ร้านสุกี้หนีตาย แตกไลน์สินค้าบุกเชล์ฟค้าปลีก เพิ่มรายได้

สมรภูมิ ตลาดสุกี้ มูลค่า 23,000-25,000 ล้านบาท (อ้างอิงศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ยังคงเผชิญความท้าทายด้านการแข่งขันดุเดือดอย่างต่อเนื่อง
จากในอดีตมี “เอ็มเค” ครองตลาดใหญ่สุด โดยเฉพาะในตลาดกลุ่มกลาง-บน (ราคาเฉลี่ย 400+ บาท/คน) สะท้อนจากรายได้ “หลักหมื่นล้านบาท” และกำไร “หลักพันล้านบาท”
แต่นับตั้งแต่ปี 2562-2564 มีแบรนด์สุกี้หน้าใหม่ถือกำเนิดขึ้น อาทิ ฮอตพอตแมน สุกี้ตี๋น้อย ลัคกี้สุกี้ โดยแบรนด์ใหม่เลือกตีตลาดแมสที่ยังมีช่องว่างทางการตลาดที่เอ็มเคยังไม่เจาะ
และถือว่ามาได้ “ถูกจังหวะ” เพราะช่วงยุคโควิดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กำลังซื้อคนไทยลดลง ทำให้หาร้านอาหารราคาเข้าถึงง่าย โดยมองว่า “บุฟเฟต์” เป็นอาหารที่คุ้มค่า เพราะรับประทานได้ไม่จำกัด ทำให้จุดพลุแบรนด์สุกี้ตี๋น้อย ตามด้วยลัคกี้สุกี้ให้ติดตลาดมากขึ้น
สุกี้ตี๋น้อย
สุกี้ตี๋น้อย
สะท้อนจากผลประกอบการของสุกี้ตี๋น้อยที่ขยายตัวสูง ดังนี้
  • ปี 2562 มีรายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท (ปีฐาน)
  • ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท เติบโต 145% กำไร 140.3 ล้านบาท เติบโต 835%
  • ปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท เติบโต 28% กำไร 148 ล้านบาท เติบโต 5.5%
  • ปี 2565 รายได้ 3,976 ล้านบาท เติบโต 152% กำไร 591.5 ล้านบาท เติบโต 299%
  • ปี 2566 รายได้ 5,262.4 ล้านบาท เติบโต 32% กำไร 907.1 ล้านบาท เติบโต 53%
  • ปี 2567 รายได้ (ยังไม่ประกาศ) กำไรสุทธิ 1,169 ล้านบาท (อ้างอิงส่วนแบ่งกำไร JMART) เติบโต 28.9%
สวทางกับผลประกอบการของ เอ็มเค ที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด ดังนี้
  • ปี 2562 รายได้ 17,739 ล้านบาท โต 3% และกำไรสุทธิ 2,604 ล้านบาท โต 1%
  • ปี 2563 รายได้ 13,622 ล้านบาท ลดลง 23% และกำไรสุทธิ 907 ล้านบาท ลดลง 65%
  • ปี 2564 รายได้ 11,368 ล้านบาท ลดลง 17% และกำไรสุทธิ 131 ล้านบาท ลดลง 86%
  • ปี 2565 รายได้ 15,938 ล้านบาท โต 40% และกำไรสุทธิ 1,439 ล้านบาท โต 999%
  • ปี 2566 รายได้ 16,974 ล้านบาท โต 6% และกำไรสุทธิ 1,682 ล้านบาท โต 17%
  • ปี 2567 รายได้ 15,809 ล้านบาท ลดลง 7% และกำไรสุทธิ 1,442 ล้านบาท ลดลง 14%

จากการแข่งขันที่ดุเดือด ทำให้สุกี้แบรนด์เริ่มมองหาน่านน้ำรายได้ใหม่

โดย “เอ็มเค” ได้เจาะตลาดค้าปลีก ผ่านการส่ง “ชุดบะหมี่หยกลูกชิ้นรวมมิตร“ ราคา 69 บาท/ชุด วางขายในร้านสะดวกซื้อเซเว่น และน้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มบ๊วย ราคา 65-119 บาท ขายในร้านสะดวกซื้อ และโมเดิร์นเทรด อาทิ บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส
ล่าสุด “สุกี้ตี๋น้อย” ได้ส่งชุดผักสุกี้เข้าจำหน่าย ราคา 139 บาท ประเดิมวางขายในแม็คโครและโลตัสทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีการเปิดขายทางออนไลน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แพ็กเก็ตสินค้าสุกี้ตี๋น้อยและเอ็มเค ที่จัดจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ/โมเดิร์นเทร
“แม้ปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยจะยังโตต่อเนื่อง แต่ถ้าเจาะลึกกำไรสุทธิต่อสาขาจะเห็นว่าลดลง โดยปี 2567 มีกำไรสุทธิ 1,169 ล้านบาท จาก 78 สาขา เท่ากับทำกำไร 14.9 ล้านบาท/สาขา จากปี 2566 ทำกำไรสุทธิ 913 ล้านบาท จาก 55 สาขา เท่ากับทำกำไร 16.6 ล้านบาท/สาขา“
ประกอบกับผู้เล่นสุกี้ตลาดแมสหน้าใหม่ก็เข้ามาชิงมาร์เก็ตแชร์ อย่าง ลัคกี้สุกี้ ก็ทำผลงานได้ดี สะท้อนจากผลประกอบการ 3 ปี ดังนี้
  • ปี 2565 รายได้ 79 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2.6 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 409 ล้านบาท เติบโต 413% กำไรสุทธิ 46 ล้านบาท เติบโต 1,635%
  • ปี 2567 รายได้ 1,000 ล้านบาท เติบโต 148% กำไรสุทธิ N/A
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้แบรนด์สุกี้เริ่มวางจำหน่ายสินค้าตนเองบนเชลฟ์ค้าปลีกมากขึ้น และเทรนด์นี้คาดจะขยายตัว แม้จะไม่สร้างรายได้สูงเท่าหน้าร้าน แต่ก็เป็นช่องทางการเคลื่อนตัวหาผู้บริโภค พร้อมกับสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจในยุคที่ตลาดสุกี้หม้อร้อนเข้าสู่ภาวะเรดโอเชี่ยน!