-
“ล่ำสูง” บริษัทเจ้าของน้ำมันพืชตรา “หยก” ประกาศความสำเร็จขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาดน้ำมันปาล์ม แผน 5 ปีข้างหน้าขอท้าชิงเบอร์ 1
-
ลุยผลักดันสินค้าพรีเมียมกลุ่มน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพผ่านแบรนด์ “หยก เอ็กซ์ตร้า” และ “เนเชอเรล” เชื่อตลาดเติบโตสูงหลังผู้บริโภครักสุขภาพมากขึ้นและกลุ่มขนมเบเกอรีมาแรง
บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อาจไม่คุ้นหูคนไทย แต่ถ้าเอ่ยชื่อน้ำมันพืชตรา “หยก” คงมีน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก เพราะเป็นน้ำมันพืชที่ทำยอดขายได้อันดับต้นๆ ของตลาดและอยู่มานาน
โดยตัวบริษัทล่ำสูงเองปีนี้ก่อตั้งครบรอบ 50 ปี มีสินค้าหลักคือน้ำมันปาล์ม และมีซัพพลายเชนการผลิตครบวงจรตั้งแต่ธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมัน โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบใน จ.ตรัง จนถึงโรงกลั่นน้ำมันปาล์มที่นิคมฯ บางปู จ.สมุทรปราการ รวมถึงมีไลน์ธุรกิจจากการเข้าซื้อกิจการ บริษัท อาหารสากล จำกัด (มหาชน) หรือ UFC ผลิตสินค้ากลุ่มผักผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้พร้อมดื่ม และซอสปรุงรสแบรนด์ UFC ทั้งหมดนี้ทำรายได้ให้บริษัทเมื่อปี 2565 ไป 11,670 ล้านบาท กำไรสุทธิ 432 ล้านบาท
เจาะเฉพาะตลาด “น้ำมันพืช” ข้อมูลจาก Euromonitor สำรวจตลาดน้ำมันพืชในไทยปี 2563 พบว่ามีมูลค่าตลาดเกือบ 25,000 ล้านบาท และมีผู้เล่นหลัก 5 แบรนด์ คือ มรกต, องุ่น, หยก, เกสร และกุ๊ก
ตลาดน้ำมันพืชยังแบ่งสัดส่วนตามชนิดน้ำมันด้วย ได้แก่ น้ำมันปาล์ม 56% น้ำมันถั่วเหลือง 40% น้ำมันรำข้าว 2% และน้ำมันพืชอื่นๆ 2%
ส่วนในพอร์ตสินค้าของล่ำสูงปัจจุบัน เรียกได้ว่ามีครบทุกประเภทน้ำมันที่ท้องตลาดต้องการ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันตลาดแมสอย่าง น้ำมันปาล์ม กับ น้ำมันถั่วเหลือง รวมถึงกลุ่มน้ำมันเพื่อสุขภาพ ได้แก่ น้ำมันรำข้าว, น้ำมันคาโนล่า, น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันทานตะวัน, และน้ำมันมะกอก ทำให้พร้อมทำการตลาดกับผู้บริโภคในทุกประเภทสินค้า
“หยก” ขึ้นแท่นที่ 2 ในตลาดน้ำมันปาล์ม
สำหรับทิศทางธุรกิจของล่ำสูงในทศวรรษที่หกนี้ “ภูมิเกียรติ โชติชัยชรินทร์” กรรมการผู้จัดการ และ “ณฐภา เศรษฐนันท์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชหยก สองผู้บริหารจากล่ำสูงร่วมให้ข้อมูล ชูกลยุทธ์แข่งขันต่อในตลาดน้ำมันปาล์ม และจะบุกหนักผลักดันสินค้าน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพด้วย
ปัจจุบันพอร์ตรายได้ของล่ำสูงหลักๆ 85% มาจากน้ำมันปาล์ม และสินค้าจากปาล์ม เช่น มาการีน ส่วนที่เหลือ 15% คือน้ำมันเพื่อสุขภาพและสินค้าอื่นๆ เช่น แป้งสาลี, พาสต้า
ผู้บริหารล่ำสูงระบุว่า น้ำมันปาล์ม “หยก” จะยังคงเป็นสินค้าเรือธงของบริษัท โดยเมื่อปลายปี 2566 บริษัทสามารถดันยอดขาย “หยก” ให้ขึ้นเป็นเป็นแบรนด์อันดับ 2 ในตลาดน้ำมันปาล์มสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม แบรนด์อันดับ 1 คือ “มรกต” นั้นยังมีส่วนแบ่งตลาดที่สูงกว่ามาก แต่บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะท้าชิงอันดับ 1 ให้ได้ภายใน 5 ปี
ยึดฐานแฟนคลับให้มั่น – ดึงแบรนด์ให้เด็กลง
การจะขึ้นไปตีชิงตลาดน้ำมันปาล์มมาได้นั้น หยกได้วางแผนไว้ทั้งการยึดฐานเดิม และดึงคนหนุ่มสาวให้เข้าหาแบรนด์มากขึ้นด้วย
“ผลวิจัยตลาดชัดเจนว่า น้ำมันปาล์มซึ่งเป็นสินค้าแมสนั้นผู้บริโภคจะมองปัจจัยแรกคือ ‘ราคา’ แต่ถ้าสมมติในตลาดมี 3-4 ยี่ห้อราคาเท่ากัน ปัจจัยถัดมาที่ผู้บริโภคสนใจก็จะมองเรื่องรูปลักษณ์ ทั้งสีของน้ำมันในขวด การออกแบบขวด ฉลาก และโลโก้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปัจเจกที่แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ถ้าชอบแบบไหนก็จะชอบแบบนั้นไปตลอด” ณฐภากล่าว
ดังนั้น การตลาดต่อจากนี้หยกจะพยายามสร้าง ‘คอมมูนิตี้’ ออนไลน์ โดยเน้นที่คนรักการทำอาหาร เพื่อให้คนที่ติดใจแบรนด์หยกยังคงเลือกซื้อหยกอย่างต่อเนื่อง
อีกส่วนหนึ่งคือการทำตลาดผ่าน KOL และ Content Creator โดยเฉพาะในช่องทางที่กำลังมาแรงอย่าง TikTok
“เดี๋ยวนี้คนชอบดูคอนเทนต์จาก KOL มากกว่าเซเลปที่ดังมากๆ เพราะคอนเทนต์รู้สึก ‘เรียล’ ดูใช้จริงมากกว่า กลายเป็นว่าการใช้ KOL ที่ยอดติดตามอาจจะไม่เกิน 5 หมื่นคน กลับได้ผลกว่าสำหรับสินค้าเรา” ณฐภากล่าว “การใช้ KOL ยังตรงเป้าหมายของเราที่อยากเจาะกลุ่มผู้บริโภควัยประมาณ 25-30 ปีมากขึ้น กลุ่มนี้เขาจะเริ่มเป็นวัยรับหน้าที่ซื้อของเข้าบ้าน กลายเป็นคนตัดสินใจซื้อ เราจึงต้องทำแบรนด์ให้เด็กลงเพื่อเจาะเขาให้ได้”
น้ำมันพืช “เพื่อสุขภาพ” เจาะราคาพรีเมียม
อีกเป้าหมายหนึ่งของล่ำสูงคือการเจาะตลาดน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพ ซึ่งทางภูมิเกียรติ เอ็มดีล่ำสูงมองว่า คนไทยเริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ทำให้ยอดขายน้ำมันพืชกลุ่มนี้ดีขึ้น และน่าจะเป็นเทรนด์ต่อเนื่องในระยะยาว
รวมถึงมีเทรนด์จากกลุ่มขนมเบเกอรีที่ขายดีขึ้น เป็นที่นิยมของคนไทย และขนมประเภทนี้จะนิยมใช้ส่วนผสมจากน้ำมันคาโนล่าและน้ำมันทานตะวัน ภาพรวมของน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพจึงมีอนาคตที่สดใส
ขณะนี้ทางล่ำสูงสร้างแบรนด์สำหรับน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพไว้ 2 ระดับ คือ ตลาดระดับกลางใช้แบรนด์ “หยก เอ็กซ์ตร้า” ส่วนตลาดระดับพรีเมียมใช้แบรนด์ “เนเชอเรล”
“เราจะเน้นผลักดันน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพกับกลุ่มรายได้ระดับบนและระดับกลางก่อน เพราะพวกเขาคือผู้มีกำลังซื้อสูงที่สุด สามารถเลือกรับประทานและนำไปบอกต่อได้” ภูมิเกียรติกล่าว
- น้ำมันมะกอกกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ของโจรในสเปน หลังราคาพุ่งทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบ 12 ปี
- เจาะแผน ‘Salad Factory’ กับเป้าหมายเป็นแบรนด์ร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่ “ทานได้ทุกวัน”
โดยปัจจุบันล่ำสูงระบุว่าบริษัทเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันคาโนล่าแล้ว และจะพยายามทำตลาดในกลุ่มน้ำมันเพื่อสุขภาพอื่นๆ ให้ได้ยอดขายสูงขึ้นทั้งหมด
ภูมิเกียรติกล่าวปิดท้ายถึงแนวโน้มตลาดน้ำมันพืชในปี 2567 ว่า ปีนี้อาจจะยังเป็นปีที่ “น้ำมันปาล์ม” ขายดีกว่า “น้ำมันพืชเพื่อสุขภาพ” ด้วยภาวะเศรษฐกิจยังมีผลต่อการเลือกซื้อ ผู้บริโภคเน้นที่ราคาเป็นหลัก แต่เชื่อว่าใน 3-5 ปีนี้เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น น้ำมันพืชเพื่อสุขภาพน่าจะกลับมาทำยอดเติบโตดีเหมือนในช่วงโควิด -19 เกิดขึ้น