“Beautrium x Bonchon” คอลแลปข้ามขั้ว ส่งลิปทินต์ “ซอสไก่เกาหลี” จับกระแส “K-Beauty”

Beautrium x Bonchon
“Beautrium x Bonchon” จับมือข้ามขั้วอุตสาหกรรมสร้างผลิตภัณฑ์คอลแลป “Korean Spicy Chicken Tint Oil” ทำการตลาดเรียกเสียงฮือฮาด้วยผลิตภัณฑ์แหวกแนวที่จะเป็นของแถมแบบ Limited Edition ให้กับลูกค้าร้านบิวเทรี่ยม

ตัวผลิตภัณฑ์เป็นลิปสติกแบบเหลวที่ใช้แรงบันดาลใจจาก “ซอสไก่เกาหลี” ของบอนชอน ออกมาเป็น “ลิปทินท์” สีแดงขุ่นเหมือนซอส ทาแล้วทิ้งสเตนบนปากเหมือนเพิ่งรับประทานไก่บอนชอน (Bonchon) แต่ให้กลิ่นหอมหวานเหมือนลิปสติกปกติ พร้อมด้วยสารบำรุงริมฝีปาก

Korean Spicy Chicken Tint Oil เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีวางจำหน่าย แต่จะมอบให้กับลูกค้าร้านบิวเทรี่ยมที่ช้อปในสาขา Siam Square Flagship Store ครบ 999 บาท (มีจำนวนจำกัด) เท่านั้น

Beautrium x Bonchon
Korean Spicy Chicken Tint Oil จะมาในกล่องแพ็กเกจไก่ทอดของจริงของบอนชอน!

“อติโรจน์ โรจน์รัตนวลี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท บิวเทรี่ยม จำกัด เปิดเบื้องหลังการจับมือคอลแลประหว่างวงการ “อาหาร” กับ “บิวตี้” ครั้งนี้ เกิดจากแคมเปญการตลาดของบิวเทรี่ยมเองที่มีแคมเปญใหญ่แห่งปี “Beautrium K-Beauty Fest” พุ่งเป้าตลาดเครื่องสำอางและความงามแบบเกาหลี นำแบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีจัดโปรโมชันมากมายในร้าน

ทำให้บริษัทต้องการจะสร้างแรงกระเพื่อมเพิ่มขึ้นในกลุ่ม K-Beauty จึงใช้กลยุทธ์การตลาด “คอลแลป” สินค้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและผู้บริโภคให้ความสนใจสูง โดยเลือกอุตสาหกรรมอาหารเพื่อความแปลกแหวกแนว จึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ลิปที่ได้แรงบันดาลใจจากอาหาร

ส่วนสาเหตุที่เลือกผนึกกำลังกับ “บอนชอน” เพราะมองว่าเป็นแบรนด์ร้านอาหารเกาหลีที่อยู่มานานในประเทศไทย มีฐานลูกค้าใกล้เคียงกันคือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และบอนชอนใช้สีแดงเป็นสีหลักเหมือนบิวเทรี่ยม ทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์ไปด้วยกันได้

อติโรจน์กล่าวด้วยว่า กระแส K-Beauty ยังคงเป็นที่นิยมในไทย เฉพาะยอดขายของบิวเทรี่ยมนั้นเมื่อปี 2566 สินค้าบิวตี้ของเกาหลีทำยอดขายเติบโตถึง 200% จากปีก่อนหน้า และคาดว่าปี 2567 น่าจะโตต่อเนื่องอีก 150% เพราะทางร้านมีการจัดแคมเปญการตลาดและมีการนำเข้าแบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีใหม่ๆ เข้ามาอีกจำนวนมาก

ตลาดเครื่องสำอางนำเข้าในไทยนั้น “เครื่องสำอางเกาหลี” ถือเป็นเครื่องสำอางจากต่างประเทศอันดับ 3 ที่มีการนำเข้า โดยข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า เมื่อปี 2566 ตลาดเครื่องสำอาง สบู่ และสกินแคร์ 5 อันดับแรกที่ประเทศไทยนำเข้ามามูลค่าสูงสุด ได้แก่ 1.ฝรั่งเศส (สัดส่วน 18.6%) 2.จีน (สัดส่วน 16.1%) 3.เกาหลีใต้ (สัดส่วน 12.1%) 4.สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 9.4%) และ 5.อินโดนีเซีย (สัดส่วน 8.7%)