ยังไม่อิ่มตัว! “ร้านอาหารญี่ปุ่น” ในไทยยังเติบโตได้ 8% แม้กระแส ‘หม่าล่า’ จะมาแรง

แม้ว่าปีนี้เทรนด์ของ หม่าล่า จะมาแรงขนาดที่แพลตฟอร์ม LINE MAN ยังยกให้เป็น “ปีแห่งหม่าล่า” ดันยอดเดลิเวอรีหมวดเมนูหม่าล่าโตสูงขึ้นถึง 45% มีคำสั่งกว่า 1 ล้านออเดอร์ แต่ ร้านอาหารญี่ปุ่น ในไทยยังเติบโตจนมีจำนวนร้านมากสุดอันดับ 6 ของโลก และยังมีช่องว่างให้ไปต่อได้อีก

ไทยขึ้น Top6 มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากสุดในโลก

จากการสำรวจขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ พบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้น 426 ร้าน หรือ 8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถ้าเทียบกับภาพรวมทั่วโลก ไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นมากเป็น อันดับ 6 ของโลก ตามหลัง จีน (78,760 ร้าน), สหรัฐอเมริกา (26,040 ร้าน), เกาหลีใต้ (18,210 ร้าน), ไต้หวัน (7,440 ร้าน) และ เม็กซิโก (7,120 ร้าน)

แม้ว่าจำนวนร้านจะเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ 5 จังหวัดปริมณฑล และต่างจังหวัด แต่ในปริมณฑลและเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดมีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อเปรียบเทียบจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2561 และปี 2566 พบว่า

  • ร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 5 เท่า
  • 5 จังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า
  • ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า
  • รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 1.9 เท่า

ราเมง, ชาบู, สุกี้ เพิ่มมากสุด

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ตามประเภทร้านอาหารพบว่า มีทั้งการขยายตัวและการหดตัว โดยประเภทร้านอาหารที่เติบโต ได้แก่

  • ร้านราเมง
  • ร้านสุกี้ยากี้
  • ร้านชาบู
  • ร้านอิซากายะ
  • ร้านเนื้อย่าง (ยากินิกุ)

ส่วนประเภทร้านที่จำนวนลดลงคือ ร้านซูชิ ซึ่งเป็นประเภทของร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีจำนวนร้านมากที่สุด โดยมีจำนวนลดลงมากกว่าจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้น โดยรวมแล้ว ลดลง 4.1% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหา การแข่งขัน ทั้งจากร้านอาหารญี่ปุ่นด้วยกัน และร้านอาหารประเภทอื่นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเผชิญกับความท้าทายของ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น

“ร้านซูชิในกรุงเทพฯ ยังเติบโตขึ้น แต่ที่ปิดตัวเยอะจะเป็นในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นประในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีร้านซูชิเปิดใหม่เยอะทำให้มีการแข่งขันสูงขึ้น อีกทั้งลักษณะเฉพาะของร้านซูชิยังใช้ของสด ทำให้ถ้าขายไม่ได้ก็จะเกิดการสูญเสีย ทำให้การทำธุรกิจร้านซูชิจึงมีข้อจำกัด” คุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าว

ราคาเฉลี่ย 101-250 บาท มีจำนวนร้านมากที่สุด

จากการสำรวจในปี 2566 เมื่อแยกจำนวนร้านที่เปิดดำเนินการอยู่แบ่งตำมระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว พบว่า ระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว 101 – 250 บาท มีจำนวนมากที่สุด (2,040 ร้าน) รองลงมาคือ ระดับราคา 251 – 500 บาท (1,333 ร้าน) ตามด้วยราคา กว่า 100 บาท (691 ร้าน) และราคา 501 – 1,000 บาท (690 ร้าน) ซึ่งมีจำนวนร้านใกล้เคียงกัน

เมื่อแยกตามพื้นที่ ระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว 101 – 250 บาทมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือ ระดับราคา 251 – 500 บาท ทั้งในกรุงเทพฯ 5 จังหวัดปริมณฑลและต่างจังหวัด อันดับต่อมาสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ระดับราคา 501 – 1,000 บาท ส่วนพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัด ได้แก่ ระดับราคาต่ำกว่า 100 บาท

ยอดขายฟื้นจากโควิด 90%

ในด้านของยอดขายและจำนวนลูกค้าพบว่า ฟื้นตัว 80 – 90% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด โดยการรับประทานอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคชาวไทยกลับสู่สภาพช่วงก่อนโควิดแล้ว และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังกลับไปไม่ถึงระดับช่วงก่อนโควิด

ที่น่าสนใจคือ ปี 2565 เป็นช่วงที่ยังไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมารับประทานอาหารญี่ปุ่นในประเทศ แต่ปี 2566 ผู้บริโภคชาวไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นได้แล้ว ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยสามารถไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นได้อีกครั้ง

รุกต่างจังหวัด หวังเพิ่มการนำเข้า

ปัจจุบัน ไทยถือเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ที่นำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่น และถือเป็นอันดับ 8 ของโลก มีมูลค่าการนำเข้าที่ 465 ล้านเยน ดังนั้น การเชิญชวนให้ร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงร้านอาหารประเภทอื่น ๆ ในต่างจังหวัดมาใช้วัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ปีที่ผ่านมา เจโทร กรุงเทพฯ ได้จัดกิจกรรมเชิงรุกในต่างจังหวัด เช่น จัดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นร้านอาหารและร้านค้าปลีกในจังหวัดเชียงใหม่, ขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นการจัดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจเฉพาะในต่างจังหวัดครั้งแรก

“ต้องยอมรับว่าจากกรณีการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทร ทำให้การส่งออกวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ เพราะจีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ได้ระงับการนำเข้า แต่สำหรับไทยยังคงมีการนำเข้าตามปกติ เพราะไทยมีมาตรการการตรวจสอบอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาไทยนิยมนำเข้าปลาซาบะ, ปลาซาดีน แต่ปีนี้เรามีแผนจะนำเสนอหอยเชลล์ (หอยโฮตาเตะ) และปลาคัตสึโอะมากขึ้น”

 

ยังไม่อิ่มตัว ต่างจังหวัดเป็นโอกาสสำคัญ

คุโรดะ ย้ำว่า แม้จะไม่มีการคาดการณ์ว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะอิ่มตัวเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่า ยังมีที่ว่างที่จะเติบโตได้ แม้ว่าจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะมากสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ถ้าวัดจาก จำนวนเฉลี่ยต่อจำนวนประชากร ไทยถือเป็นอันดับ 4 ของโลก แปลว่ายังมีช่องว่างให้เติบโต

โดยในปีนี้ ทางเจโทรพบว่า มีร้านอาหารในญี่ปุ่นหลายรายที่สนใจมาเปิดสาขาในไทย โดยส่วนใหญ่เป็นร้านราเมง แกงกะหรี่ เป็นต้น

“แม้จะมีอุปสรรคบางประการ เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค การออกแบบเมนูที่เหมาะกับคนไทย แต่อาหารญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมจากคนไทย แต่เชื่อว่าแนวโน้มในอนาคตจะมีความหลากหลายมากขึ้น และจะแพร่หลายมากขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีประชากรเยอะ ๆ ซึ่งเรามองว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องนำเสนอรสชาติหรือเมนูต้นฉบับเสมอไป แต่เราอยากเห็นการนำไปปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคไทย”