ค้าปลีกไตรมาสสองปี’49 : คาดเติบโต 8-10%…รับสงกรานต์-เปิดเทอม-บอลโลก

กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงไตรมาสสองปี 2549 คาดว่าจะคงทรงตัวและผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากระดับราคาน้ำมันในประเทศที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า และต้นทุนในการประกอบธุรกิจ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันระดับอัตราดอกเบี้ย และภาวะเงินเฟ้อในระบบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อันจะส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีกแบบเงินผ่อน และผู้บริโภคจะมีภาระในการชำระหนี้ รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของค่าอาหาร ค่าผ่อนบ้านและค่าผ่อนรถที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามมา นอกจากนี้การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อาจจะมีผลต่อธุรกิจการส่งออก และสถานการณ์ความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของผู้บริโภคกลุ่มชนชั้นกลางในระดับหนึ่ง ซึ่งจะมีผลให้กำลังซื้อชะลอตัวลงได้

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์บ้านเมืองที่มีทิศทางเป็นไปในลักษณะที่ผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา น่าจะมีผลกระตุ้นให้กลุ่มผู้บริโภคที่เดิมติดตามความเคลื่อนไหวเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ หันมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสสองของปี 2549 ประกอบกับการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นของบรรดาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งดิสเคานท์สโตร์ ห้างสรรพสินค้า และคอนวีเนี่ยนสโตร์ ที่ต่างโหมปรับปรุงสถานที่ และการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่ค่อนข้างถี่มากขึ้น รวมทั้งการจัดมหกรรมลดราคาสินค้า การจัดแคมเปญฯลุ้นรางวัลต่างๆ เป็นต้น ก็น่าจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดความต้องการและการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสสองของปี 2549 พบว่ามีกิจกรรมใหญ่ที่น่าสนใจถึง 3 กิจกรรมด้วยกันคือ เทศกาลวันสงกรานต์ มหกรรมฟุตบอลโลก 2006 และช่วงเวลาเปิดภาคการศึกษาใหม่ จึงน่าจะกระตุ้นให้สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยโดยรวมในช่วงไตรมาสสองปี 2549 เป็นไปในทิศทางที่ทรงตัวด้วยระดับอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปี 2548 หรือมีอัตราการขยายตัวในระดับร้อยละ 8- 10

สำหรับในส่วนของเทศกาลสงกรานต์ที่ปีนี้มีวันหยุดยาวติดต่อกันนาน 4 วันนั้นน่าจะมีบรรยากาศคึกคักกว่าปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสึนามิ ประกอบกับหลายพื้นที่ทั่วไทยต่างก็ร่วมมือกันจัดกิจกรรมฉลองเทศกาลสงกรานต์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าธุรกิจค้าปลีกหลายประเภทน่าจะได้รับอานิสงส์จากเทศกาลสงกรานต์ในปี 2549 ด้วย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และดิสเคานท์สโตร์ที่นับวันจะสรรหาสินค้าต่างๆมาให้บริการอย่างครบถ้วนมากขึ้นและขยายสาขาครอบคลุมไปทั่วประเทศ หรือร้านสะดวกซื้อทั้งที่ตั้งอยู่ริมถนนและในสถานีบริการน้ำมันที่มักจะตั้งตามเส้นทางการเดินทางทุกทิศทั่วไทย รวมถึงร้านค้าปลีกรายย่อยทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และในแต่ละท้องถิ่นทั่วไทยที่ต่างพยายามนำเสนอสินค้าที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาทิเช่นร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารแห้งและเครื่องกระป๋อง ร้านจำหน่ายดอกไม้และพวงมาลัย ร้านจำหน่ายน้ำอบ ดินสอพอง ผ้าไหว้สงกรานต์ ร้านจำหน่ายเสื้อลายดอกสีสดและเสื้อม่อฮ่อม ร้านจำหน่ายปืนฉีดน้ำ ขัน และถังพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้บรรดาร้านค้าปลีกประเภทต่างๆน่าจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างบรรยากาศร่วมในเทศกาลสงกรานต์ด้วย เช่นการร่วมทำบุญตักบาตร และการสรงน้ำพระ เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของมหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2549 จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2549 นั้น น่าจะสามารถสร้างบรรยากาศให้ธุรกิจค้าปลีกหลายแห่งคึกคักได้ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบดิสเคานท์สโตร์ ห้างสรรพสินค้า หรือคอนวีเนี่ยนสโตร์ที่มักจะมีการจัดกิจกรรมรับกระแสฟุตบอลโลก เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่สนใจติดตามชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันเป็นประจำทุกปีที่มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดอาหาร ไม่ว่าจะเป็น อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นม น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น เพราะผู้บริโภคคนไทยจำนวนไม่น้อยค่อนข้างคลั่งไคล้ในกีฬาประเภทนี้อย่างมากนั้นอาจจะมีการรวมกลุ่มกันสังสรรค์เพื่อร่วมรับชมการถ่ายทอดสด หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยเพิ่มอาหารมื้อดึกจากมื้อปกติ เนื่องด้วยตารางการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ตรงกับช่วงเวลากลางคืนของเมืองไทยคือคู่แรกเริ่มเวลาประมาณ 21.00 น. คู่ที่สองเวลา 24.00 น. และคู่สุดท้ายเวลา 03.00 น. นอกจากนี้ก็อาจจะมีการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและดิสเคานท์สโตร์ กับพันธมิตรทั้งที่เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการในการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันเพื่อจัดกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีการถ่ายทอดสดในนัดสำคัญๆ การวิเคราะห์เกมการแข่งขัน การเปิดซุ้มจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกฟุตบอลโลก การร่วมทายผลฟุตบอลโลก หรือการเปิดเวทีการแข่งขันเกมต่างๆเพื่อลุ้นรางวัล เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้ว่ากระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นตามแหล่งจับจ่ายใช้สอยต่างๆ จนทำให้บรรยากาศธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสองปี 2549 เป็นไปในทิศทางที่คึกคักในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน

นอกจากนี้กิจกรรมต้อนรับเทศกาลเปิดเทอมของปี 2549 ก็น่าจะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่กระตุ้นให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงไตรมาสสองปี 2549 ส่อแววดี เพราะในช่วงก่อนเปิดเทอม(ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม) ทั้งเสื้อผ้านักเรียนนักศึกษา อุปกรณ์การเรียน หรือรองเท้า เป็นต้น ต่างเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการสูง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าปีนี้บรรดาห้างร้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า หรือดิสเคานท์สโตร์ ร่วมกับผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องต่างต้องเร่งจัดแคมเปญเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว และเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ได้ก่อนคู่แข่ง เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายพอสมควร

ดังนั้น แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสองปี 2549 จะมีแนวโน้มต้องเผชิญกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจหลายปัจจัยด้วยกันไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำมันแพง ค่าครองชีพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นที่จะส่งผลต่อธุรกิจการส่งออก เป็นต้น แต่ด้วยกิจกรรมใหญ่ที่น่าสนใจทั้ง 3 กิจกรรมในช่วงไตรมาสสองของปี 2549 ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลวันสงกรานต์ มหกรรมฟุตบอลโลก 2006 และช่วงเวลาเปิดภาคการศึกษาใหม่ ก็น่าจะกระตุ้นให้บรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสสองปี 2549 คึกคักขึ้นได้ระดับหนึ่ง และคาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยโดยรวมในช่วงไตรมาสสองปี 2549 เติบโตในระดับร้อยละ 8- 10 ซึ่งนับเป็นระดับอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสสองปี 2548 ที่เติบโตร้อยละ 10.8 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในช่วงเวลาดังกล่าวก็น่าจะเป็นไปในลักษณะที่รุนแรงอย่างแน่นอน เพราะผู้บริโภคมีพฤติกรรมการจับจ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคยังมีทางเลือกมากขึ้นด้วย ทำให้บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกต่างต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย รวมถึงการประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมทางการตลาดต่างๆเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งนำเสนอสินค้าและบริการให้เป็นที่พึงพอใจแก่ผู้บริโภคด้วย