ในระยะที่ผ่านมาของปี 2549 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาขยายการผลิตในประเทศไทยมีทิศทางชะลอตัว จากผลกระทบปัจจัยทางการเมือง ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญที่สุดในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทยทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ไทยก็เป็นประเทศที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาคเอเชีย เมื่อมองถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่าจากข้อมูลการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนของญี่ปุ่นที่เข้ามายังประเทศไทยในระยะที่ผ่านมามีการเติบโตในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม จากสถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนของไทยพบว่า โครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาของปี 2549 ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นเครื่องชี้ล่วงหน้าว่าแนวโน้มการลงทุนของญี่ปุ่นในระยะข้างหน้ามีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้ การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ลดลงนี้ น่าจะมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยความไม่ชัดเจนทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์สถานการณ์การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในประเทศไทย เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย และแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น ภายใต้โอกาสความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
การลงทุนของญี่ปุ่นในต่างประเทศทั่วโลกลดลง แต่ในเอเชีย รวมทั้งไทยเพิ่มขึ้น
จากการวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนของญี่ปุ่นในต่างประเทศพบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของ FY2549 (เมษายน-สิงหาคม 2549) การลงทุนของญี่ปุ่นทั่วโลกลดลง (ในรูปดอลลาร์ฯ แต่ในรูปมูลค่าเงินเยนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย) มีมูลค่า 16,734 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การลงทุนในเอเชียยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 มีมูลค่า 6,100 ล้านดอลลาร์ฯ แม้ว่าเป็นอัตราที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ การลงทุนของญี่ปุ่นที่อ่อนตัวลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งโดยเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านของปีนี้เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เงินเยนอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 7 นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุจากที่ธุรกิจมีการขยายการลงทุนในต่างประเทศสูงอย่างมากในช่วงปีงบประมาณก่อนหน้าไปแล้ว (มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 44,912 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26 ส่วนในเอเชียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 84) ขณะเดียวกัน บริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มกลับมาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ภายในประเทศควบคู่กับการขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบรายประเทศในภูมิภาคเอเชีย จีนเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของ FY2549 มีการลงทุนมูลค่า 2,598 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการลงทุนของญี่ปุ่นในจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของเงินลงทุนของญี่ปุ่นทั้งหมดในเอเชีย สัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 ใน FY2548 สำหรับการลงทุนในไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับสองในเอเชีย อยู่ที่ 934 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย อันดับการลงทุนของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของ FY2549 ขยับขึ้นมาจากที่ตกไปเป็นอันดับสามใน FY2548 เป็นรองจีนและเกาหลีใต้ (แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ไทยสามารถรักษาอันดับสองมาได้โดยตลอด) สำหรับประเทศที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนสูงเป็นอันดับต่อมา ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย ตามลำดับ
มาเลเซีย เวียดนามและอินเดีย … คู่แข่งที่ต้องจับตา
แม้ว่าสถานะในปัจจุบัน ไทยจะเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนมากเป็นอันดับสองของเอเชีย อีกทั้งยังเป็นฐานการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชีย แต่ประเด็นที่น่าจับตามองคือการเติบโตของการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 เดือนแรกของ FY2549 การลงทุนของญี่ปุ่นในมาเลเซียเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 352 อินเดียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 ขณะที่เวียดนาม ข้อมูลช่วง 3 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 240 การเติบโตสูงของการลงทุนในประเทศทั้งสามมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ เช่น ศักยภาพการเติบโตของตลาดในประเทศ (อินเดีย) ต้นทุนแรงงานต่ำ (เวียดนาม) และการใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก (มาเลเซีย) ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าวไทยเผชิญกับปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ
ความเชื่อมั่นของญี่ปุ่นต่อการลงทุนในไทยปรับลดลง
ก่อนหน้านี้ การสำรวจการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่น โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (Japan Bank of International Cooperation) ประจำปี 2548 สอบถามความคิดเห็นของบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นถึงมุมมองต่อประเทศที่สนใจเข้าไปลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า พบว่าบริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะลงทุนในไทยมากเป็นอันดับสาม รองจากจีนและอินเดีย อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ไทยประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มุมมองของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เคยมั่นใจต่อสถานะการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเริ่มสั่นคลอน ทั้งนี้ เนื่องจากถ้าพิจารณาถึงเหตุผลที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยพบว่า เสถียรภาพทางสังคมและการเมือง เป็นเหตุผลที่มีนักลงทุนให้ความสำคัญมากเป็นอันดับที่สาม (ร้อยละ 43.4) รองจากแรงงานต้นทุนต่ำ (ร้อยละ 50.3) และศักยภาพการเติบโตของตลาด (ร้อยละ 46.2)
สถานการณ์ความมั่นใจของบริษัทญี่ปุ่นที่ลดลง ปรากฏให้เห็นได้จากการสำรวจความเชื่อมั่นของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชีย โดยองค์กรการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO (Japan External Trade Organization) ที่สอบถามความเชื่อมั่นของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆในเอเชีย โดยผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่านักธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยมีความมั่นใจต่อสภาวะการดำเนินธุรกิจลดน้อยลง โดยมีค่าดัชนี DI (Diffusion Index) อยู่ในแดนลบต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 (ในช่วงที่ผลกระทบของความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มรุนแรงขึ้น) และล่าสุดค่าดัชนีในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ -11.8 ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี จากที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นในไทยมีความเชื่อมั่นค่อนข้างดีกว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ การที่ค่า DI เป็นลบ หมายความว่าบริษัทที่มีความเห็นว่าสภาวะทางธุรกิจจะแย่ลงมีจำนวนมากกว่าบริษัทที่เห็นว่าสภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้น
แนวโน้มการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย
มุมมองของบริษัทญี่ปุ่นที่มีความเชื่อมั่นลดลงต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการจากญี่ปุ่นที่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ในช่วงปี 2549 ปรับตัวลดลง โดยในช่วง 9 เดือนแรก โครงการขอรับส่งเสริมที่มีนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นมีจำนวนทั้งสิ้น 268 โครงการ มูลค่าโครงการ 72,711 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับมูลค่า 146,660 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 273 โครงการ การขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ลดลงนี้เป็นเครื่องชี้ล่วงหน้าถึงแนวโน้มการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจริงในระยะข้างหน้าที่อาจปรับลดลง
สำหรับแนวโน้มการเข้ามาขอรับส่งเสริมลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในช่วงปีข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า นักลงทุนญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยอยู่แล้วส่วนใหญ่มีความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมการลงทุนในไทยและยังมองปัจจัยพื้นฐานของไทยว่ามีความเข้มแข็ง รวมทั้งยังมีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยอยู่ แต่จังหวะเวลาในการตัดสินใจลงทุนอาจขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความชัดเจนต่อประเด็นทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้วย
แม้ว่าในขณะนี้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง แต่อาจกล่าวได้ว่าจุดเปลี่ยนทางการเมืองของไทยได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงจุดเน้นของภาครัฐในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจหลายประการ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยต้องดำเนินอยู่ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั้งภายในและภายนอกประเทศนี้ อาจทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องหันมาทบทวนถึงทิศทางการดำเนินนโยบายด้านการลงทุนในระยะต่อไป ซึ่งอาจต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว พร้อมกับคำนึงถึงสถานะการแข่งขันในด้านการลงทุนภายในภูมิภาคควบคู่กันไปด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ผนวกกับพัฒนาการของความสัมพันธ์ภายในภูมิภาคที่มุ่งเป้าหมายไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asian Free Trade Agreement) ประมาณปี 2563 จะเป็นเหตุผลสำคัญที่จะผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง โอกาสของไทยในระยะข้างหน้าในการรักษาสถานะการเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆของนักลงทุนญี่ปุ่น จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน โดยหลักสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจที่เข้ามาตั้งอยู่ในประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ ตลอดจนมีความมั่งคงทางการลงทุนในระยะยาว
มาตรการในระยะสั้น ภาครัฐอาจต้องเร่งสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและจุดยืนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงการใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นอาจต้องมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายและแนวทางส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ผ่านไปแล้ว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มาตรการดึงดูดการลงทุนอาจมุ่งเน้นไปที่เซ็กเม้นต์ที่มีศักยภาพดึงการลงทุนใหม่ เช่น การผลิตรถยนต์รุ่นประหยัด หรือ Eco Car และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ Consumer Electronics หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่น่าจะมีศักยภาพอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และธุรกิจบริการขั้นสูง เป็นต้น ในส่วนของประเด็นเร่งด่วนที่นักธุรกิจญี่ปุ่นอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ อาทิ ปัญหาระบบบริการขนส่งสินค้าและระบบศุลกากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ยังมีข้อบกพร่องทำให้สินค้าที่ผ่านเข้าออกสนามบินมีความล่าช้า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Closer Economic Partnership Agreement: JTEPA) หรือ เอฟทีเอ ซึ่งเดิมมีกำหนดลงนามในเดือนเมษายน 2549 แต่ต้องล่าช้าออกไปหลังจากมีการยุบสภาและรัฐบาลชุดก่อนมีสถานะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ
มาตรการระยะปานกลางถึงระยะยาว ต้องเร่งพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ซึ่งต้องมีการดำเนินมาตรการในหลายๆด้าน เช่น การพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ พัฒนากำลังคนที่สอดรับกับนโยบายและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคเอกชนไทยในอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรมีแนวทางส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติมีส่วนร่วมในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรไทย ตลอดจนแนวทางอื่นๆที่เชื่อมโยงการลงทุนจากต่างประเทศให้ก่อเกิดผลประโยชน์ในอันที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว