ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่ม … ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องเร่งปรับตัว

สืบเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปีนี้ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างนับว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากต้นทุนปัจจัยการผลิตต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในโครงสร้างต้นทุนของกิจกรรมการก่อสร้าง ในช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมาของปี 2549 ราคาวัสดุก่อสร้างมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ผลิตเผชิญกับแรงกดดันจากภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในด้านวัตถุดิบโลหะ (เช่น ทองแดง อลูมิเนียม) รวมไปถึงค่าขนส่งและต้นทุนพลังงาน โดยตัวเลขล่าสุด ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2549 เพิ่มในอัตราที่เร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 7.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2

หากพิจารณาถึงแรงกดดันในด้านต้นทุนปัจจัยการผลิต ในส่วนของราคาวัตถุดิบโลหะ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ราคาทองแดงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 76 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ราคาอลูมิเนียมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 33 ส่วนราคาสินแร่เหล็ก ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของจีนได้ตกลงยอมรับข้อเสนอของบริษัทผลิตสินแร่เหล็กชั้นนำของโลกที่จะปรับราคาขึ้นอีกร้อยละ 19 ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสองของปี 2549 โดยในเดือนมิถุนายนมีราคาเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณร้อยละ 15 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับในส่วนของต้นทุนพลังงาน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 โดยมีราคาอยู่ที่ระดับ 27.54 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน จาก 24.69 บาทต่อลิตร ณ สิ้นปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากราคา 14.59 บาทต่อลิตร ก่อนหน้าที่จะมีการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2548

สำหรับแนวโน้มต้นทุนในการก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ทิศทางราคาวัตถุดิบโลหะพื้นฐาน (Base Metals) ซึ่งมีแรงผลักดันมาจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมของประเทศจีนที่เติบโตสูง ทิศทางราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ ต้นทุนปัจจัยการผลิตอื่นๆ ตลอดจนภาวะตลาดงานก่อสร้างและสภาวะการแข่งขันของธุรกิจภายในประเทศ

จากการวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากต้นทุนปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นต่อต้นทุนโดยรวมของการก่อสร้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าต้นทุนในการก่อสร้างโดยเฉลี่ยในปี 2549 อาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งกว่าในปีก่อนหน้า โดยอาจเพิ่มขึ้นประมาณกว่าร้อยละ 5 สูงขึ้นจากประมาณร้อยละ 4 ในปี 2548 สาเหตุที่สำคัญที่สุดมาจากราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ยอาจปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.4 ในปี 2549 เร่งตัวขึ้นจากที่ราคาค่อนข้างทรงตัวในปี 2548 หรือมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 0.0 และด้วยสัดส่วนของต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่มีความสำคัญมากกว่าครึ่งของมูลค่าผลผลิตรวมในการก่อสร้าง จึงมีผลกระทบต่อต้นทุนในการก่อสร้างมากที่สุด กล่าวคือ มีผลต่ออัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่ารวมของการก่อสร้างประมาณร้อยละ 2.5 (Percentage points) ขณะที่ปัจจัยกระทบรองลงมาคือต้นทุนพลังงานและขนส่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่คาดว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 ในปี 2549 อัตราเพิ่มที่สูงอย่างมากนี้คงจะกระทบต่อต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าขนส่ง ทำให้มีผลต่ออัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่ารวมของการก่อสร้างประมาณร้อยละ 2 (Percentage points) สำหรับต้นทุนปัจจัยการผลิตอื่นๆ และค่าจ้างแรงงานก็คาดว่าจะเพิ่มในอัตราที่ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อมูลค่ารวมของการก่อสร้างอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 (Percentage points)

นอกเหนือจากผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ทะยานสูงขึ้นแล้ว ต้นทุนในการก่อสร้างยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้แก่ บังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ และประกาศของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้อาคารพักอาศัยรวมความสูงไม่เกิน 23 เมตร ตั้งแต่ 2 อาคารขึ้นไปที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกัน และมีพื้นที่อาคารรวมกันตั้งแต่ 10,000 ตร.ม. ขึ้นไป ต้องดำเนินการภายใต้ข้อบังคับเสมือนเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวมีผลทำให้โครงการก่อสร้างอาคารในหลายกรณีอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้น

สำหรับผลที่อาจตามมาจากทิศทางต้นทุนของกิจกรรมการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีนี้ คงจะเป็นแรงกดดันส่งต่อไปสู่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ในโครงการก่อสร้างใหม่คงจะมีแนวโน้มสูงขึ้น และถ้าราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ปรับตัวสูงขึ้น ก็คงจะเป็นผลลบต่อความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยอาจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกปี 2549 การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการก่อสร้างของภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี ชะลอตัวลงอย่างมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ในไตรมาสสี่ ปี 2548 และจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ตลอดทั้งปี 2548 โดยสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 ในไตรมาสแรกปี 2549 ชะลอลงเหลือเพียงหนึ่งในสามของอัตราการเติบโตในไตรมาสสี่ปี 2548 ที่ร้อยละ 10.8

อย่างไรก็ดี ภายใต้ภาวะตลาดที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คงไม่สามารถผลักภาระต้นทุนด้วยการปรับราคาสินค้าในสัดส่วนเดียวกันกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการก็คงต้องดูดซับผลกระทบจากต้นทุนเอาไว้เองด้วยส่วนหนึ่ง ปัจจัยดังกล่าวคงจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ลดลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ได้มีการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ โดยวิธีการหลายรูปแบบ เช่น การเปิดขายโครงการที่มีขนาดยูนิตเล็กลงเพื่อให้สอดคล้องกับราคาที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ การบริหารต้นทุนค่าก่อสร้าง การใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปหรือเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามาช่วยลดต้นทุน การปรับลดสาธารณูปโภคที่เดิมเคยเสนอให้แก่ลูกค้าในระดับที่สูงกว่ามาตรฐาน โดยไม่ลดความพึงพอใจของลูกค้า เป็นต้น ในสภาวะที่ธุรกิจเผชิญแรงกดดันทั้งในด้านอุปสงค์และต้นทุนเช่นนี้ ผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งในด้านเงินทุนและระบบการบริหาร และสามารถปรับตัวในการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในตลาด ในราคาที่แข่งขันได้ ย่อมมีความได้เปรียบกว่า

นอกจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนแล้ว โครงการลงทุนของภาครัฐ อย่างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่มีชะลอการลงทุนออกไป ก็คงจะต้องเผชิญกับต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งอาจส่งผลให้โครงการก่อสร้างภาครัฐที่เดิมมีแผนการลงทุนในปีนี้แต่ต้องชะลอออกไปเป็นปีข้างหน้า อาจต้องมีงบประมาณในการลงทุนสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5