ตลาดกล้องดิจิทัล : ยอดขายยังเติบโต…มูลค่าตลาด 14,000 ล้านบาท

กล้องดิจิทัล เป็นหนึ่งในสินค้าเทคโนโลยีที่มียอดขายเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา และมีจำนวนยอดขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแข่งขันของตลาดกล้องดิจิทัลในปี 2549 นี้น่าจะมีความเข้มข้นขึ้น เนื่องจากยอดขายเริ่มชะลอตัวลง ในขณะที่ผู้ผลิตที่เข้าสู่ตลาดเพิ่มจำนวนขึ้น และผู้จำหน่ายเองก็ต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีของกล้องให้ทันสมัยขึ้น การเพิ่มความละเอียดของภาพ การจัดโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก การขายพ่วงกับสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ การใช้กลยุทธ์ทางด้านราคา การใช้ระบบสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ การขายช่องทางการจำหน่าย เพื่อกระตุ้นให้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น

กล้องดิจิทัลที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมียี่ห้อที่จำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 4-5 ราย ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20 รายในปัจจุบัน ปริมาณยอดขายกล้องถ่ายรูปดิจิทัลนั้นขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2549 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 1-1.1 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลงเมื่อเทียบกับในช่วงระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นการจำหน่ายในช่วงแรก แต่ก็นับว่ายังเป็นสินค้าที่เติบโตได้ดี นอกจากนี้ประเทศไทยจัดว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นตลาดที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโตที่ดี ส่วนตลาดกล้องดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายในปี 2549 ประมาณ 29.5 ล้านเครื่อง เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 13 จากปีที่ผ่านมา การจำหน่ายกล้องถ่ายภาพทั่วโลกนั้น กล้องดิจิทัลมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 นอกจากนั้นเป็นกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติ (อนาล็อก) อีกร้อยละ 25 และคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า (2554) ยอดจำหน่ายกล้องดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 ของปริมาณจำหน่ายกล้องถ่ายภาพทั้งหมด สำหรับตลาดในประเทศไทยในปัจจุบันกล้องดิจิทัลมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 ของปริมาณการจำหน่ายกล้องถ่ายภาพทั้งหมด

กล้องดิจิทัลที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน สามารถแบ่งประเภทออกตามรูปแบบการใช้งานและฟังก์ชันการทำงานของกล้องได้ดังนี้

– กล้องดิจิทัลคอมแพค มีปริมาณการจำหน่ายได้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน ประมาณร้อยละ 65 ของยอดจำหน่ายทั้งหมด เป็นกล้องที่มีขนาดไม่ใหญ่และไม่เล็กเกินไป การใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพและให้คุณภาพที่เพียงพอสำหรับผู้ใช้ทั่วไป ความละเอียดของภาพมีตั้งแต่ 1-8 ล้านพิกเซล มีเลนส์ที่ซูมได้ไม่มากนัก แต่มีข้อดีก็คือกล้องมีขนาดเล็กจึงทำให้สามารถพกใส่กระเป๋าหรือถือไปใช้งานได้ง่าย มีราคาตั้งแต่ 3,000-20,000 บาท

– กล้องดิจิทัลอัลตราคอมแพค มียอดขายประมาณร้อยละ 20 ของตลาดกล้องดิจิทัลทั้งหมด จุดเด่นของกล้องประเภทนี้คือขนาดที่เล็กมากจึงทำให้เหมาะสำหรับการพกพา กล้องในระดับนี้บางรุ่นได้รับการออกแบบให้คล้ายกับกล้องดิจิทัลคอมแพคทั่วไป แต่บางรุ่นก็มีตัวกล้องที่ออกแบบในด้านรูปทรงที่มีดีไซด์ทันสมัยและมีฟังก์ชั่นการทำงานจำนวนมาก กล้องดิจิทัลอัลตราคอมแพคมีราคาสูงกว่ากล้องดิจิตอลคอมแพคทั่วไป

– กล้องโปรซูเมอร์ มียอดขายประมาณร้อยละ 7-8 ของตลาดกล้องดิจิทัลทั้งหมด เป็นกล้องที่คุณภาพโดยรวมดีกว่ากล้องดิจิทัลคอมแพค โดยมีเลนส์ที่ขนาดใหญ่กว่าและคุณภาพดีกว่า รวมทั้งยังมีออปชั่นในการควบคุมต่างๆ ที่มากกว่า สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ ช่องรับแสง สมดุลสีขาว การแสดงฮิสโตรแกรมและความสามารถในการชดเชยแสงและการถ่ายภาพซ้อนมาให้ด้วย อย่างไรก็ตามกล้องในระดับนี้ยังใช้งานได้ง่ายกว่ากล้องดิจิทัล SLR สำหรับกล้องโปรซูเมอร์ทั่วไปจะมีราคาอยู่ที่ 24,000 – 40,000 บาท

– กล้องดิจิทัล SLR มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อยประมาณร้อยละ 5 ของตลาดรวมกล้องดิจิทัลทั้งหมด แต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และมีความต้องการเพิ่มขึ้นในกลุ่มช่างถ่ายภาพมืออาชีพ ทั้งนี้เนื่องจาก เป็นกล้องคุณภาพสูง กล้องในระดับนี้มาพร้อมกับช่องมองภาพออปติคอลที่เห็นภาพผ่านเลนส์ดังนั้นกล้องจึงไม่สามารถบันทึกภาพได้จนกว่าผู้ใช้จะกดปุ่มชัตเตอร์ ซึ่งในกรณีนี้ภาพที่จะบันทึกก็จะไม่สามารถแสดงผลออกมาจากจอแอลซีดีได้เหมือนกับกล้องดิจิทัลส่วนใหญ่อีกด้วย ด้วยข้อจำกัดนี้จึงทำให้กล้องดิจิทัล SLR ไม่สามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ อย่างไรก็ตามกล้องระดับ SLR ก็มีข้อดีคือความสามารถในการปรับตั้งค่ารวมทั้งยังสามารถรองรับ (เปลี่ยน) เลนส์ได้อย่างหลากหลาย ในแง่ของประสิทธิภาพกล้องดิจิทัล SLR ให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ใกล้เคียงกับกล้องใช้ฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตรปกติ ราคาจำหน่ายมีตั้งแต่ 40,000 บาทขึ้นไป

– กล้องดิจิทัลไฮบริด มียอดจำหน่ายประมาณร้อยละ 2-3 เป็นกล้องที่มีทั้งความสามารถในการบันทึกภาพนิ่งและภาพวิดีโอ กล้องไฮบริดนี้สามารถซูม โฟกัสและปรับสมดุลให้กับภาพวิดีโอได้ในขณะที่กล้องวิดีโอทั่วไปจะทำไม่ได้ กล้องไฮบริดจะบันทึกภาพวิดีโอในรูปแบบ MPEG-4 ผู้ใช้จึงสามารถเก็บลงในการ์ดหน่วยความจำได้ อย่างไรก็ตามกล้องดิจิทัลไฮบริดนี้ไม่ได้เป็นคู่แข่งของกล้องวิดีโอโดยตรงหากแต่จะเหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการกล้องดิจิทัลเป็นหลักแต่ก็ยังต้องการบันทึกภาพวิดีโอด้วย

การแข่งขันในตลาดกล้องดิจิทัลในปัจจุบันมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้ผลิตที่เข้ามาแข่งขันมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ตลาดก็มีอัตราการเติบโตลดลง ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดต้องปรับกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ดังนี้

1. การเพิ่มงบการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการใหม่ที่ก้าวเข้าสู่ตลาดกล้องดิจิทัล ซึ่งแบ่งออกเป็นผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี และหันมาผลิตกล้องดิจิทัลจำหน่ายเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดที่ยังไม่เป็นรู้จักมากนัก และผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพในระบบเดิมหันมาเพิ่มไลน์ผลิตกล้องดิจิทัลจำหน่าย ซึ่งงบการตลาดส่วนใหญ่จะเน้นการสร้างตรายี่ห้อให้ผู้บริโภคจดจำได้ และเน้นการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในสาขาต่างจังหวัด เนื่องจากตลาดต่างจังหวัดเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ประกอบการในการขยายยอดขายให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากตลาดยังมีสัดส่วนของผู้ที่ครอบครองกล้องดิจิทัลน้อยกว่าในกรุงเทพค่อนข้างมาก และมีโอกาสที่ตลาดจะเติบโตได้อีก กิจกรรมทางการตลาดที่นิยมกันมากคือ การนำ Entertainment Marketing มาใช้เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มวัยรุ่นที่ยอมรับในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีได้เร็วให้มีกิจกรรมสำหรับถ่ายภาพ และการใช้กลยุทธ์การชิงโชคในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกเพื่อกระตุ้นยอดขาย นอกจากนี้ยังมีการแถมอุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น การ์ดหน่วยความจำ เครื่องโฟโต้พรินเตอร์ และกระดาษอัด-ขยายภาพ อีกด้วย

2. การขยายช่องทางการจำหน่าย ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายของกล้องดิจิทัล มีหลายช่องทางด้วยกัน คือ ศูนย์จำหน่ายสินค้าไอที ร้านอัด-ขยายภาพ ร้านจำหน่ายคอมพิวเตอร์ ดิสเคาท์สโตร์ ห้างสรรพสินค้า การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุมพื้นที่โดยการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านอัด-ขยายภาพ ดิสเค้าสโตร์ และร้านค้าไอที ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกจากนี้กิจกรรมแนะนำสินค้าหรือจัดโรดโชว์แนะนำสินค้า หรือการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อแนะนำและจำหน่ายสินค้า ณ จุดขาย ก็มีส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นยอดขายได้

3.การพัฒนาสินค้าใหม่และเพิ่มความหลากหลายของสินค้า โดยเน้นการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาผนวกกับเทคนิคการถ่ายภาพ รวมถึงการสร้างดีไซน์ของสินค้าให้หลากหลาย เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อและความต้องการแตกต่างกัน ความแตกต่างของราคาจำหน่ายกล้องถ่ายภาพดิจิทัลส่วนใหญ่จะพิจารณาจากคุณภาพของภาพถ่ายจากกล้อง มีให้เลือกตั้งแต่ 2-10 ล้านพิกเซล ความละเอียดของภาพยิ่งสูงราคาจะแพงขึ้น นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างของความเร็วในการบันทึกภาพ กำลังไฟ หรืออายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ขนาดของจอภาพแอลซีดีแสดงผล เลนส์ของกล้อง ชนิดของหน่วยความจำ และโหมดการถ่ายภาพ เป็นต้น ความแตกต่างของอุปกรณ์เหล่านี้ทำให้กล้องดิจิทัลมีราคาแตกต่างกันในแต่ละรุ่นและมีความหลากหลายที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ

สำหรับปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้ตลาดกล้องดิจิทัลมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมีดังนี้

– ราคามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยราคากล้องดิจิทัลจะปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 20 ต่อปี ในขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีและประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น สาเหตุที่ทำให้ราคากล้องดิจิทัลปรับตัวลดลงนั้น เนื่องมาจากการปรับลดราคาของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่อง เช่น ราคาเมมโมรี่ชิป ที่ปรับตัวลดลง จากการผลิตที่เพิ่มขึ้น การย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตไปยังแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำเช่น จีน มาเลเซีย ทำให้ราคาจำหน่ายปรับตัวลดลง

– การปรับลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ถ่ายภาพ การปรับลดภาษีนำเข้ากล้องถ่ายภาพจากเดิม 3% เหลือ 0% ในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมาของรัฐบาล ทำให้ราคาจำหน่ายกล้องถ่ายภาพในตลาดไทยมีราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับต่างประเทศ

– การขยายตัวของร้านอัด-ขยายภาพดิจิทัล ทำให้ผู้ถ่ายภาพสามารถล้าง-อัด ภาพได้สะดวกและราคาไม่สูงมากนักทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด หลังจากในช่วงแรกของการเข้ามาจำหน่ายของกล้องดิจิทัลนั้นมีร้านสำหรับอัดภาพอยู่ค่อนข้างน้อย การปรับปรุงร้านแล็บสีเป็นระบบดิจิทัลนั้นนอกจากจะส่งเสริมและการปรับตัวของธุรกิจแล็บสีเองแล้วยังมีส่วนช่วยให้ปริมาณการจำหน่ายกล้องเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีการขยายบริการอัดภาพผ่านทางเว็บไซต์ แม้ว่าจะยังไม่ได้รับนิยมมากนักสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ในต่างประเทศมีความนิยมมากเนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตค่อนข้างมาก

– การเพิ่มจำนวนของการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งจัดว่าเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ทำให้ผู้ใช้กล้องดิจิทัลสามารถใช้ภาพที่ถ่ายมาแล้วให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดแต่งภาพ การลบภาพ การนำภาพที่ถ่ายไปใช้ในงานต่อเนื่อง การถ่ายโอนภาพให้ผู้อื่นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้สะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้ใช้กล้องดิจิทัลยังสามารถพิมพ์ภาพถ่ายได้เองผ่านทางเครื่องพรินเตอร์ส่วนตัวที่บ้านได้ด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันมีพรินเตอร์ที่มีความละเอียดของสีคุณภาพสูงให้เลือกซื้อจำนวนมากหลากหลายรุ่นและราคา

กล่าวโดยสรุปแล้วตลาดกล้องดิจิทัลในประเทศไทยยังมีช่องว่างทางการตลาดที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัด นอกจากนี้หากนับรวมกล้องดิจิทัลที่จำหน่ายไปแล้วกว่า 5 ปี จะพบว่า อัตราการครอบครองกล้องดิจิทัลต่อประชากรนั้นมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น นอกจากอัตราการครอบครองจะอยู่ในระดับต่ำแล้ว การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องตลอดเวลานั้นยังทำให้ผู้ใช้เดิมที่เคยซื้อกล้องไปแล้วเกิดการซื้อซ้ำเพื่อทดแทนเครื่องเดิมอีกด้วย อย่างไรก็ตามการการขยายตัวของยอดจำหน่ายกล้องดิจิทัลนั้นได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจผลิตและจำหน่ายฟิล์มให้มียอดขายปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยลดลงประมาณร้อยละ 20 ต่อปี และเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการในธุรกิจดั้งเดิมจะต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่ไม่อาจจะปฎิเสธได้