สำนักงานโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น จัดกิจกรรม Bangkok Fashion City on the road โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาแหล่งภูมิปัญญาแฟชั่นไทยท้องถิ่น ศึกษาตลาดการค้า และอุปสรรคต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาสู่ท้องถิ่น พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้แฟชั่นจากโครงการฯ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนด้านการตลาดและสร้างแบรนด์สู่สากล ซึ่งการจัดกิจกรรม “แฟชั่นมุสลิม ตลาดใหม่ โอกาสอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” เป็นกิจกรรมลำดับที่สอง หลังจากลงพื้นที่สำรวจแหล่งผ้าทอและเครื่องเงินที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ณ จังหวัดสุรินทร์ แล้ว
นายปราโมทย์ วิทยาสุข กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะผู้อำนวยการโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น กล่าวว่า เนื่องจากโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นเดินทางมาสู่โค้งสุดท้ายของการดำเนินงานแล้ว ทางสำนักงานโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นเห็นว่า ควรมีกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสานต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งระดับชุมชน เอสเอ็มอี ไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม และการส่งออก เพื่อเป็นแนวทางการกำหนดแผนงานเพื่อพัฒนาแฟชั่นไทยโดยหน่วยงานที่จะเข้ามารับผิดชอบในอนาคต โดยสำนักงานเชื่อว่า แม้ไม่มีโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นแล้ว แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จำเป็นได้รับการผลักดันให้มีการสานต่ออย่างไม่หยุดยั้ง
ทั้งนี้ วัฒนธรรมด้านการแต่งกายของชาวมุสลิมมีเอกลักษณ์เฉพาะ ทำให้เกิดกลุ่มอาชีพที่มีทักษะความสามารถในการเย็บปักลายผ้า ด้วยจักรอุตสาหกรรม ที่มีฝีมือสูง และมีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพปักผ้าเครื่องแต่งกาย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพนี้หลายพันคน และมีตลาดส่งออกที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางบางประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 100 ล้านบาทต่อปี
นายวีระพล ศรีเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดการส่งออกเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดใหญ่ แต่ผู้ประกอบการยังไม่มีช่องทางในการทำตลาดอย่างเต็มที่ และยังประสบปัญหาทางด้านราคา และความเข้าใจเรื่องการตลาด และการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น ศูนย์ส่งเสริมจึงริเริ่มโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิมขึ้นตั้งแต่ปี 2548 และหลังจากดำเนินการแล้ว สามารถทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์ จำนวนไม่น้อยกว่า 400 ราย สามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และมีรายได้คนละไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรัฐบาลให้การสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องการออกแบบและการตลาดอย่างต่อเนื่อง จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้ตามเป้าหมาย และจากแนวโน้มประมาณการณ์ได้ว่า ภายใน 3 ปี มูลค่าการส่งออกน่าจะเติบโตได้ถึง 400 ล้านบาท
“ภาครัฐควรมีส่วนในการช่วยเรื่องของการวิจัย และให้ความรู้ด้านการออกแบบ เพราะเครื่องแต่งกายอิสลามมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลก ดังนั้น หากผู้ประกอบการต้องการเจาะตลาดที่กว้างขึ้น ต้องรู้ความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศ ซึ่งลำพังเอกชนและชาวบ้านท้องถิ่นไม่สามารถศึกษาวิจัยในส่วนนี้ได้ จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางของรัฐ อาทิ โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการวิจัยตลาด อีกทั้งให้การอบรมเรื่องการออกแบบ พัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ในการผลิตและวัตถุดิบให้ชาวบ้าน เพื่อขยายฐานการผลิต และขยายตลาดการส่งออกเครื่องแต่งกายอิสามต่อไป”
ด้านนายประเสริฐ บินรัตแก้ว ประธานกลุ่มตัดเย็บ Amju (อามยู) จ.ปัตตานี กล่าวว่า ตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย และตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ซื้อต้องการสินค้าที่มีความโดดเด่นเรื่องการออกแบบ และราคาสูงตามวัฒนธรรมนิยม ทำให้มูลค่าของตลาดนั้นสูงกว่าต้นทุนมาก หากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิต และมีช่องทางส่งไปขายยังตะวันออกกลางได้เอง จะทำให้เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้มากกว่าการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยในส่วนของกลุ่มตัดเย็นอามยู สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นทุกปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ต่อปี อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ เช่น จัดสถานที่กลางในจังหวัดที่ผู้ประกอบการสามารถมาร่วมกลุ่มทำงานผลิตสินค้าด้วยกันได้ จะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่าย และแบ่งปันทรัพยากรตามความถนัด อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนเทคนิคต่าง ๆ และร่วมมือกันในการเจาะตลาดผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาสินค้าอย่างก้าวกระโดดมากขึ้น