การสำรวจทั่วโลกบ่งชี้ว่ามีช่องว่างขนาดใหญ่ในการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้สูบบุหรี่

— แพทย์และผู้สูบบุหรี่ส่วนมากเห็นพ้องต้องกันว่าการเลิกสูบบุหรี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการทำให้สุขภาพดีขึ้น
— มีผู้สูบบุหรี่เพียงครึ่งเดียวที่รับฟังคำแนะนำในการเลิกบุหรี่จากหมอ

ผลสำรวจทัศนคติของหมอและผู้สูบบุหรี่ในเรื่องการสูบและการหยุดสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการรวมผลสำรวจระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุด 2 ฉบับ พบว่า มีช่องว่างขนาดใหญ่ในการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีการที่แพทย์ช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่นั้นแตกต่างอย่างมากกับประสบการณ์ของผู้สูบ

ทั้งแพทย์และผู้สูบบุหรี่ต่างตระหนักถึงอันตรายของการสูบบุหรี่และให้ความสำคัญกับการเลิกบุหรี่ แพทย์ส่วนใหญ่ (69%) เชื่อว่าการสูบบุหรี่เป็นกิจกรรมที่อันตรายที่สุดที่จะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของคนไข้ ตามด้วยการขาดการออกกำลังกาย (42%) การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (36%) การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (30%) และการกินอาหารมากเกินและน้ำหนักเกิน (23%) ในขณะที่ผู้สูบบุหรี่กว่า 75% กังวลว่าจะมีสุขภาพย่ำแย่จากการสูบบุหรี่ และกว่า 81% เห็นด้วยว่าการเลิกสูบบุหรี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้น

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแม้จะเพียงสั้นๆก็สามารถเพิ่มความสำเร็จให้กับนักสูบที่ต้องการเลิกบุหรี่ได้ (1) ถึงกระนั้นก็ตาม การสำรวจระบุว่ามีความแตกต่างอย่างมากระหว่างจำนวนแพทย์ (41%) ที่คุยเรื่องการสูบบุหรี่กับคนไข้ทุกครั้งที่เจอกัน กับจำนวนผู้สูบบุหรี่ (9%) ที่คุยเรื่องสูบบุหรี่กับแพทย์ทุกครั้งที่เจอกัน

แม้แพทย์กว่า 66% จะอธิบายวิธีการต่างๆในการเลิกบุหรี่ให้คนไข้ฟัง แต่มีนักสูบแค่ครึ่งเดียว (33%) ที่รับฟังคำแนะนำเหล่านั้น นอกจากนั้น แม้แพทย์กว่า 47% จะพัฒนาแผนการเลิกสูบบุหรี่เพื่อช่วยเหลือคนไข้ แต่มีนักสูบเพียง 1 ใน 4 ที่คุยเรื่องการสูบบุหรี่กับแพทย์ (13%)

“จากการสำรวจนี้ทำให้เราเข้าใจว่าต้องมีการปรับปรุงการสื่อสารระหว่างผู้สูบบุหรี่และแพทย์” ดร.เฮย์เดน แม็คร็อบบี้ จากแผนกวิจัยและทดลอง มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์กล่าว “แม้ผู้สูบบุหรี่จะรู้ว่าการเลิกบุหรี่เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้น แต่ผลการสำรวจก็ยังแสดงให้เห็นว่าคนไข้ไม่ค่อยเชื่อว่าคำแนะนำและความช่วยเหลือของหมอจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาเลิกบุหรี่ได้”

การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมเรื้อรังที่จะทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงเนื่องจากทั้งร่างกายและจิตใจเสพติดสารนิโคติน จากการสำรวจขององค์กรอนามัยโลก มีผู้ที่เลิกสูบบุหรี่โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือไม่ถึง 5% ที่ทนไม่สูบบุหรี่ได้ตลอด 1 ปี(2) และถึงแม้จะได้รับความเชื่อเหลือ การเลิกสูบบุหรี่ก็ยังยากอยู่ดี ในความเป็นจริงแล้วนักสูบถึง 56% ที่เคยพยายามเลิกบุหรี่กล่าวว่ามันเป็นสิ่งที่ยากเย็นที่สุดที่พวกเขาเคยทำเลยทีเดียว

ทั้งแพทย์และผู้สูบบุหรี่เชื่อว่าตัวนักสูบเองมีส่วนสำคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่และความตั้งใจของคนๆนั้นมีความสำคัญมากในการเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ แพทย์กว่า 92% คิดว่าการจะเลิกสูบบุหรี่ได้ผู้สูบต้องมีความตั้งใจเสียก่อน และนักสูบกว่า 91% ก็เห็นด้วย ถึงกระนั้นความตั้งใจอย่างเดียวก็ไม่สามารถทำให้เลิกได้ เพราะแพทย์ที่สูบบุหรี่และพยายามเลิกสูบ (58%) กับผู้สูบบุหรี่ (81%) ต่างไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้โดยใช้ความตั้งใจเพียงอย่างเดียว

การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า แพทย์ต้องการการสนับสนุน เงินทุน และการฝึกฝนมากกว่านี้ในการช่วยเหลือคนไข้ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจระบุว่าแพทย์ต้องการยาที่ทำให้เลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (81%), การฝึกอบรมเพิ่มเติมในการกระตุ้นให้คนไข้เลิกบุหรี่ (78%) ข้อมูลเหล่านั้นยังระบุว่าแพทย์กว่า 51% กล่าวว่าพวกเขาไม่มีเวลาในการช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่ อีก 46% กล่าวว่าต้องทำสิ่งสำคัญกว่านี้ และ 38% กล่าวว่าไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเหมาะสมในการช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่

“แม้ว่าทางรัฐบาลจะควบคุมการสูบบุหรี่ด้วยการริเริ่มนโยบายต่อต้านการสูบบุหรี่ แต่ผู้สูบบุหรี่ก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์ในการเลิกบุหรี่” เซเรน่า ทอนสแต็ด จากแผนกป้องกันโรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอัลเลวัล (Ulleval University Hospital) ประเทศนอร์เวย์กล่าว “เราต้องขอให้แพทย์ทั่วโลกให้คำแนะนำและความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับคนไข้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่”

เกี่ยวกับการวิจัย

STOP
โครงการวิจัย STOP (Smoking: The Opinion of Physicians หรือ การเลิกสูบบุหรี่ตามความเห็นของแพทย์) ได้รับการสนับสนุนโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และควบคุมดูแลโดยบริษัทแฮร์ริส อินเตอร์แอคทีฟ อิงค์ (Harris Interactive Inc) เป็นหนึ่งในการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ทำการสำรวจทัศนคติของแพทย์ทั่วไปและแพทย์ประจำครอบครัวที่มีต่อการสูบบุหรี่และการเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งความคิดเห็นของผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ด้วย โดยมีการสัมภาษณ์แพทย์กว่า 2,836คน จาก 16ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี อังกฤษ และอเมริกา การวิจัยครั้งที่มีขึ้นระหว่างเดือนพ.ค. – มิ.ย. 2549 ทั้งนี้โครงการ STOP ได้รับทุนสนับสนุนจากไฟเซอร์

SUPPORT
โครงการวิจัย SUPPORT (Smoking: Understanding People’s Perceptions, Opinion and Reactions หรือ การทำความเข้าใจความคิด ความเห็น และปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่อยาสูบ) ได้รับการสนับสนุนโดยไฟเซอร์ และควบคุมดูแลโดยบริษัทแฮร์ริส อินเตอร์แอคทีฟ อิงค์ เป็นหนึ่งในการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ทำการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของนักสูบที่มีต่อการสูบบุหรี่และการหยุดสูบบุหรี่ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่อายุ 25ปีขึ้นไปกว่า 3,760คน จาก 15ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส สเปน เกาหลีใต้ สวีเดน ตุรกี อังกฤษ และอเมริกา การวิจัยครั้งที่มีขึ้นระหว่างเดือนส.ค. – ก.ย. 2549 และ ธ.ค. – ม.ค. 2550 ทั้งนี้โครงการ SUPPORT ได้รับทุนสนับสนุนจากไฟเซอร์

ในการสำรวจของ SUPPORT ในยุโรป มีการนำปัจจัยเรื่องอายุ เพศ การศึกษา ภูมิภาค จำนวนผู้ใหญ่ในบ้าน และจำนวนสายโทรศัพท์ในบ้าน มาใช้ในการวัดเพื่อให้ได้สัดส่วนของประชากรที่ถูกต้อง ส่วนในญี่ปุ่นมีการใช้อายุ เพศ การศึกษา รายได้ สถานะการสมรส ภูมิภาค และจำนวนสายโทรศัพท์ในบ้าน ในเกาหลีใต้มีการใช้อายุ เพศ การศึกษา รายได้ ภูมิภาค และจำนวนสายโทรศัพท์ในบ้าน ในแคนาดามีการใช้อายุ เพศ การศึกษา รายได้ ภาษา ภูมิภาค เชื้อชาติ จำนวนผู้ใหญ่ในบ้าน และจำนวนสายโทรศัพท์ในบ้าน ในเม็กซิโกมีการใช้อายุ เพศ การศึกษา สถานะทางสังคมเศรษฐกิจ สถานะ และจำนวนสายโทรศัพท์ในบ้าน ในอเมริกามีการใช้อายุ เพศ การศึกษา รายได้ เชื้อชาติ ภูมิภาค จำนวนผู้ใหญ่ในบ้าน และจำนวนสายโทรศัพท์ในบ้าน จากการสำรวจตัวอย่างกว่า 3,760คน มีความเป็นไปได้ 95% ว่าผลที่ออกมาอาจมีความคลาดเคลื่อนบวกลบไม่เกิน 2% ส่วนผลที่ได้จากตัวอย่างย่อยอาจมีความคลาดเคลื่อนมากกว่าและหลากหลายกว่านี้ ซึ่งยังไม่นับความคลาดเคลื่อนประเภทอื่น

เกี่ยวกับผู้แถลงการณ์
นพ. เฮย์เดน แม็คร็อบบี้ เป็นนักวิจัยจากแผนกวิจัยและทดลอง มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ และเป็นนักวิจัยและทดลองยาสำหรับผู้ติดบุหรี่

ดร.นพ. เซเรน่า ทอนสแต็ด เป็นหัวหน้าแพทย์แผนกป้องกันโรคหัวใจ เซเรน่า ทอนสแต็ด จากแผนกป้องกันโรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอัลเลวัล ประเทศนอร์เวย์ และเป็นนักวิจัยและทดลองยาสำหรับผู้ติดบุหรี่

อ้างอิง
(1) การวิจัยใหม่ขององค์กรอนามัยโลกชี้ให้เห็นว่านักเรียนแพทย์ขาดการฝึกฝนเทคนิคในการช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่ เผยแพร่ วันที่ 31 พ.ค. เนื่องในวัดงดสูบบุหรี่โลก ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.who.intอัพเดทครั้งล่าสุดเมื่อ เดือน ก.พ. 2550

(2) นโยบายเลิกสูบบุหรี่ในยุโรปขององค์กรอนามัยโลก (WHO European Strategy for Smoking Cessation Policy) สามารถดูรายละเอียดแบบออนไลน์ได้ที่ http://www.euro.who.int/Document/E80056.pdfอัพเดทล่าสุดเมื่อเดือนก.พ. 2550

ติดต่อ: เอเดลแมน ตัวแทนไฟเซอร์
โซอี้ เฟลมมิ่ง, +44 7949 735206