับสายการบินอเมริกันในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดนั้น  การเดินทางเพื่อธุรกิจถือเป็นผู้โดยสารกลุ่มสำคัญ มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของรายได้สายการบิน เพราะสายการบินเหล่านี้สามารถขายที่นั่งแบบพรีเมียมที่ได้กำไรดีกว่าได้ และยังเติมที่นั่งในเที่ยวบินวันธรรมดาให้เต็มมากขึ้นได้ด้วย

ส่วนในทวีปยุโรป สายการบินใหญ่ เช่น Air France เริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์มาเสนอขายที่นั่งพรีเมียมให้กับนักเดินทางเพื่อการพักผ่อนทดแทนผู้โดยสารเชิงธุรกิจที่ลดลง

ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงผลดีผลเสีย เพราะบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการเดินทางเพื่อธุรกิจมองว่าเทรนด์นี้จะทำให้ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจของบริษัทต่างๆ อ่อนแอลง แต่กลุ่มนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมมองว่า เทรนด์นี้คือก้าวสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนของโลก

Source