สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในตลาดทุน ระดมความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุนในตลาดทุน รวมทั้งเสนอภาครัฐให้การสนับสนุนและผลักดันมาตรการสำคัญๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเดินหน้าโครงการสร้างพื้นฐานความรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งอบรม สัมมนา ประชุมเชิงวิชาการ และการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมความแข็งแกร่งตลาดทุนไทย
การสัมมนาที่จัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาตลาดทุนในวันนี้ (3 พ.ค.50) ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษ “มุมมองจากตลาดทุน…ต่อเศรษฐกิจไทย” และการเสวนา “เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยก่อนการเลือกตั้ง” ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนและตลาดทุนมาร่วมให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนอย่างยิ่ง
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นในการบรรยายพิเศษ “มุมมองจากตลาดทุน…ต่อเศรษฐกิจไทย” ว่า ตัวเลขที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวแสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจยังมีพื้นฐานที่ดี ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงเป็นประวัติการณ์ เกือบ 13,000 ล้านบาท สภาพคล่องที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รอการกู้ อัตราการว่างงานแทบจะเป็นศูนย์ ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลต่อเนื่องตั้งแต่เดือนส.ค.2549 และในเดือนมี.ค.2550 เกินดุลถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากสูงกว่านี้ก็ไม่เป็นผลดี เพราะไม่มีการใช้จ่าย
“เศรษฐกิจของเรากำลังอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ตกท้องช้าง ซึ่งเป็นวัฎจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจตามปกติ โดยสภาวะตกท้องช้างนั้น เป็นเรื่องของการขาดความเชื่อมั่นขาดการเติมเงินเข้าไปในเศรษฐกิจ การที่เศรษฐกิจจะขยายตัวนั้น ต้องอาศัย 3 ขา ทั้งขาการส่งออก ขาการใช้จ่ายภาครัฐ และขาการเงิน ในขาการส่งออกนั้นมีการขยายตัวดีที่ประมาณร้อยละ 20 ในขณะที่ขาการใช้จ่ายภาครัฐและขาการเงินนั้น ต้องรีบปรับตัว ภาครัฐต้องมีการใช้จ่ายมากขึ้น ภาคเอกชนก็จะมีการลงทุนตาม เศรษฐกิจก็จะขยายตัวเป็นทวีคูณ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยอย่างกว้างขวาง” นายวิจิตรกล่าว
ส่วนขาการเงิน ต้องรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในระยะที่ผ่านมาการเติบโตของสินเชื่อมีเพียงร้อยละ 5 ซึ่งยังน้อยไป ในอนาคตเมื่อการส่งออกขยายตัวต่อ และมีการใช้จ่ายภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ภาคการเงินไม่ได้มีส่วนสนับสนุนก็จะขลุกขลัก
ในด้านของการลงทุนในตลท. ที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่านักลงทุนสถาบันยังคงลงทุนต่อเนื่อง เพราะราคาหุ้นยังต่ำมาก
นายวิจิตรกล่าวต่อว่า “รัฐเดินมาถูกทางแต่ต้องปฏิบัติให้ได้ เมื่อเศรษฐกิจตกท้องช้าง ก็ต้องรีบปรับ ถ้าภาคการเงินส่งเสริมด้วยก็จะทำให้ทุกอย่างเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งนี้นักลงทุนต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐอย่างใกล้ชิดที่สุด เพื่อให้สามารถติดตามสัญญาณได้ทันที”
สำหรับดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งกล่าวในการเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยก่อนการเลือกตั้ง” ได้ให้ความเห็นว่า จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความไม่ชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการต่างขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุน สถานการณ์การลงทุนในตลาดทุนจึงอยู่ในภาวะซบเซาลง การจัดงานในวันนี้ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดทุน และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน รวมทั้งภาครัฐ ได้มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และความสำคัญของตลาดทุนในการเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองที่จะเกิดขึ้น
“ที่ผ่านมา สภาธุรกิจฯ ได้ดำเนินการต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถทำหน้าที่เป็นเสาหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้ภาครัฐให้การสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในตลาดทุน ด้วยการดำเนินนโยบายที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ สภาธุรกิจฯ ได้เข้าพบหารือและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด รวมทั้งจัดทำความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาสนับสนุนและผลักดันในเชิงนโยบายในมาตรการสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในตลาดทุน และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อาทิ การจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 2 การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) การจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในหลักทรัพย์ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวต่อว่า “หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ตลาดทุนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจนกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆ มีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นถึง 1.7 ล้านล้านบาท มากกว่าสินเชื่อสุทธิที่ปล่อยกู้เพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ประมาณ 9 แสนล้านบาท หรือมากกว่ากันประมาณ 1.8 เท่า อีกทั้งปัจจุบันตลาดทุนมีจำนวนผู้ลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งผู้ที่เปิดบัญชีซื้อขาย ลงทุนผ่านกองทุน ผู้ถือหลักทรัพย์ รวมถึงสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม รวมแล้วกว่า 12.7 ล้านคน”
ดังนั้น สภาธุรกิจฯ จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของตลาดทุน การออม และการลงทุน รวมทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ ผู้ลงทุน ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน รวมถึงประชาชนทั่วไป อาทิ การจัดกิจกรรมอบรม สัมมนา และการประชุมเชิงวิชาการ การบรรจุความรู้ด้านตลาดทุน การออม และการลงทุน ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา การจัด Focus Group เฉพาะกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้าใจถึงบทบาทความสำคัญและทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับตลาดทุน รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลความรู้อย่างแพร่หลายผ่านสื่อแขนงต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง
นอกจากนี้ สภาธุรกิจฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตลาดทุนในระยะยาว โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน เพื่อวิจัยและวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและนโยบายที่มีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดทุนโดยรวม วางรากฐานงานวิจัยตลาดทุนให้มีความก้าวหน้าและทัดเทียมกับระดับสากล รวมทั้งการศึกษาและพัฒนาตราสารทางการเงินประเภทใหม่ๆ (New Product) เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนของผู้ประกอบการ และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์ อาทิ Convertible Bonds, Private Equity, Venture Capital กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Funds) การจดทะเบียนข้ามชาติ (Dual Listing) การพัฒนาสินค้าอ้างอิงใหม่ๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน สำหรับการออกตราสารอนุพันธ์มาซื้อขายกัน รวมทั้งโครงการศึกษาและสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารถึงแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจดทะเบียน และสถาบันตัวกลาง
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาชิกทั้ง 6 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะประสานความร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนงานต่างๆ สำเร็จตามเป้าหมาย โดยได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากนโยบายและมาตรการจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อมุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจพอเพียง
“ที่สำคัญก็คือ การดำเนินนโยบายของภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการลงทุนในตลาดทุน ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะเมื่อใดที่เศรษฐกิจไทยซึ่งทุกคนต่างมองว่ามีความสดใสและมีโอกาสจะฟื้นตัวในเวลาอันใกล้นี้ สามารถที่จะขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว เมื่อนั้น ทั้งผู้ประกอบการและผู้ลงทุนก็จะมีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะขยายธุรกิจและการลงทุนไปพร้อมๆ กันได้อย่างทันการณ์” ดร.ก้องเกียรติ กล่าวสรุป