4 Big Idea โฆษณาพันธุ์ใหม่

 

ปีนี้ AdFst 2012 ใช้ธีม Fast Forward เพื่อสื่อถึงการรวมเอาความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีมาไว้รวมกัน เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนเกิดการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ที่ไร้รูปแบบ โดยในปีนี้มีผู้ร่วมงาน 1,200 คน และมีผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 2,857 ชิ้น จากรางวัลทั้งสิ้น 14 ประเภท ภายใต้ผลงานประกวดและกิจกรรมสัมมนาที่เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจและสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของผู้คนและวงการโฆษณาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีดังนี้ 

 

โฆษณายุคนี้ต้องสร้างประสบการณ์ 

การพัฒนาของเทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครีเอทีฟสามารถสร้างผลงานที่เข้าถึงผู้บริโภคแบบในพื้นที่ที่ไม่คาดคิด และผลงานหลายชิ้นก็สร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้บริโภคได้แบบตัวต่อตัว ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความพิเศษ ใกล้ชิด ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดเป็นตัวตอกย้ำรูปแบบโฆษณาในปัจจุบันว่าเป็นการสื่อสารแบบไร้รูปแบบ  

ตรง ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ วายแอนด์อาร์ ในฐานะประธานกรรมการตัดสิน Film Lotus พูดถึงผลงาน OKGO-All is Not Lose ซึ่งคณะกรรมการตัดสินเลือกให้เป็นผลงานที่ได้รางวัล Best ได้ชี้ให้เห็นว่า ผลงานชิ้นนี้น่าจะเป็นมาตรฐานให้กับ TVC ได้ ด้วยเหตุผลว่า ถึงแม้จะเป็นภาพยนตร์โฆษณาสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคได้ โดยงานชิ้นนี้เป็นของโปรดักต์ Google Chrome โดยถ้าหากว่าผู้บริโภคเข้าเว็บไซต์ www.allisnotlo.st จะสามารถชมมิวสิก วิดีโอที่แสดงผ่านท่าทางการเต้น ด้วยฝีมือการออกแบบจากผู้กำกับและนักออกแบบท่าเต้นชื่อดัง Trish Sie และที่พิเศษกว่า คือ หากเข้าชมผ่านเบราว์เซอร์ “กูเกิล โครม” จะสามารถเขียนข้อความที่ตัวเองอยากให้ปรากฏในมิวสิกวิดีโอลงไปได้ แล้วภาพของมิวสิกวิดีโอนั้นก็จะเปลี่ยนไปตามที่ผู้ชมกำหนด ซึ่งทำให้เห็นถึงความพิเศษของกูเกิล โครมว่าทำอะไรได้มากกว่า     

ผลงาน Musical Fitting Room เป็นอีกหนึ่งงานที่คณะกรรมการและครีเอทีฟหลายคนประทับใจ สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์, ลีโอ เบอร์เนทท์ วิจารณ์ผลงานชิ้นนี้สนุกๆ ว่า “โคตรชอบและโคตรเกลียด” เหตุผลที่ชอบเพราะว่าไอเดียที่ทำให้วัตถุประสงค์ทางการตลาด ส่งผ่านไปยังผู้บริโภคในพื้นที่ที่หลายคนคาดไม่ถึง และสร้างความรู้สึกที่ดีกับผู้คนได้ เกลียดก็เพราะผลงานชิ้นนี้เข้าประกวดหมวดเดียวกับผลงานที่เขาส่งเข้าประกวดนั่นเอง 

ถึงจะชื่อ Musical Fitting Room เป็นงานของ StarHub Online Music Store ร้านดาวน์โหลดเพลงออนไลน์ซึ่ง ใช้เทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) มาช่วย โดยอินไซท์ของวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของของการโหลดเพลงก็คือ การสื่อสารตัวตนผ่านเพลงและเสื้อผ้าที่เลือกฟัง แคมเปญนี้จึงติดตั้งเครื่องอ่าน RFID ที่ห้องลองเสื้อ และติดแท็กเพลงเอาไว้ที่เสื้อผ้า เมื่อลูกค้าเอาเสื้อผ้าไปลอง เพลงที่ถูกเลือกแล้วว่าน่าจะตรงกับสไตล์ของผู้ที่หยิบเสื้อผ้าชิ้นนั้นๆ ก็จะถูกเปิดขึ้นสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับผุ้ลองเสื้อ รวมทั้งก็เท่ากับเป็นการโปรโมตเพลงให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนฟัง เทคโนโลยีนี้ถูกติดตั้งในร้านเสื้อผ้าที่สิงคโปร์ 42 แห่ง มีเพลง 16 รูปแบบ ทั้งหมดรวมแล้วมี 10,000 เพลง ผลของแคมเปญนี้ทำให้มีคนเข้าเว็บไซต์ของ StarHub เพิ่มขึ้น 84% และมีผู้โหลดเพลงเพิ่มขึ้น 21% 

 

บิ๊กแคมเปญ ต้อง Intergrate สื่อให้ครบ

เนื่องจากการใช้เวลาของผู้บริโภคมีความหลากหลายและแต่ละคนก็มีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป การสื่อสารการรตลาดให้ไปถึงผู้บริโภค จึงต้องสร้าง Talk of the town หวังผลให้เกิดการบอกต่อแล้วนำไปสู่การรับรู้ของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิงบิ๊กแคมเปญ ก็ต้องใช้วิธีการเซอร์ไพรส์ผู้คน แบบที่ไม่มีใครคาดคิด 

แคมเปญ Brake Up ของ National Australia Bank ซึ่งได้รางวัล Best ในหมวด Direst Lotus คือตัวอย่างที่ดีของการสร้าง Intergrated สื่อต่างๆ ด้วยอินไซท์กับสภาพแวดล้อมทางการตลาดของออสเตรเลีย ซึ่งมีธนาคารขนาดใหญ่อยู่ 4 แห่ง และคนออสเตรเลียนเองก็จะมีความคิดว่าทั้ง 4 แห่งนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่เมื่อ National Australia Bank อยากฉีกตัวเองขึ้นมาให้แบรนด์โดดเด่นกว่าธนาคารอื่นๆ ในด้านของความเป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความรู้สึกของผู้คนไปพร้อมๆ กันด้วย ไอเดียก็คือ แปลงความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจระหว่างธนาคารให้กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 

ความคิดสร้างสรรค์ของงานชิ้นนี้เริ่มจากการใช้สื่อ “ไวรัล” เมื่อจู่ๆ ทวิตเตอร์ของ NAB ก็เหมือนจะ “ทวีตหลุด” เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คล้ายกับว่าแอดมินฯ ผู้ดูแลทวิตเตอร์พิมพ์ข้อความผิดที่ผิดทาง ซึ่งกลายเป็นว่าข้อความเหล่านั้นถูกรีทวีตกระหน่ำ จนกระทั่ง 12 ชั่วโมงต่อมาซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ NAB จึงออกภาพยนตร์โฆษณา 50 เรื่อง ในออนไลน์ว่าตัวเองได้บอกเลิกกับธนาคารอื่นๆ หลังจากนั้นก็มีสื่อเอาต์ดอร์ เช่น ใช้เฮลิคอปเตอร์ติดป้ายโฆษณากลางอากาศ แต่งเพลงที่เกี่ยวข้อง จดหมายบอกเลิกที่ติดไว้ที่สาขาของธนาคาร ผลของแคมเปญนี้ ทำให้ยอดกู้เงินเพื่อซื้อบ้านของ NAB เพิ่มขึ้น 79%, ยอดสมัครเครดิต การ์ดเพิ่มขึ้น 50% ภายใน 1 อาทิตย์ มีผู้บริโภคเข้าไปที่บล็อก 100,000 คนต่อวัน และทำให้เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในทวิตเตอร์มากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว  

 

CSR โฆษณาหัวใจสีขาว 

เป็นเพราะปี 2011 ที่ผ่านมา ทั้งญี่ปุ่นและไทยต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ รวมทั้งแนวโน้มของโลกก็จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้มากขึ้น แคมเปญการตลาดที่อิงกับกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้คณะกรรมการหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมการที่มาจากตะวันตกต้องทึ่งในความคิดที่เหนือชั้น ตลอดจนทัศนคติและสปิริตของคนเอเชีย

แคมเปญที่ถูกพูดถึงคือ CANON PHOTO FIGHTERS ซึ่งจัดนิทรรศการศิลปะ นำทรายที่เหลือจากการใช้กั้นน้ำมาทำเป็นผลงานศิลปะภาพนูนต่ำที่มีต้นแบบมาจากภาพถ่ายในช่วงน้ำท่วม โดยนำรูปที่บ่งบอกถึงความเป็นนักสู้ของไทยมานำเสนอเท่านั้น เพื่อทำให้คนมีกำลังใจ อีเวนต์นี้เป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ที่ใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ไม่มาก แต่ก็คว้ารางวัล Gold ประเภท Outdoor Lotus ไปครอง ด้วย Story เรื่องราวเบื้องหลังที่มา ซึ่งมีความยิ่งใหญ่กว่าตัวอีเวนต์หรือเม็ดทรายเล็กๆ 

อีกผลงานเป็นของ The 250 km Wave อีเวนต์เปิดตัวเส้นทางรถไฟใหม่ของ Kyushu Bullet Train ของประเทศญี่ปุ่นที่ทำขึ้นหลังจากสึนามิไม่นาน แคมเปญนี้ต้องการเรียกความเชื่ออมั่นให้กับคนบนเกาะ Kyushu ด้วยการจัดบิ๊กอีเวนต์ทำคลื่นยักษ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าคลื่นสึนามิ ใช้ประชากรในเขตมาร่วมทำเวฟตลอดเส้นทางวิ่นเทสต์รัน ด้วยความยาว 250 กิโลเมตร โดยประชาสัมพันธ์ผ่านองค์กรเอกชน หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ผ่านภาพยนตร์โฆษณา, สื่อสิ่งพิมพ์ จนรวบรวมผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 30,000 คน กลายเป็นเวฟที่ใหญ่ที่เส้นทางยาวที่สุดในโลก และผลงานชิ้นนี้ก็คว้ารางวัล Gold ในประเภท Promo Lotus ไปครอง 

เมอรี่ เจย์ Chairman/Chief Creative Officer, DM9 JaymeSyfu มะนิลา ประธานกรรมการตัดสิน Outdoor Lotus กล่าวว่า ที่ฟิลิปปินส์เองก็ประสบภัยพิบัติบ่อยครั้ง แต่กิจกรรมที่ทำมีเพียงการจัดคอนเสิร์ต การมาเห็นแคมเปญต่างๆ มากมายที่น่าสนใจก็น่าจะทำให้เธอกลับไปคิดมากขึ้น สำหรับกิจกรรมลักษณะนี้  

นอกจาก AdFest แล้ว เวทีการประกวดผลงานโฆษณาอื่นๆ ต่างก็เห็นความสำคัญของกิจกรรมการตลาดเพื่อสังคม เช่น Cannes Lions International Festival of Creativity มหกรรมโฆษณาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็มีรางวัล Grand Prix for Good เพื่อยกย่องแคมเปญการตลาดที่ช่วยระดับให้สังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และล่าสุดการประกวดโฆษณาของยุโรป D& AD ซึ่งมีอายุยืนยาวมากว่า 50 ปี ก็จะมีรางวัล White Pencil แปลงเอาโลโก้ที่เป็นดินสอสีดำซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันยาวนานของเวทีประกวดนี้ มาสร้างสรรค์ให้เป็นรางวัลเชิดชูผลงานที่มีอิทธิผลเชิงสังคม สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรมพร้อมๆ กับความคิดสร้างสรรค์   

 

โฆษณาไทยในวันที่ไปไม่ถึงดวงดาว

ความเปลี่ยนแปลงในสื่อของประเทศไทยในปีนี้ นอกจากผู้สื่อข่าว ยังเป็นครั้งแรกที่เชิญบล็อกเกอร์ด้านการตลาดและคอลัมนิสต์ขาประจำของนิตยสาร POSITIONING 2 ท่าน คือ  @worawisut และ @butthun ไปร่วมงานด้วย ซึ่งถือเป็นภาพสะท้อนการเสพสื่อของคนไทยในโลกออนไลน์ 

แต่สำหรับผลงานของไทยในเวที AdFEst ปีนี้ ก็ต้องบอกว่า TVC ของไทย ไม่ใช่หมัดเด็ดที่ครีเอทีฟจะใช้ล่ารางวัลได้อีกแล้ว    

สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์, ลีโอ เบอร์เนทท์ สะท้อนว่า “สมัยก่อนเราเคยประสบความสำเร็จจากหนังอย่างมากจากมุกตลกแบบไทย แต่ตอนนี้ประเทศอื่นเขาพัฒนาไปมาก ส่วนไทยยังเหมือนเดิม สำหรับกรรมการที่เขาดูผลงานพวกนี้มามากกว่า 10 ปี เขาก็เบื่อ ปีนี้หนังโฆษณาของไทยจึงได้รางวัลสูงสุดแค่ Silver”  

“ตอนนี้อุตสาหกรรมโฆษณาไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ลูกค้าเปลี่ยนไปแล้ว ครีเอทีฟเองต่างหากที่ยังไม่พร้อม แต่เราก็เริ่มปรับตัวกันตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมทีม อย่างเช่นที่ลีโอ เบอร์เนทท์ รับบรีฟมาแล้วก็ต้องดูที่ Objective ก่อนว่าแคมเปญนี้ต้องการพูดกับใคร แล้วคนกลุ่มนั้นเขาเสพสื่อแบบไหน เมื่อไหร่ เพราะตอนนี้สื่อไม่ตายตัว งานสมัยใหม่ต้องมี Meaningful แล้วทำให้คนรักแบรนด์ พวก Award Show ทั้งหลายนี่แหละที่เป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคม และเราจะเห็นเลยว่ารางวัลที่น่าสนใจมากๆ มันไม่ใช่ Film อีกแล้ว แต่เป็นพวกผลงานที่สร้าง Participate กับคนอย่าง Direct, Promo, PR หรือว่า Cyber”